TNN online "หัวใจขี้เกียจ ไม่เต้นตามจังหวะ" เกิดจากอะไร หมออดุลย์ มีคำตอบ

TNN ONLINE

Health

"หัวใจขี้เกียจ ไม่เต้นตามจังหวะ" เกิดจากอะไร หมออดุลย์ มีคำตอบ

หัวใจขี้เกียจ ไม่เต้นตามจังหวะ เกิดจากอะไร หมออดุลย์ มีคำตอบ

นพ.อดุลย์ ไขข้อสงัย "หัวใจขี้เกียจ..ไม่เต้นตามจังหวะ" เกิดจากสาเหตุอะไร รักษาอย่างไร

นพ.อดุลย์ ไขข้อสงัย "หัวใจขี้เกียจ..ไม่เต้นตามจังหวะ" เกิดจากสาเหตุอะไร รักษาอย่างไร


วันนี้( 1 ธ.ค.65) ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก บันทึกเรื่องน่ารู้ by Dr.Adune เรื่อง หัวใจขี้เกียจ โดยระบุว่า


"เพิ่งได้ยินศัพท์คำนี้ จาก fan page ตอน post เรื่องใจสั่น เป็นลม ... น่าสนใจ เป็นภาวะที่หัวใจเต้นช้าผิดปกติ


หัวใจของเรา จะเหมือน เครื่องจักรอัตโนมัติ ที่มี ตัวคอยให้สัญญาณเพื่อบอกให้หัวใจบีบตัวและคลายตัว เป็นจังหวะคลายตัวให้เลือดไหลเข้าหัวใจ และ บีบตัวให้เลือดไหลไปที่ปอด และ ร่างกาย ตัวให้จังหวะนี้อยู่ที่หัวใจห้องบนขวา และ ผนังกั้น ระหว่างห้องหัวใจ (หัวใจ มี 4 ห้อง ห้องบน 2 ห้อง เป็นห้องพักให้เลือดไหลเข้ามา ห้องล่าง 2 ห้อง เป็นห้องที่ไว้บีบเลือดออกไป) 


ตัวให้สัญญาณ ควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ เรียกว่า SA node และ AV node จะส่งสัญญาณออกเป็นช่วงๆ ซึ่งเราสามารถวัดการทำงานได้จากการดู คลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG หรือ ECG  ... ตัวกระตุ้นนี้ จะมีระบบอัตโนมัติ ที่ส่งสัญญาณเอง มักจะไม่ต่ำกว่า 50 ครั้งต่อนาที และ จะทำงานมากขึ้น เมื่อได้รับสัญญาณ จากระบบประสาทอัตโนมัติ ซิมพาเทติก(ซึ่งตอบสนองต่อภาวะที่ร่างกายต้องการพลังงานมากขึ้น) 


SA node และ AV node จะทำงานตลอดเวลาไม่เคยหยุดตลอดชีวิต (ถ้าหยุดหัวใจก็จะหยุดเต้น คือ เสียชีวิต) ตัวให้สัญญาณนี้ได้รับเลือดมาจากเลือดเลี้ยงหัวใจ ซึ่งมีแขนงใหญ่ๆ ด้านซ้าย และ ด้านขวา ถ้าหากเส้นเลือดหัวใจด้านขวา ตีบ เลือดที่มาเลี้ยง SA node น้อยลง หากเส้นเลือดหัวใจด้านซ้ายตีบ เลือดที่มาเลี้ยง AV node จะน้อยลง จะทำให้ตัวให้สัญญาณนี้ผิดปกติ อาจจะทำงานช้า อย่างที่เรียกว่าหัวใจขี้เกียจ


เวลาร่างกายต้องการพลังงานก็ไม่ตอบสนอง ไม่กระตุ้นหัวใจให้บีบตัวเร็วขึ้นตามความจำเป็นที่ต้องใช้งาน ทำให้เกิดอาการเหนื่อย เพราะออกซิจน หรือ เลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่พอ หรือ บางครั้งอาจจะทำงาน รวน เต้นเร็วเกิน เร็วผิดปกติ หลายคนที่เสียชีวิตจากหัวใจขาดเลือด ไม่ได้ เสียชีวิต เพราะกล้ามเนื้อหัวใจไม่มีแรงบีบตัว แต่เสียชีวิตเพราะ ตัวให้สัญญาณ ไม่ทำงาน (เวลาหัวใจขาดเลือด จะมีผลกับทั้งกล้ามเนื้อหัวใจ และ ตัวให้สัญญาณ) 


เหมือนกับ conductor ในวงดนตรี stunt หยุดไปเสียเฉยๆ นักดนตรี ก็ไม่รู้จะเล่นเพลงอะไร เวลาตัวให้สัญญาณหยุดไปเฉยๆกล้ามเนื้อหัวใจ ก็ไม่สามารถบีบตัวให้ประสานกันได้ตามต้องการ


การแก้ไขปัญหา ศูนย์ให้สัญญาณไม่ทำงาน จำเป็นต้อง restart ระบบ เหมือนปิดสวิตช์แล้วเปิดใหม่ ดังนั้นเวลาเจอคนที่หมดสติ จากภาวะหัวใจขาดเลือด ในการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) นอกจากการนวดหัวใจเพื่อช่วยเรื่องการไหลเวียน บางครั้งจำเป็นต้องใช้เครื่องมือ AED ซึ่งจะตรวจจับว่าคลื่นไฟฟ้าหัวใจจากศูนย์ให้สัญญาณยังทำงานปกติอยู่ไหม ถ้าไม่ปกติ เครื่อง AED จะปล่อยกระแสไฟฟ้าเพื่อ restart ระบบ ให้ศูนย์ให้สัญญาณกลับมาทำงานตามปกติ เดี๋ยวนี้ ตามแหล่งชุมชน หรือ จุดที่สำคัญมักจะมีเครื่อง AED ตั้งอยู่ด้วย ไว้สำหรับใช้ช่วยชีวิตในกรณีฉุกเฉิน


หัวใจขี้เกียจ มักจะไม่ได้เพราะมันขี้เกียจเองแต่มักจะมีสาเหตุ ซึ่งควรต้องรักษา หลายกรณีการขาดเลือด ไม่ได้เกิดขึ้นเฉียบพลัน แต่เป็นปัญหาเล็กน้อยระยะยาว หรือ ศูนย์ให้สัญญาณ เสี่อมสภาพตามวัย หรือ ได้รับบาดเจ็บ ในกรณีนี้อาจจะต้องมีการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า หัวใจ ไว้ในร่างกาย และ ให้เครื่องมือเป็นตัวให้สัญญาณ แทน SA node และ AV node"





ที่มา บันทึกเรื่องน่ารู้ by Dr.Adune

ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ