TNN online คอกาแฟเฮ ชีวิตอยู่ยาว? หมอธีระวัฒน์ เปิดข้อมูลดื่มแบบไหนได้ผลดีสุด

TNN ONLINE

Health

คอกาแฟเฮ ชีวิตอยู่ยาว? หมอธีระวัฒน์ เปิดข้อมูลดื่มแบบไหนได้ผลดีสุด

คอกาแฟเฮ ชีวิตอยู่ยาว? หมอธีระวัฒน์ เปิดข้อมูลดื่มแบบไหนได้ผลดีสุด

หมอธีระวัฒน์ เปิดข้อมูล "คอกาแฟได้เฮ ชีวิตอยู่ยาว?" ชี้ดื่มกาแฟที่มีและไม่มีคาเฟอีน จะช่วยลดอัตราการตายจากทุกสาเหตุที่เกี่ยวกับโรคมะเร็งและที่เกี่ยวกับโรคของหัวใจและเส้นเลือด

หมอธีระวัฒน์ เปิดข้อมูล "คอกาแฟได้เฮ ชีวิตอยู่ยาว?" ชี้ดื่มกาแฟที่มีและไม่มีคาเฟอีน จะช่วยลดอัตราการตายจากทุกสาเหตุที่เกี่ยวกับโรคมะเร็งและที่เกี่ยวกับโรคของหัวใจและเส้นเลือด


ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ “หมอธีระวัฒน์” ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับ  "คอกาแฟได้เฮ ชีวิตอยู่ยาว? หมอดื้อ"


โดยระบุว่า มนุษย์โลกได้รับทราบสรรพคุณของกาแฟมาเนิ่นนาน เช่นเดียวกับคนไทยและคนทำงานที่ไม่เป็นเวลา เป็นกะกลางวันบ้าง กลางคืนบ้าง ทั้งอาชีพยาม อาชีพหมอ ที่ต้องพึ่งกาแฟเป็นอาจิณนัยว่าเป็นซุปเปอร์ฮีโร่กลายๆ ทำงานติดกัน 36 หรือไม่ก็ยาวถึง 48 เกือบ 72 ชั่วโมงก็มี ใช้วิธียืนหลับ นั่งหลับ และได้กาแฟเป็นที่พึ่ง


สรรพคุณของกาแฟนั้น หมอดื้อได้เคยเล่าให้ฟังในคอลัมน์สุขภาพหรรษามาก่อนหน้านี้ และมีการศึกษาในเรื่องของการดื่มกาแฟ และทำให้ชีวิตยืนยาวขึ้นหรือความเสี่ยงในการตายน้อยลง เช่น การศึกษาในกลุ่มประเทศยุโรป 10 ประเทศ รายงานในวารสารสมาคมอายุรแพทย์ของอเมริกา (Ann Intern Med) ในปี 2017 และในปีเดียวกันนั้นเอง ในวารสารเดียวกัน แต่เป็นการศึกษาในคนที่ไม่ใช่ผิวขาว และจนกระทั่งการศึกษาที่เกี่ยวพันกับภาวะสุขภาพ และการเกิดโรคหัวใจ มะเร็ง และนิ่วในถุงน้ำดี รวมทั้งโรคต่างๆ ในวารสารทางด้านโภชนาการของยุโรปในปี 2022 ก็พบว่ามีประโยชน์คล้ายกัน


อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของกาแฟยังเป็นเรื่องที่มีผู้คนอยากรู้ว่าจะดื่มกาแฟแบบไหนดี ชนิดคั่ว หรือต้ม แบบชนิดกรองหรือไม่กรอง และประการสำคัญก็คือ ถ้าใส่น้ำตาลหรือน้ำตาล เทียมลงไปจะลดความดีของกาแฟลงหรือไม่ โดยที่มีการประเมินในปี 2022 ว่าคนอเมริกันดื่มกาแฟวันละ 517 ล้านแก้ว และเมื่อสอบถามเป็นรายตัวก็ยังพบว่า 66% รายงานว่าเมื่อวานก็ยังดื่มกาแฟอยู่


กาแฟนั้นมีสารที่มีคุณประโยชน์อยู่หลายชนิด และทั้งนี้เชื่อว่ากลไกในการทำให้สุขภาพดีต่อสู้โรค มีส่วนเกี่ยวพันกับความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระที่ได้จากคาเฟอีน และ chlorogenic acids และยังมีคุณสมบัติในการต้านเลือดข้น โดยผ่านกลไกทางเกล็ดเลือด


ดังนั้น น่าจะช่วยอธิบายที่กาแฟนั้น ทำให้ช่วยลดความเสี่ยงของโรคเส้นเลือดหรือลิ่มเลือดอุดตันต่างๆได้ และแม้กระทั่งในปัจจุบัน กาแฟเป็นอีกตัวหนึ่งที่มีการศึกษาว่า จะสามารถป้องกันโรคสมองเสื่อมได้หรือไม่


ขณะเดียวกัน ถ้าเป็นกาแฟชนิดต้มหรือแบบไม่ได้กรอง จะมีสาร cafestol รวมกับส่วนประกอบอื่นๆ ที่ทำให้ไขมันในเลือดสูงขึ้นได้ แต่ไม่มากนัก และกาแฟมีฤทธิ์ทำให้มีความดัน สูงขึ้นในระยะเวลาสั้นๆหลังดื่ม แต่แล้วความดันก็ลดลงตามปกติสู่สภาพเดิม ทั้งนี้จากการติดตามคนที่ดื่มกาแฟในระยะยาว


แต่ผลการศึกษาทั่วไป แสดงให้เห็นว่า กาแฟเมื่อดื่มอย่างบันยะบันยัง ช่วยอายุยืนดังข้างต้น แต่ถ้าดื่มปริมาณสูงเกินไปจะทำให้ประโยชน์ลดลงได้ โดยปรากฏเป็นรูปตัวยู (U) โดยนึกถึงอักษรตัวยู ดื่มในปริมาณพอเหมาะ โรคและการตายก็น้อยลงเป็นขาลง แต่มากไปกลายเป็นขาขึ้นและเทียบเท่ากับคนที่ไม่ดื่มกาแฟเลย


การศึกษาล่าสุดนี้ ตีพิมพ์ในวารสาร ฉบับเดียวกันนี้ คือ Ann Intern Med ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2022 ดูแล้วไม่ใช่ทำง่ายๆ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าการใส่น้ำตาลหรือน้ำตาลเทียมในกาแฟกลับทำให้สุขภาพแย่ลงไป หรือทำให้ประโยชน์ของกาแฟลดลงหรือเปล่า


ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้รวบรวมข้อมูลพื้นฐานที่เก็บในคลังข้อมูลของอังกฤษ (UK Biobank study) ระหว่างปี 2009 จนกระทั่งถึง 2012 มีจำนวนคนเข้าร่วมการศึกษา 171,616 คน ที่มีอายุระหว่าง 37 ถึง 73 ปี ในศูนย์วิจัย 22 แห่งในอังกฤษ การศึกษานี้ให้ผลเหมือนกับรายงานก่อนหน้านั้น ที่การดื่มกาแฟที่มีและไม่มีคาเฟอีน จะช่วยลดอัตราการตายจากทุกสาเหตุที่เกี่ยวกับโรคมะเร็งและที่เกี่ยวกับโรคของหัวใจและเส้นเลือด


โดยทั้งนี้ ลดความเสี่ยงของการตายลงได้ประมาณ 30% โดยที่จะเป็นกาแฟที่ไม่ใส่ หรือใส่น้ำตาลและน้ำตาลเทียมก็ตาม โดยกลุ่มที่ไม่ใส่น้ำตาลหรือน้ำตาลเทียม การดื่มประมาณสามแก้วหรือสามถ้วย กาแฟจะช่วยลดการตายได้ดีที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ดื่มกาแฟเลย ส่วนในกลุ่มที่ใส่ความหวาน การดื่มประมาณสองแก้วจะได้ผลดีที่สุด แต่ในข้อมูลรายละเอียดนั้น การดื่มไปถึง สามแก้วครึ่ง จนถึงสี่แก้วครึ่ง ก็ยังคงได้ประโยชน์ ทั้งนี้ ไม่จำกัดว่าจะเป็นกาแฟบด หรือกาแฟอินสแตนท์ก็ตาม


แต่ทั้งนี้ การดื่มมากเกินไปก็จะลดความดีงามของกาแฟไป โดยความเสี่ยงของการเสียชีวิตจะกลับไปเท่ากับคนที่ไม่ได้ดื่มกาแฟ


มีบางข้อที่การศึกษานี้ยังมีข้อจำกัด และเป็นการตั้งข้อสังเกตในบทบรรณาธิการว่า ก่อนที่ทุกคนจะวิ่งรี่ไปดื่มกาแฟที่เรียกว่าคาราเมล มัคคิอาโต (caramel macchiato) ที่เป็นกาแฟที่มีส่วนผสมของคาราเมล นมสด ฟองนมราดข้างบนด้วยคาราเมล ซึ่งเหมาะสำหรับคนที่ชอบความเข้มข้นของเอสเพรสโซ และที่มีความหอมและหวานด้วย แต่มีปริมาณของน้ำตาลถึง 15 กรัมในแก้วขนาดแปดออนซ์ และต่างกับกาแฟที่อยู่ในการศึกษานี้ที่มีขนาดปริมาณของน้ำตาล อยู่ที่ประมาณหนึ่งช้อนชาหรือ 4 กรัม ดังนั้น ผลการศึกษานี้อาจยังไม่ตอบโจทย์


นอกจากนั้น การศึกษาสรรพคุณทางด้านสุขภาพของกาแฟ เท่าที่ผ่านมาเป็นการศึกษาในระยะยาวและเป็นการเฝ้าสังเกตและวิเคราะห์ (observational) ซึ่งแม้ว่าจะควบคุมตัวแปรต่างๆอย่างเข้มงวด ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆอีกมาก


แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อควบรวมกับสรรพคุณของสารในกาแฟที่มีฤทธิ์ต่างๆนั้น ทำให้มีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น และการศึกษาที่ผ่านมายังมีผลคล้องจองกันตลอดมา โดยที่แม้ว่าจะมีการศึกษาโดยการพยายามใช้ดัชนีสุขภาพต่างๆทางยีนหรือพันธุกรรมของมนุษย์บางตัว แต่ก็ยังไม่สามารถอธิบายผลดีต่อสุขภาพของกาแฟ


บทสรุป ที่เกี่ยวกับกาแฟตามความเห็นของบรรณาธิการของวารสารว่า แล้วหมออย่างเราๆ เมื่อมีผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว มาถามว่า จะดื่มกาแฟได้หรือไม่ และใส่น้ำตาลลงไปได้อีกไหม


คำตอบที่สามารถให้ได้ด้วยข้อมูลดีที่สุดขณะนี้ก็คือ ใครที่ดื่มกาแฟอยู่แล้วก็ไม่ต้องเลิกดื่ม แต่คงไม่ถึงขนาดที่จะใส่ความหวานเข้าไปจนเต็มพิกัดแบบคาราเมล และจะมีชีวิตยืนยาวหรือลดความเสี่ยงของการตายลงได้เท่าไหร่นั้น คงตอบว่าช่วยได้ อย่างน้อยก็ระดับหนึ่ง และดื่มอยู่ในปริมาณที่พอเหมาะดังข้างต้น


และหมอขอเสริมเติมว่า ยังขึ้นอยู่กับแต่ละคนซึ่งอาจจะมีความไวต่อกาแฟไม่เท่ากัน โดยที่มีหัวใจเต้นเร็วหรือใจสั่น แม้ว่าจะดื่มในปริมาณน้อย ถ้าเช่นนั้นก็อาจไม่ต้องดื่ม แต่คนที่ดื่มอยู่แล้ว มักจะรู้ตัวเองว่าควรจะดื่มในระดับใด เพราะในปริมาณที่มากสำหรับตนเองจะมีใจสั่นเป็นเครื่องป้องกัน ก็คงอยู่ในระดับเดิมนะครับ


แต่แน่นอนก็คือ ถ้าขาดการควบคุมสุขภาพ ขาดการออกกำลังกาย ยังคงทานอาหารที่ร้อนแรง ที่ก่อให้เกิดการอักเสบในร่างกาย และไม่ควบคุมโรคประจำตัว การดื่มกาแฟคงไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก






ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง