TNN online พบ"หินปูนที่เต้านม" ห้ามกินแคลเซียม จริงหรือ หมออดุลย์ มีคำตอบ?

TNN ONLINE

Health

พบ"หินปูนที่เต้านม" ห้ามกินแคลเซียม จริงหรือ หมออดุลย์ มีคำตอบ?

พบหินปูนที่เต้านม ห้ามกินแคลเซียม จริงหรือ หมออดุลย์ มีคำตอบ?

"หมออดุลย์" ไขข้อสงสัย พบจุด "หินปูนที่เต้านม ห้ามกินแคลเซียม" จริงหรือ? เผย กินแคลเซียมแล้วจะไปเก็บที่ไหนของร่างกาย

"หมออดุลย์" ไขข้อสงสัย พบจุด "หินปูนที่เต้านม ห้ามกินแคลเซียม" จริงหรือ? เผย กินแคลเซียมแล้วจะไปเก็บที่ไหนของร่างกาย


วันนี้( 25 ต.ค.65) ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก บันทึกเรื่องน่ารู้ by Dr.Adune เรื่อง พบจุดหินปูนที่เต้านม ห้ามกินแคลเซียม... ไม่จริง โดยระบุว่า


"หมอค่ะ ไม่กล้ากินแคลเซียม มาเป็นปีแล้ว ตั้งแต่ที่หมอบอกว่า มีจุดหินปูนที่เต้านม พบจากการตรวจแมมโมแกรม” ต้องรีบอธิบายเลย

-หินปูน คือ แคลเซียมตัวเดียวกันครับ  แต่ แคลเซียม มีอยู่ในร่างกายตามธรรมชาติอยู่แล้ว และ แคลเซียมส่วนใหญ่ มากกว่า 98% อยู่ในกระดูก แต่แคลเซียมในเลือดก็จำเป็น 

ในกล้ามเนื้อก็มี เวลาแคลเซียมในกล้ามเนื้อต่ำ หรือ ในเลือดต่ำ จะเกิดอาการเป็นตะคริว (กล้ามเนื้อหดเกร็งแล้ว ไม่ยอมคลายตัว เพราะไม่มีแคลเซียมไปปลดล็อคการหดตัวของกล้ามเนื้อ) หรือ ถ้าต่ำมากๆก็ทำให้ หัวใจหยุดเต้น 


ขณะเดียวกัน หาก แคลเซียมในร่างกายเกินก็มีอันตรายเหมือนกัน หัวใจอาจจะเต้นผิดปกติและหยุดเค้นได้เช่นกัน ร่างกายจึงมีระบบการควบคุมปริมาณ แคลเซียมในร่างกาย ให้พอดีภายใต้การทำงานของต่อมไร้ท่อ พาราไทรอยด์ และไทรอยด์ ดังนั้นถึงแม้เราจะกินแคลเซียมเข้าไปมากเท่าไหร่ แคลเซียมก็ไม่เกินเพราะร่างกายจะนำไปเก็บที่กระดูก .และที่สำคัญไม่มีระบบการนำแคลเซียมไปเก็บที่เต้านม

-การพบจุดหินปูน หรือ แคลเซียมที่เต้านม จึงไม่ได้เกิดจากการกินแคลเซียม หรือ กินแคลเซียมเยอะเกินไป เพราะถ้ากินเยอะจะไปเก็บที่กระดูกไม่ใช่ที่เต้านม


-แล้วจุดหินปูน หรือ แคลเซียมที่เต้านมมาได้ยังไง โดยทั่วไป เต้านม เป็นท่อที่มีเยื่อบุผิวห่อหุ้มอยู่ด้านใน เหมือนในช่องปาก จมูก หรือ รูทวาร เมื่อมีเยื่อบุผิวก็ย่อมต้องมีการหลุดลอก ซึ่งที่ผิวหนังปกติของคนเรา จะลอกกลายเป็นขี้ไคลแต่ในท่อน้ำนม การหลุดลอกจากน้อยและช้า เมื่อลอกออกมาน้ำหล่อลื่นในท่อน้ำนมจะค่อยๆขับเซลล์เยื่อบุผิวที่ตายแล้วให้ไหลออกมาทางหัวนม แต่เนื่องจากออกมาน้อย และ ช้ามากเราจึงไม่สามารถสังเกตได้ว่า มีอะไรออกมาจากหัวนม


แต่ในกรณีที่มีความผิดปกติ หรือ มีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วกว่าปกติในเต้านม การขับขี้ไคลนี้ เป็นไปได้ช้า และ ไม่ทันจึงมีเซลล์ตายตกค้างอยู่ในเนื้อเต้านม ซึ่งเซลล์กำจัดขยะของร่างกาย (macrophage) ไม่สามารถทะลุผ่านผนังท่อน้ำนมได้ จึงไม่สามารถนำเซลล์ที่ตายแล้วในท่อน้ำนมไปทิ้งได้ เกิดการเน่าเปื่อยขึ้น และ วิธีควบคุมการเน่าเปื่อยของร่างกาย คือ การนำแคลเซียม หรือหินปูนไปพอกเซลล์ที่ตายแล้วไม่ให้ส่งของเสียออกมา 


เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในเต้านม เราจึงเห็นจุดหินปูน จากการตรวจแมมโมแกรม ซึ่งภาวะที่มีหินปูนในเต้านม อาจจะไม่มีโรคเลย หรือ เป็นส่วนหนึ่งของซีสเต้านม หรือ เป็นมะเร็งเต้านม แพทย์จะทำหน้าที่วินิจฉัย บอกว่า หินปูนแบบไหนเป็นโรคอะไร


-แต่ที่แน่ๆ คือ หินปูนที่พบในเต้านม ไม่ได้เกิดจากการกินแคลเซียมเข้าไป กินแคลเซียม กินนมได้ #แชร์กันอีกครั้ง Facebook ที่เคย post ไว้ หาไม่เจอ"





ที่มา บันทึกเรื่องน่ารู้ by Dr.Adune

ภาพประกอบข่าว TNN Online / AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง