รู้จัก "ไวรัสซิกา" มีอาการอย่างไร ไวรัสสำคัญที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องระวัง!
ทำความรู้จัก "ไวรัสซิกา" เชื้อร้ายจากยุงลาย มีอาการอย่างไร แนะวิธีป้องกัน เตือนหญิงตั้งครรภ์ ต้องระวังเสี่ยงทารกศีรษะเล็ก
ทำความรู้จัก "ไวรัสซิกา" เชื้อร้ายจากยุงลาย มีอาการอย่างไร แนะวิธีป้องกัน เตือนหญิงตั้งครรภ์ ต้องระวังเสี่ยงทารกศีรษะเล็ก
ไวรัสซิการะบาด ล่าสุด (27 ก.ค.66) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยว่า ไทยพบผู้ป่วย “ซิกา” แล้ว 110 ราย ใน 20 จังหวัด พบหญิงตั้งครรภ์ 6 ราย ห่วงมีผลแทรกซ้อนทำให้แท้ง ทารกมีภาวะศีรษะเล็ก กำชับทุกจังหวัดคัดกรองผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ให้ อสม.ช่วยแจ้งเตือนหญิงตั้งครรภ์
โรคไข้ซิกาคืออะไร
โรคไข้ซิกา เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งอยู่ในตระกูลฟลาวิไวรัส (flavivirus) มียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยยุงที่เป็นพาหะนำโรคไข้ซิกาเป็นชนิดเดียวกันกับยุงที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (Chikungunya) และไข้เหลือง
สาเหตุหลักของการติดเชื้อเกิดจากการโดนยุงลายที่มีเชื้อไวรัสซิกาติดและช่องทางอื่นๆ ที่อาจเป็นไปได้ เช่น การแพร่ผ่านทางเลือด การแพร่จากมารดาที่ป่วยสู่ทารกในครรภ์
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสซิก้า
ไวรัสซิก้า นอกจากมียุงลายเป็นพาหะนำแล้ว ยังเคยมีรายงานว่าติดต่อจากแม่สู่ลูกได้ สมมติว่าแม่ติดเชื้อช่วงใกล้คลอด ลูกออกมาก็อาจติดเชื้อได้ แต่ว่าถ้าแม่ติดเชื้อก่อนคลอดเล็กน้อย ลูกที่ออกมาก็ค่อนข้างจะปลอดภัย ส่วนใหญ่จะมีอันตรายก็ต่อเมื่อแม่ติดเชื้อในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ เพราะเด็กจะมีการพัฒนาของอวัยวะต่างๆดังนั้น ถ้ามีการติดเชื้อในช่วงนั้นก็จะทำให้เด็กที่คลอดออกมาเกิดอาการผิดปกติ
ความจริงแล้วไวรัสซิก้าเป็นพี่น้องตระกูลใกล้กับไข้เลือดออก ฉะนั้น อาการที่แสดงออกมาก็จะมีอาการคล้าย ๆ กัน เช่น มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ผื่นขึ้น และอีกลักษณะที่พบได้บ่อยกว่าคือ ตาแดงแบบไม่มีขี้ตา เนื่องจากเราทราบแล้วว่าโรคนี้มีพาหะนำโดยยุงลาย ซึ่งสามารถนำไวรัสไข้เลือดออกได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีหลักฐานชัดเจนมากขึ้นด้วยว่าไวรัสชนิดนี้อาจติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ด้วย
อาการของโรคไข้ซิกา
ระยะฟักตัวของโรคไข้ซิกาใช้เวลาเฉลี่ย 4-7 วันหลังโดนยุงกัด (สั้นสุด 3 วันและยาวสุด 12 วัน) อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ มีผื่นแดง เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ซึ่งโดยปกติแล้วอาการเหล่านี้จะเป็นเพียงเล็กน้อย ไม่รุนแรง และเป็นอยู่ประมาณ 2-7 วัน ยกเว้นในหญิงตั้งครรภ์ซึ่งอาจทำให้เด็กทารกที่คลอดมามีสมองเล็ก (microcephaly) หรือมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้
การรักษาโรคไข้ซิกา
ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้ซิกาโดยเฉพาะ การรักษาทำได้ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ และรักษาตามอาการ เช่น ใช้ยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้หรือบรรเทาอาการปวด ทั้งนี้ห้ามรับประทานยาแอสไพรินหรือยากลุ่มลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เนื่องจากยาบางชนิดเป็นอันตรายสำหรับโรคนี้ โดยอาจทำให้เลือดออกในอวัยวะภายในได้ง่ายขึ้น
การป้องกันโรคคือหัวใจที่สำคัญที่สุด
-ระมัดระวังไม่ให้ยุงกัด วิธีนี้สำคัญที่สุด โดย
*ใช้ยากำจัดแมลงหรือยาทาป้องกันยุงกัด
*นอนในมุ้ง และปิดหน้าต่าง ปิดประตูหรือใช้มุ้งลวดติดป้องกันยุงเข้าบ้าน
*สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาวให้มิดชิด
*กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายโดยการทำความสะอาด การเทน้ำทิ้ง หรือปิดฝาภาชนะที่สามารถบรรจุน้ำได้ เช่น กระถางต้นไม้ เพื่อป้องกันน้ำขังอันจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
-หากมีอาการไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ หรืออาการที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคนี้ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ ควรรีบปรึกษาแพทย์และเข้ารับการรักษาทันที
-หญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาด แต่หากจำเป็นต้องเดินทาง ควรปรึกษาแพทย์และป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด
สิ่งสำคัญที่ควรรู้เพื่อช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อได้ดีที่สุด
ในระยะ 7 วันที่เริ่มมีไข้ จะมีปริมาณของเชื้อไวรัสในกระแสเลือดจำนวนมาก หากถูกยุงกัดในช่วงนี้จะสามารถแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่นได้อย่างมาก วิธีที่จะทำให้มีโอกาสเกิดการแพร่กระจายของเชื้อน้อยที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้ตนเองถูกยุงกัด โดยเฉพาะในระยะ 7 วันแรกที่มีอาการ
ที่มา โรงพยาบาลบํารุงราษฎร์ / โรงพยาบาลรามาธิบดี
ภาพจาก AFP