TNN online "น้ำมันปลา" หรือ "โอเมก้า-3" ช่วยสมอง แต่ต้องเริ่มก่อนเกิดอาการ

TNN ONLINE

Health

"น้ำมันปลา" หรือ "โอเมก้า-3" ช่วยสมอง แต่ต้องเริ่มก่อนเกิดอาการ

น้ำมันปลา หรือ โอเมก้า-3 ช่วยสมอง แต่ต้องเริ่มก่อนเกิดอาการ

"น้ำมันปลา" หรือ "โอเมก้า-3" ช่วยสมอง แต่ต้องเริ่มก่อนเกิดอาการ วารสารสมาคมแพทย์อเมริกันทางประสาทวิทยา พบผู้ที่อยู่ระดับที่มีอาการทางสมองแล้ว การอัด DHA เข้าไปก็จะไม่เห็นผลดีนัก

"น้ำมันปลา" หรือ "โอเมก้า-3" ช่วยสมอง แต่ต้องเริ่มก่อนเกิดอาการ วารสารสมาคมแพทย์อเมริกันทางประสาทวิทยา พบผู้ที่อยู่ระดับที่มีอาการทางสมองแล้ว การอัด DHA เข้าไปก็จะไม่เห็นผลดีนัก


ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ให้ความรู้ด้านสุขภาพผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับ "น้ำมันปลา" หรือ "โอเมก้า-3" โดยระบุว่า เกือบทุกคนทราบสรรพคุณของน้ำมันปลา หรือ โอเมก้า-3 โดยมีตัวพระเอกคือ DHA (Docosahexaenoic Acid) และมีพระรองคือ EPA ( Eicosapentaenoic Acid) 

โดยที่ถ้ากินต้องให้ได้ถึงวันละ 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน ทั้งนี้น้ำมันปลาที่ว่าเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง ชนิด PUFA (Polyunsaturated Fatty Acid) ที่เล็งกันมาก ว่าน่าจะมาชะลอโรคที่ทุกคนกลัวเมื่อเริ่มมีอายุตั้งแต่ 50 ปีกว่าๆ ขึ้นไป และจะโผล่มากขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุที่เปลี่ยนไป 

ทั้งนี้ โดยเฉพาะถ้ามีสามผู้ก่อการอันได้แก่ เบาหวาน ความดันสูง ไขมัน และแถมอีกหนึ่ง คือ อ้วน ทั้ง 3-4 ผู้ก่อการมีผลก่อให้เกิดการอักเสบ (ไม่ติดเชื้อ) ในร่างกายและเกิดภาวะความผิดปกติในเส้นเลือด รวมทั้งเส้นเลือดในสมองแม้ยังไม่ตีบตันก็ตาม

ได้แก่ ความสามารถในการยืดหยุ่น หดในเวลาที่ควรหด และขยายในเวลาที่ต้องการ เส้นเลือดเหล่านี้ทั้งแดงและดำ รวมทั้งช่องว่างรอบๆ เส้นแดง และดำ และที่อยู่ระหว่างเซลล์ในสมองประกอบเป็นระบบระบายของเสีย 

ดังนั้นถ้าท่อระบายไม่ดี บวกกับการสร้างที่มากขึ้นในคนที่มีชะตาร้าย “ขยะพิษ” เหล่านี้ยิ่งสะสมเพิ่มมากขึ้นทุกวัน

ตอนนี้ถ้าเราเกิดมีดวงชะตาร้าย ยิ่งมีพันธุกรรมหรือยีนที่ชอบเป็นโรคสมองเสื่อมเข่นอัลไซเมอร์ ทั้งปัจจัยภายนอกจากผู้ก่อการร้าย แถมด้วยบุหรี่ สุราเกินขนาด เกินการดื่มเพื่อสุขภาพ (ชาย 3 หญิง 2 แก้ว ต่อวัน) อัลไซเมอร์ยิ่งมาเยือนได้มากยิ่งเร็วขึ้น

น้ำมันปลา หรือ โอเมก้า-3 ช่วยสมอง แต่ต้องเริ่มก่อนเกิดอาการ

ข่าวร้ายของชาวเราๆ ทั้งหลายทั้งสว.สูงวัยหรือยังไม่สูงวัย เพราะการสะสมขยะพิษจนถึงมีอาการใช้เวลาตั้งแต่ 10-15 ปี ขึ้นไป คือ รายงานในวารสาร Lancet Neurology (27 มีนาคม 2017) จากการศึกษาผู้เข้าร่วมโครงการ 1,680 ราย อายุ 70 ปี หรือมากกว่าที่ยังไม่มีสมองเสื่อมชัดๆ แต่เริ่มมีบ่นถึงความจำหรือเริ่มงกๆ เงิ่นๆ ในชีวิตประจำวันหรือเริ่มมีฝีก้าวในการเดินเริ่มเชื่องช้าลง 

จากการติดตามไป 3 ปี (ระหว่าง 2008-2011) ทั้งที่มีการฝึกสมองด้วยโปรแกรมต่างๆ ด้วยการออกกำลัง ปรับอาหาร และเสริมด้วย DHA 800 มิลลิกรัม และ EPA 225 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเสริมด้วยยาหลอกมาเปรียบเทียบกัน และยังมีกลุ่มที่เสริมด้วยน้ำมันปลาอย่างเดียว โดยไม่มีโปรแกรมเสริมสมอง-ร่างกาย-ปรับอาหาร และกลุ่มที่มีแต่ยาหลอกเฉยๆ

ผลน่าเศร้าคือ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหนก็ตามอัตราการเสื่อมของสมองมิได้แตกต่างกัน ข่าวนี้ทำให้ชาวเราเริ่มห่อเหี่ยว ทั้งๆ ที่คนไทยตอนนี้ก็สามารถเสริมน้ำมันปลาได้จากการกินปลาทู ปลาดุก ปลาสวาย โดยไม่ต้องซื้อน้ำมันปลาหรือต้องไปซื้อปลาแซลมอนมากิน แต่ทั้งนี้ต้องกินกับน้ำพริกกะปิ น้ำปลา น้อยๆ หน่อย เพราะอาจได้เกลือโซเดียมมหาศาลเกิดความดันสูง ไตพังเร็ว เข้าไปอีก

แต่อย่างไรก็ดี ยังมีบทความในวารสารสมาคมแพทย์อเมริกันทางประสาทวิทยา (JAMA Neurology) (17 มกราคม 2017) ออกมา นัยว่าคงได้ระแคะระคาย รายงานฉบับที่กล่าวไว้ก่อนหน้า 

รายงานนี้เจาะจงการวิเคราะห์ผลของน้ำมันปลาต่อคนที่มียีนอัลไซเมอร์แบบ APOE 4 ทั้งนี้ โดยที่ยีนนี้น่าจะประสงค์ร้ายต่อสมองทำให้การระบายขยะพิษ เบต้า-เอมิลอยด์ (Beta Amyloid) จากสมองไปเลือดไม่สะดวก อีกทั้งสมองจะมีการปรับฟื้นฟูได้แย่ถ้าเกิดมีอันตราย 

อีกทั้งยังมีการอักเสบมากกว่าธรรมดา และมีผลกระทบต่อเส้นเลือดในสมอง มีการศึกษามากหลายชี้ว่า ในบรรดาไขมันสมอง DHA เป็นตัวต่อต้านที่สำคัญที่สุดต่อ APOE 4 และอาจจะรวมถึงกลไกที่มาจากผู้ร้ายอื่นๆ ที่ทำให้สมองเสื่อม 

นอกจากนั้น ในสมองของคนอัลไซเมอร์จะมีระดับของ DHA น้อยกว่าคนปกติ โปรตีน APOE 4 จะส่งผ่าน DHA เข้าสมองได้น้อยกว่าปกติ โดยเฉพาะในช่วงก่อนที่เริ่มมีอาการสมองเสื่อม หนำซ้ำในระยะที่เกิดอาการสมองเสื่อมแล้ว จะมีการสลาย DHA ได้มากกว่าธรรมดา

น้ำมันปลา หรือ โอเมก้า-3 ช่วยสมอง แต่ต้องเริ่มก่อนเกิดอาการ

ภาพจาก AFP

กลไกของ APOE 4 ต่อ DHA ในสมองกล่าวโดยสรุปสามารถแยกเป็น 3 ขั้นตอน โดย

ขั้นที่ 1 เกิดจากการที่ DHA เมื่อกินเข้าไปแล้วจะต้องถูกนำพาไปด้วยตัวพาหะ Lipoprotein ในกรณีคนที่มียีนอัลไซเมอร์ APOE 4  Apolipoprotein จะจับกับ VLDL ได้ดีที่สุด และเมื่อ VLDL ผ่านเข้าตับจะถูกทำลายได้เร็วกว่า เมื่อเทียบกับคนที่ไม่มียีนอัลไซเมอร์ โดยที่ระดับของ DHA ในเลือดจะสูงกว่าถึง 31% 

ขั้นที่ 2 DHA จากเลือดต้องผ่านผนังกั้นระหว่างเส้นเลือดกับสมอง โดยใช้ตัวส่งที่เรียกว่า MFSD 2a Transporter คนที่มี APOE 4 จะผิดปกติในการส่งผ่านนี้   

ขั้นที่ 3 ในสมองนอกจากเซลล์ประสาท (Neuron) จะมีเซลล์อื่นผสมผสานช่วยเหลือ เช่น เซลล์ Astrocyte คนที่มียีนร้าย APOE 4 ที่ผิวของเซลล์นี้จะสามารถจับไขมัน เช่น DHA ได้น้อยกว่า 

และทำให้ส่งไปยังเซลล์ประสาทน้อยลง มิหนำซ้ำยังมีโปรตีน ABCA 1 ที่มีประสิทธิภาพน้อยลงในเซลล์ Astrocyte โดยที่ ABCA 1 จะผลักไขมันซึ่งรวมถึง DHA เข้าไปในน้ำหล่อเลี้ยงสมองไปยังเซลล์ประสาทเพื่อไปใช้งานต่อ

คราวนี้เกิดอะไรขึ้น เมื่อมีอาการสมองเสื่อมแล้ว กลไกในสมองยิ่งเลวร้ายหนัก โดยเส้นทางการทำลาย DHA จะเกิดสาร F4-Neuroprostanes การทำลายเกิดจากการที่มีการกระตุ้น Phospholipase A2 (PLA2) และจากผลของการที่มีสารพิษตกตระกอนของ Amyloid ทำให้ DHA หลุดออกจากเซลล์ประสาทเกิดเป็น Unesterified DHA ซึ่งเปลี่ยนเป็น F4-Neuroprostanes 

ฉะนั้นในระดับที่มีอาการแล้ว จะอัด DHA เข้าไปก็จะไม่เห็นผลดีนัก

ที่กล่าวถึงกลไกซับซ้อนเงื่อนเหล่านี้ เพื่อให้พวกเราเข้าใจว่าการจะใช้ไม่ว่ายา อาหาร อาหารเสริม ควรต้องรู้กลไกเบื้องหลังของสารนั้นๆ และตัวโรค 

ขั้นตอนของโรคแต่ละตอนจะมีกลไกระบบต่างๆ ออกไป การจะสรุปว่าได้ผลหรือไม่ได้ผลจะไม่ตรงไปตรงมา แต่ต้องเลือกว่าจะให้อะไร เมื่อไร โดยพิจารณาอาการดูครอบครัวว่ามีใครเป็นมาก่อน และเริ่มให้แต่เนิ่นๆ ก่อนที่ผู้ร้ายจะแสดงตนเต็มเหนี่ยว

น้ำมันปลา หรือ โอเมก้า-3 ช่วยสมอง แต่ต้องเริ่มก่อนเกิดอาการ

สำหรับ "โอเมก้า 3" (Omega-3 fatty acids) เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนที่จำเป็นต่อการทำงานของสมองและร่างกาย แต่ร่างกายกลับไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้เอง จึงต้องรับโอเมก้า 3 จากอาหารที่กินเข้าไปเท่านั้น กรดไขมันโอเมก้า 3 แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ กรดไขมัน แอลฟา - ไลโนเลนิก (Alpha-Linolenic acid: ALA) กรดไขมัน ดีเอชเอ (Docosahexaenoic acid: DHA) และกรดไขมัน อีพีเอ (Eicosapentaenoic acid: EPA)

โอเมก้า 3 พบมากใน ปลาสวาย ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาจะละเม็ดขาว ปลาทู ปลาช่อน หอยนางรม ฯ ถั่วและเมล็ดพืช เช่น เมล็ดเจีย เมล็ดแฟลกซ์ วอลนัท หรือเมล็ดฟักทอง ถั่วเหลือง นมวัว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันคาโนลา

โอเมก้า 3 ขนาดการกินที่เหมาะสม ในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี ประมาณ 250-500 มก. ต่อวัน แต่สำหรับผู้ที่มีความต้องการเป็นพิเศษบางอย่าง เช่น ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ หรือผู้ที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์สูง ก็อาจจะต้องกินโอเมก้า3 มากขึ้นประมาณ 1,000-1,300 มก. ต่อวัน อยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์

ประโยชน์ของการกินโอเมก้า 3 ช่วยลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือด ลดการเกาะตัวของเกล็ดเลือดทำให้เลือดไม่เกาะตัวกันเป็นลิ่มป้องกันการแข็งตัวของเลือดไปอุดตันของหลอดเลือด ลดความหนืดของผนังหลอดเลือด

ทำให้ผนังหลอดเลือดมีความยืดหยุ่น หลอดเลือดขยายตัวได้ดี ทำให้การไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆได้ดีและการระบายของเสียได้สะดวกขึ้น ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของหัวใจและหลอดเลือดหัวใจสมอง.


ข้อมูลจาก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

ภาพจาก TNN Online

ข่าวแนะนำ