TNN online 9 สัญญาณเตือน "โรคซึมเศร้า" กินสะตอช่วยบรรเทาอาการได้จริงหรือ?

TNN ONLINE

Health

9 สัญญาณเตือน "โรคซึมเศร้า" กินสะตอช่วยบรรเทาอาการได้จริงหรือ?

9 สัญญาณเตือน โรคซึมเศร้า กินสะตอช่วยบรรเทาอาการได้จริงหรือ?

เปิด 9 สัญญาณเตือน "โรคซึมเศร้า" และ วิธีป้องกัน ไขข้อสงสัย กินสะตอช่วยบรรเทาอาการของโรคได้จริงหรือ

เปิด 9 สัญญาณเตือน "โรคซึมเศร้า" และ วิธีป้องกัน ไขข้อสงสัย กินสะตอช่วยบรรเทาอาการของโรคได้จริงหรือ


จากกรณีที่มีผู้โพสต์ข้อมูลสุขภาพโดยระบุว่า การกินสะตอช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าได้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า สะตอมีสรรพคุณขับปัสสาวะ ขับลมในลำไส้ แก้ไตพิการ จากการศึกษาทางเภสัชวิทยามีฤทธิ์ต้านมาลาเรีย ลดความดันโลหิต ลดระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้ระบาย กระตุ้นการหดตัวของลำไส้เล็ก ฤทธิ์เหมือน lectins ยังไม่มีหลักฐานข้อมูลการวิจัยในคนที่บ่งชี้ว่าการกินสะตอ สามารถช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าได้


ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยและถูกต้องทางการรักษา หากต้องการรักษาอาการซึมเศร้า ควรพบแพทย์แผนปัจจุบัน หรือบุคลากรสาธารณสุขเพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และรักษาที่ถูกต้อง

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ  และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.dtam.moph.go.th หรือโทร. 02-591-7007


บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ยังไม่มีหลักฐานข้อมูลการวิจัยในคนที่บ่งชี้ว่าการกินสะตอ สามารถช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าได้


ขณะที่ โรงพยาบาลบํารุงราษฎร์ ได้เปิดข้อมูล ปัจจัยใหญ่ๆที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า คือ


-พันธุกรรมหรือพื้นฐานดั้งเดิม มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคซึมเศร้า หรือมีลักษณะนิสัยเป็นคนอ่อนไหวง่าย คิดมาก มองโลกในแง่ลบ รวมถึงการมีสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุล

-สภาพแวดล้อมตั้งแต่เด็กจนโต เช่น การเลี้ยงดูของพ่อแม่ อิทธิพลจากคนใกล้ชิดรอบข้าง

โรคซึมเศร้าอาจเกิดจากการมีปัจจัยมากระตุ้นที่ทำให้เกิดความเครียดขึ้นมาก่อน หรืออาจเกิดขึ้นโดยไม่มีปัจจัยมากระตุ้น แต่กรณีนี้เกิดขึ้นได้น้อย


ปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้า 

โรคซึมเศร้าทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงตามมามากมาย ตั้งแต่โรคทางกาย เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไทรอยด์ โรคภูมิแพ้ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคสมองเสื่อม และโรคมะเร็ง นอกจากนี้ผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้ายังมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้มากกว่าคนปกติ เสียชีวิตจากสารเสพติด หรือแม้กระทั่งฆ่าตัวตาย


ประเภทของโรคซึมเศร้า แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ

-โรคซึมเศร้าแบบขั้วเดียว คือ ผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้าอย่างเดียว

-โรคซึมเศร้าแบบสองขั้ว หรือที่เรียกว่าไบโพลาร์ ผู้ป่วยมีอาการอารมณ์ขึ้นลงมากกว่าคนทั่วไปจนเกิดผลเสีย



9 สัญญาณเตือน โรคซึมเศร้า กินสะตอช่วยบรรเทาอาการได้จริงหรือ? ภาพจาก AFP

 


อาการของโรคซึมเศร้า

หากคุณสงสัยว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดเป็นโรคซึมเศร้า ให้สังเกตอาการดังต่อไปนี้ หากมีอย่างน้อย 5 อย่างหรือมากกว่าติดต่อกันอย่างน้อย 14 วันและมีอาการเหล่านี้อยู่เกือบทั้งวัน ถือว่าเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้า


1.มีอารมณ์ซึมเศร้า (เด็กหรือวัยรุ่นอาจมีอาการหงุดหงิด โกรธง่าย)

2.เบื่อ หมดความสนใจหรือความสุขในการทำกิจกรรมต่างๆ

3.นอนไม่หลับ หรือหลับๆตื่นๆหรือหลับมาก

4.เหนื่อยง่ายหรือไม่ค่อยมีแรง

5.เบื่ออาหารหรือกินมากเกินไป

6.รู้สึกไร้ค่า รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง

7.ไม่มีสมาธิหรือลังเลใจไปหมด

8.พูดช้า ทำอะไรช้าลงหรือกระวนกระวาย ไม่อยู่นิ่ง

9.มีความคิดอยากตาย คิดทำร้ายตัวเอง


การวินิจฉัยโรคซึมเศร้า

นอกจากจะดูว่าผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวข้างต้นอย่างน้อย 5 ข้อเป็นเวลาติดต่อกันไม่ต่ำกว่า 14 วันแล้ว แพทย์ยังต้องสอบถามรายละเอียดของอาการและเรื่องราวจากผู้ป่วยหรือบางครั้งจากญาติใกล้ชิดร่วมด้วย เพื่อให้เข้าใจผู้ป่วยและแน่ใจว่าผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรคทางจิตเวชอื่นๆที่คล้ายคลึงกับโรคซึมเศร้า รวมถึงสอบถามประวัติความเจ็บป่วยอื่นๆเพื่อดูว่าเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้าหรือไม่


การรักษาโรคซึมเศร้า

การรักษาหลักคือ การพูดคุยให้คำปรึกษา การทำจิตบำบัด รวมถึงการใช้ยาในกลุ่มแก้ซึมเศร้าหากมีความจำเป็น โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่รักษาได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอาการดีขึ้นจนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติและยิ่งมารับการรักษาเร็วเท่าไรอาการก็จะดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว แต่หากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้รักษายากยิ่งขึ้น


การป้องกันโรคซึมเศร้า ทำได้โดยปฏิบัติหลักสุขศึกษา คือ

-อาหาร ให้กินอาหารครบ 5 หมู่ หากขาดสารอาหารบางอย่างไปจะทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น เช่น โอเมก้า 3 วิตามิน อี ซี ดี ทองแดง ธาตุเหล็ก

-การออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายสัปดาห์ละอย่างน้อย 4 วันต่อสัปดาห์ ต่อเนื่องกัน 30-40 นาที เป็นการออกกำลังกายเบาๆ เช่น เดินเร็วก็ได้

-การพักผ่อน นอนหลับให้เพียงพอกับที่ร่างกายต้องกาย ให้ตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกสดชื่น ไม่ง่วงหรือยังเพลียอยู่

-การทำสมาธิ (Mindfulness) เพื่อผ่อนคลายจิตใจ มีงานวิจัยมากมายพบว่าการทำสมาธิช่วยให้สมองผ่อนคลาย ลดความเครียดได้

-การฝึกคิดบวก ป้อนความคิดทางบวกให้กับตัวเองอยู่เสมอเพื่อสร้างให้จิตใจมีความเข้มแข็ง เอาชนะอุปสรรคในชีวิตได้



ล่าสุด แพลตฟอร์มหมอพร้อมได้เพิ่มฟังก์ชั่น “ตรวจสุขภาพใจ” เข้าไปอยู่ใน Chatbot หมอพร้อม  ซึ่งขอเชิญประชาชนเข้าไปใช้บริการเพื่อตรวจเช็คสุขภาพจิตเบื้องต้นและคัดกรองความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าได้ง่ายๆ  เพียงเข้าไปที่ Line OA หมอพร้อม 


โดยเพิ่มเป็นเพื่อนที่ https://bit.ly/2Pl42qo เลือกเมนูคุยกับหมอพร้อม (chatbot) แล้วเลือก  "ตรวจสุขภาพใจ" จากนั้นก็สามารถเข้าสู่การทำแบบทดสอบได้ หรือคลิ๊กเข้าไปทำแบบทดสอบโดยตรงได้ที่ https://bit.ly/DMIND_3

 

ฟังก์ชั่นตรวจสุขภาพใจ นี้เป็นนวัตกรรม DMIND Application ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นที่พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของคณะแพทย์ศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งมีเป้าหมายคือการเป็นเครื่องมือสำหรับการคัดกรองผู้มีภาวะซึมเศร้าซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 300 ล้านคนทั่วโลก เฉพาะในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 1.5 ล้านคน และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยปีละกว่า 4,000 คน พยายามฆ่าตัวตายถึงปีละ 53,000 คน ซึ่งการมีเครื่องมือคัดกรองนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาที่รวดเร็ว จะลดการทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายได้ในระยะยาว

 

สำหรับขั้นตอนการทดสอบสุขภาพจิตและภาวะซึมเศร้าผ่านฟังก์ชั่นตรวจสุขภาพใจ หรือ DMIND Application นี้ จะเริ่มจากการทำแบบสอบถามเบื้องต้นก่อน จากนั้นระบบจะให้เปิดกล้องพูดคุยกับ “คุณหมอพอดี” ซึ่งเป็นระบบ AI โดยผู้รับการทดสอบสามารถ ระบายความในใจเหมือนกำลังพบกับจิตแพทย์ ซึ่งระบบจะรวบรวมข้อมูลจากการประเมินสีหน้า น้ำเสียง วิเคราะห์เนื้อหา ความวิตกกังวล แล้วประมวลผลออกมา มีการประเมินผลเป็นสีเขียว สีเหลือง สีแดง และให้คำแนะนำต่างๆ  ซึ่งหากอยู่ในเกณฑ์สีแดงที่เสี่ยงฆ่าตัวตายจะมีทีมงานติดต่อเพื่อนัดให้พบจิตแพทย์อย่างเร่งด่วน เพื่อเข้าสู่การรักษาต่อไป






ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลบํารุงราษฎร์ / เว็บรัฐบาล / ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม

ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง