TNN online รู้จัก “โรคแพ้ตึก” เกิดขึ้นบ่อยกับชาวออฟฟิศ หาสาเหตุไม่ได้!

TNN ONLINE

Health

รู้จัก “โรคแพ้ตึก” เกิดขึ้นบ่อยกับชาวออฟฟิศ หาสาเหตุไม่ได้!

รู้จัก “โรคแพ้ตึก” เกิดขึ้นบ่อยกับชาวออฟฟิศ หาสาเหตุไม่ได้!

ทำความรู้จัก “โรคแพ้ตึก” เกิดขึ้นบ่อยกับชาวออฟฟิศทำงานในสำนักงาน หาสาเหตุยังไม่ได้ แต่จะดีขึ้นทันทีเมื่อออกนอกตัวอาคาร

ทำความรู้จัก “โรคแพ้ตึก” หรือ Sick Building Syndrome (SBS) หรือกลุ่มอาการป่วยเหตุอาคาร นิยมเรียกกันว่า “โรคแพ้ตึก” เป็นภาวะผิดปกติด้านสุขภาพ

ในกลุ่มคนทำงานในอาคารที่มีความเกี่ยวข้องกับช่วงเวลาที่อยู่ในอาคาร แต่ไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่นอนชัดเจนได้ อาการป่วยดังกล่าว เป็นอาการที่ไม่มีลักษณะเฉพาะโรค มักเกิดในสำนักงาน แต่อาการจะดีขึ้นหรือหายไปเมื่อออกนอกตัวอาคาร

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิด   “โรคแพ้ตึก”  (Sick Building Syndrome) 

  1. 1.ปัจจัยส่วนบุคคล เช่น เพศหญิง อายุน้อยกว่า 40 ปี โรคภูมิแพ้ สูบบุหรี่ เครียดจากการทำงาน เป็นต้น
  2. 2.สภาพแวดล้อมภายในอาคาร เช่น มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก พื้นปูด้วยพรม มีน้ำรั่วหรือน้ำซึม ขาดการทำความสะอาดสถานที่ เป็นต้น
  3. 3.ลักษณะการทำงาน เช่น ใช้คอมพิวเตอร์มากกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน นั่งทำงานใกล้เครื่องถ่ายเอกสาร หรือเครื่องพิมพ์ (Printer) เป็นต้น
  4. 4.ลักษณะอาคาร เช่น อาคารเก่า ใช้เครื่องปรับอากาศรุ่นเก่า อากาศถ่ายเทหรือหมุนเวียนน้อย เป็นต้น

กลุ่มอาการที่สัมพันธ์กับ Sick Building Syndrome

อาการที่ไม่มีลักษณะเฉพาะโรคจะมีลักษณะที่หลากหลายแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน เช่น ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล ระคายเคืองตาหรือจมูก คันตามผิวหนัง หน้ามืด คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ง่วงนอน สำหรับคนที่แพ้ง่าย หรือคนที่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่แล้ว อาการแพ้จะกำเริบมากขึ้น

 การป้องกันการเกิด “โรคแพ้ตึก” 

  1. 1.กำจัดแหล่งสารปนเปื้อนภายในอาคาร เช่น บำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศและ ระบบระบายอากาศอย่างสม่ำเสมอ ทำความสะอาดพื้น พรมหรือเพดาน อุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์ ไม่ทิ้งขยะค้างคืนในสำนักงานเพราะอาจเป็นอาหารของแมลงสาบได้ เก็บสารระเหยอย่างมิดชิดในที่ที่มีอากาศถ่ายเท
  2. 2.ลดปริมาณมลภาวะทางอากาศ ด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นต้นกำเนิดของไอระเหยที่เป็นพิษให้น้อยที่สุด (ค่า VOCs ต่ำ) หรือเลือกวัสดุอื่นทดแทน เช่น ใช้สีทาผนังแบบที่ไม่มีโลหะหนักผสม เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้จริง หรือใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้อัดแบบที่ปล่อยไอระเหยน้อยกว่าปกติ เป็นต้น
  3. 3.ควบคุมสิ่งแวดล้อมในอาคาร เช่น เปิดหน้าต่างหลังจากปิดเครื่องปรับอากาศเพื่อระบายอากาศที่ตกค้างในอาคาร เพิ่มระบบถ่ายเทอากาศในบริเวณที่มีสารเคมีระเหยออกมาได้ หาพืชที่ช่วยลดมลพิษในอากาศมาปลูกในห้อง อาทิ

– ต้นว่านหางจระเข้ จะช่วยลดกลิ่นของสารระเหยฟอร์มัลดีไฮด์และเบนซิน

– ต้นพลูด่าง จะช่วยลดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และแอมโมเนียได้ดี

– ต้นวาสนา จะช่วยขจัดกลิ่นจากน้ำมันกับแลคเกอร์

– ต้นฟิโลใบหัวใจ จะช่วยดูดซับสารพิษชนิดสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs)

ข้อมูลจาก :  สภากาชาดไทย

ภาพจาก  :  AFP 

ข่าวแนะนำ