7 วิธีป้องกัน "กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด" เช็กเลยจะได้ไม่ป่วย!
เปิด 7 วิธีป้องกัน "ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน" รู้ไว้จะได้ไม่ป่วย โรคนี้อันตรายเป็นภัยเงียบที่อาจเสียชีวิตกะทันหันได้
เปิด 7 วิธีป้องกัน "ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน" รู้ไว้จะได้ไม่ป่วย โรคนี้อันตรายเป็นภัยเงียบที่อาจเสียชีวิตกะทันหันได้
ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Acute Coronary Syndrome-ACS) หมายถึง กลุ่มอาการที่มีลักษณะบ่งชี้ถึงกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน อาการที่สำคัญ คือ เจ็บเค้นอกรุนแรงเฉียบพลัน หรือเจ็บขณะพักนานกว่า 20 นาที หรือเจ็บเค้นอกซึ่งเกิดขึ้นใหม่รุนแรงกว่าเดิม ร้อยละ 70 มีสาเหตุมาจากหลอดเลือดแดงหัวใจอุดตันจากการแตกของตะกรัน แบ่งตามลักษณะอาการทางคลินิกได้ 3 กลุ่ม คือ
1. ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่พบการยกตัวผิดปกติของช่วง ST (ST segment) ในคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นกลุ่มอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายที่คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ และพบค่าเอ็นไซม์การทำงานของหัวใจผิดปกติ มักแสดงถึงการอุดตันของหลอดเลือดแดงหัวใจเส้นสำคัญ ทำให้เกิดภาวะขาดเลือดของกล้ามเนื้อหัวใจ ตลอดความหนาของผนังกล้ามเนื้อหัวใจ หากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องและรวดเร็ว ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตกะทันหันได้
2. ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่ไม่พบการยกตัวของช่วง ST (ST segment) ในคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ร่วมกับพบค่าเอ็นไซม์การทำงานของหัวใจผิดปกติ บ่งบอกถึงการอุดตันของหลอดเลือดแดงหัวใจบางส่วน ในกรณีนี้กล้ามเนื้อหัวใจจะขาดเลือดเพียงส่วนหนึ่งของผนังกล้ามเนื้อ
3. ภาวะอาการเจ็บหน้าอกชนิดไม่คงที่ เป็นกลุ่มอาการเจ็บแน่นหน้าอกที่อาจพบคลื่นไฟฟ้าหัวใจปกติหรือผิดปกติได้แต่ค่าเอ็นไซม์การทำงานของหัวใจปกติ อาการปวดที่เป็นในแต่ละครั้งจะเพิ่มความปวดที่รุนแรงและนานมากขึ้น
วิธีป้องกันกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
-หลีกเลี่ยงอาหารหวาน อาหารที่มีไขมัน – กะทิ รวมทั้งไข่แดง ทำให้มีการสะสมไขมันในหลอดเลือด ก่อให้เกิดแผ่นคราบไขมันตามมา
-ควรรับประทานอาหารที่มีไขมันน้อย เช่น ผัก ปลา ผลไม้ และอาหารที่มีกากมากๆ เช่น รำข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี ฯลฯ
-ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง นานครั้งละ 20 นาที แล้วค่อยๆเพิ่มระยะเวลาและเพิ่มความถี่ในการออกกำลังกาย
-หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะในบุหรี่มีสารนิโคตินและสารอื่นๆ ที่จะทำอันตรายต่อผนังบุด้านในหลอดเลือด การสูบบุหรี่ ยังทำให้หลอดเลือดหัวใจหดตัว เป็นการลดปริมาณเลือดที่จะไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ
-นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียดกับงานควรทำสมาธิหรือฟังเพลงเบาๆ
-ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน โดยใช้วิธีออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่ถูกต้อง เช่นงดขนมหวาน, ผลไม้รสหวานจัด เพราะหัวใจของคนอ้วนต้องทำงานมากกว่าปกติ
-ตรวจเช็คสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แต่ถ้ามีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เป็นๆหายๆ ควรปรึกษาแพทย์
อาการแสดงของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
1. เจ็บแน่นหน้าอก มีอาการเจ็บแน่นอยู่ใต้หน้าอก อาจร้าวไปที่แขน ไหล่ คอ หรือกราม อาการเจ็บประมาณ 5-10 นาที อาจถูกกระตุ้นโดยการออกแรง หรือภาวะเครียด อาการจะดีขึ้นเมื่อได้พักหรือใช้ยาอมใต้ลิ้น หรือพ่นยาใต้ลิ้น แต่ในภาวะกล้ามเนื้อโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกอย่างต่อเนื่อง แม้จะอมยาใต้ลิ้นแล้ว หรือมีการเจ็บแน่นหน้าอกแม้ในขณะนั่งพักก็ได้
2. ใจสั่น เหงื่อออกมาก เหนื่อยง่าย
โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถป้องกันได้ ถ้าไม่ต้องการเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ควรหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และรับประทานอาหารที่ปราศจากไขมัน เน้นทานผัก และผลไม้ให้มากๆ เพียงเท่านี้คุณก็สามารถป้องกันสุขภาพร่างกายห่างไกลจากโรคหัวใจ และโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้อย่างปลอดภัย
ขอบคุณที่มา โรงพยาบาลศิริราช / โรงพยาบาลกรุงเทพ
ภาพจาก AFP