TNN online สถิติ "โรคไตเรื้อรัง" เปิดแนวทางป้องกัน-ชะลอความเสื่อมของไต

TNN ONLINE

Health

สถิติ "โรคไตเรื้อรัง" เปิดแนวทางป้องกัน-ชะลอความเสื่อมของไต

สถิติ โรคไตเรื้อรัง เปิดแนวทางป้องกัน-ชะลอความเสื่อมของไต

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดสถิติ "โรคไตเรื้อรัง" แนะแนวทางป้องกันและชะลอความเสื่อมของไต

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดสถิติ "โรคไตเรื้อรัง" แนะแนวทางป้องกันและชะลอความเสื่อมของไต


กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับภาคีเครือข่าย รณรงค์วันไตโลก ปี 2566 ภายใต้คำขวัญ “ตระหนักภัย ใส่ใจไต ป้องกันไว้ เน้นกลุ่มเสี่ยงโรคไตเรื้อรัง” มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักให้ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และควบคุมความดันโลหิตให้ดี โดยจากข้อมูลปี 2565 มีรายงานพบว่า 1 ใน 25 ของผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง กลายเป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังรายใหม่ 


นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้กำหนดให้วันพฤหัสบดีในสัปดาห์ที่สองของเดือนมีนาคมของทุกปีเป็น "วันไตโลก" (World Kidney day) ซึ่งปีนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 9 มี.ค. 2566 สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยได้กำหนดประเด็นรณรงค์ คือ “Kidney Health For All- preparing for the unexpected, supporting the vulnerable : ตระหนักภัย ใส่ใจไต ป้องกันไว้ เน้นกลุ่มเสี่ยง” โดย 1 ใน 10 ของประชากรทั่วโลกมีการทำงานของไตผิดปกติ และพบว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 1 ล้านคน มีสาเหตุมาจากการไม่ได้เข้ารับการรักษาโรคไตวายเรื้อรัง 


สถิติโรคไตเรื้อรัง


สำหรับประเทศไทยสถานการณ์ของโรคไตเรื้อรังในประชากรไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นับเป็นปัญหาสาธารณสุขและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก จากระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในปี 2565 พบว่า 1 ใน 25 ของผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง กลายเป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังรายใหม่ มีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะ 3 จำนวน 420,212 ราย ระยะ 4 จำนวน 420,212 ราย และระยะที่ 5 ที่ต้องล้างไตมากถึง 62,386 ราย 


กรมควบคุมโรค จึงมุ่งเน้นการสร้างความตระหนักให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงควบคุมความดันโลหิตให้ดี เพื่อลดการเกิดผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังรายใหม่ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการควบคุมความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี รวมถึงการใช้ยาไม่ถูกต้อง การรับประทานยาชุด ยาแก้ปวด ยาสมุนไพรบางชนิดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน คนเราสามารถสูญเสียการทำงานของไตได้ถึง 90% ก่อนที่จะมีอาการใดๆ 


การป้องกันโรคไตเรื้อรัง


นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคไตเรื้อรังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้และอาจทำให้ผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลไปตลอดชีวิต การป้องกันโรคไตวายเรื้อรังสามารถทำได้โดย การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้น้อยกว่า 130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และน้ำตาลสะสมในเลือดน้อยกว่า 7% รวมทั้งควบคุมระดับความดันโลหิตให้ต่ำกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ควบคุมการรับประทานเกลือไม่น้อยกว่า 5 กรัม/วันหรือเกลือแกงไม่เกิน 1 ช้อนชา/วัน งดการรับประทานยาชุดแก้ปวด ยาสมุนไพร ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน และใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ 


แนวทางการชะลอความเสื่อมของไตในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง


สำหรับแนวทางการการชะลอความเสื่อมของไตในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมิให้กลายเป็นไตวายเรื้อรังเร็วเกินควร คือ การสร้างความรู้และความตระหนักเกี่ยวกับโรคไต เน้นการจัดการความเสี่ยงของการเกิดโรคไตในชุมชน เพื่อให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ สามารถดูแลป้องกันตนเองและสมาชิกในครอบครัวไม่ให้ป่วยเป็นโรคไต และให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่มีคุณภาพ รวมทั้งพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์การคัดกรองความเสี่ยงโรคไต ควบคู่กับการคัดกรองโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน



ที่มา กรมควบคุมโรค

ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง