TNN online เปิดสถิติ "เด็กไทยติดหวาน" ชานม-น้ำอัดลม ติดอันดับ เสี่ยงเกิดหลายโรค

TNN ONLINE

Health

เปิดสถิติ "เด็กไทยติดหวาน" ชานม-น้ำอัดลม ติดอันดับ เสี่ยงเกิดหลายโรค

เปิดสถิติ เด็กไทยติดหวาน ชานม-น้ำอัดลม ติดอันดับ เสี่ยงเกิดหลายโรค

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ห่วงเด็กไทยติดหวาน พบ 1 วัน เด็กไทยนิยมบริโภคเครื่องดื่มที่มีรสหวานมากกว่าน้ำเปล่า แนะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดความเสี่ยงโรคอ้วนและโรคเรื้อรังในอนาคต

นายแพทย์ สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า เนื่องในโอกาสวันเด็ก ปี 2566 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ห่วงเด็กไทยในการบริโภคของหวาน หากรับประทานเกินจำนวนที่แนะนำในการบริโภคต่อวัน จะส่งผลให้เด็กไทยติดหวาน และเป็นโรคอ้วน จากข้อมูลเฝ้าระวังพฤติกรรมด้านสุขภาพ ได้สำรวจพฤติกรรมการดื่มน้ำอัดลม และเครื่องดื่มรสหวาน ในกลุ่มวัยเรียน ในปี 2564 จำนวน 6,634 คน พบว่าใน 1 วัน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวาน สูงถึงร้อยละ 86.5 และมีเพียงร้อยละ 13.5 เท่านั้นที่ดื่มน้ำเปล่า 


ส่วนประเภทเครื่องดื่มรสหวานที่ดื่มเป็นประจำ 3 ลำดับแรก คือ น้ำอัดลม ร้อยละ 40.95 รองลงมาชานมไข่มุก ร้อยละ 29.16 และน้ำผลไม้ที่มีรสหวาน ร้อยละ 9.34  ซึ่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แนะนำการทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างเพียงพอ และเหมาะสมทำให้สุขภาพแข็งแรง ด้วยการเลี่ยงการดื่มน้ำอัดลม หรือ เครื่องดื่มที่มีรสหวาน เน้นดื่มน้ำเปล่าให้มากขึ้น ปลูกฝังให้เด็กและเยาวชน อ่านฉลากโภชนาการ เพื่อทราบปริมาณน้ำตาลในน้ำอัดลม หรือ เครื่องดื่มรสหวานประเภทต่างๆ และทานอาหารที่มีประโยชน์


เปิดสถิติ เด็กไทยติดหวาน ชานม-น้ำอัดลม ติดอันดับ เสี่ยงเกิดหลายโรค



อย่างไรก็ตาม ครอบครัวและโรงเรียน มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มพูนความรอบรู้ด้านสุขภาพ ในเรื่องโรคอ้วนให้กับเด็ก เพราะหากเด็กมีสุขภาพที่ดีตั้งแต่วัยเยาว์ จะส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมที่ดีทางด้านสุขภาพ แต่ถ้าหากเด็กมีความรอบรู้ด้านสุขภาพเรื่องโรคอ้วนในระดับต่ำแล้ว จะมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคอ้วนและโรคเรื้อรังในวัยผู้ใหญ่ โดยผู้ปกครอง และโรงเรียนสามารถปรับพฤติกรรมเด็กต่างๆ ตามแนวทางสุขบัญญัติ เช่น จัดเตรียมอาหารที่เหมาะสมตามหลักโภชนาการ เพิ่มผักผลไม้ หลีกเลี่ยงขนมขบเคี้ยว อาหารที่มีรสหวานจัด และเครื่องดื่มที่มีรสหวานทุกชนิดทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน รวมทั้งส่งเสริมกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายตามความชอบและความถนัดของเด็กอย่างเหมาะสม ลดพฤติกรรมการนั่งดูทีวี เล่นเกมคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน การออกกำลังกายสม่ำเสมอเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้สามารถควบคุมน้ำหนักได้เป็นอย่างดี ให้เด็กไทยมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงต่อไป





ภาพ แฟ้มภาพ TNNOnline 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง