TNN online เปิด 4 เทคนิคง่ายๆ ‘กินอาหารบำรุง ’ ลดเสี่ยงโรคหัวใจ

TNN ONLINE

Health

เปิด 4 เทคนิคง่ายๆ ‘กินอาหารบำรุง ’ ลดเสี่ยงโรคหัวใจ

เปิด 4 เทคนิคง่ายๆ ‘กินอาหารบำรุง ’ ลดเสี่ยงโรคหัวใจ

กรมอนามัย เปิด 4 เทคนิคเลือก ‘กินอาหารบำรุง’ ทำต่อเนื่องให้เป็นนิสัย ลดเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ-โรคหลอดเลือด

วันนี้ ( 30 ก.ย. 65 )นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการตายอันดับต้น ๆ ของคนทั่วโลก สาเหตุหนึ่งของปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด คือ อาหารและกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เนื่องในวันหัวใจโลก (World Heart Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 29 กันยายน ของทุกปี กรมอนามัยมีข้อแนะนำเพื่อช่วยให้หัวใจแข็งแรง ดังนี้ 

1.กำหนดปริมาณ และสัดส่วน  อาหารในจานให้เหมาะสม ไม่ให้มากเกินไป ควรมีผัก 2 ส่วน ข้าวและเนื้อสัตว์อย่างละส่วน เลี่ยงหรือลดอาหารที่มีแคลอรีและมีโซเดียมสูง เช่น อาหารแปรรูป หรืออาหารจานด่วน เพิ่มการกินผักและผลไม้ เพราะเป็นแหล่งวิตามินแร่ธาตุต่างๆ ให้พลังงานต่ำ แต่อุดมด้วยใยอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ในกลุ่มข้าวแป้ง ควรเลือกชนิดไม่ขัดสีหรือขัดสีน้อย เช่น ข้าวกล้อง ธัญพืชเต็มเมล็ด คีนัว เป็นต้น เพราะเป็นแหล่งที่ดีของเส้นใยอาหารและสารอาหารอื่น ๆ ที่มีบทบาทในการควบคุมน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต และสุขภาพของหัวใจ

2.จำกัดปริมาณไขมันอิ่มตัว และไขมันทรานส์ เพื่อช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด ทำให้ลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ เพราะการมีระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูงอาจนำไปสู่การสะสมของคราบไขมันที่ผนังหลอดเลือด เสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดตีบ หรือหลอดเลือดอุดตัน และเลือกกินโปรตีนไขมันต่ำ เช่น โปรตีนจากพืช เต้าหู้ หรือ ปลา แนะนำเป็นปลาที่มีไขมันดี (Omega-3) เช่น แซลมอน ปลาทู ปลากะพง เป็นต้น หากกินเนื้อสัตว์ชนิดอื่น ควรกินส่วนที่ไม่ติดมัน และหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์แปรรูปทุกรูปแบบ

3. จำกัดปริมาณน้ำตาล และโซเดียม โดยในหนึ่งวันไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา งดหรือลดอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำผลไม้ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชง และขนมหวาน การปรุงรสเค็มในอาหารจำกัดเกลือ ไม่เกิน 1 ช้อนซาต่อวัน เทียบเท่ากับชีอิ๊วขาว หรือน้ำปลาไม่เกิน 4 ช้อนชาต่อวัน 

 4.งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ  การสูบบุหรี่ เพราะทำให้ไขมันเลวหรือคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (Low density lipoprotein หรือ LDL) สูงขึ้น ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความดันโลหิตและไขมันในเลือด ทั้งนี้ ควรออกกำลังกายระดับปานกลางอย่างสม่ำเสมอให้เป็นนิสัย เช่น เดินเร็ว วิ่งจ๊อกกิ้ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เป็นต้น ไม่ควรออกกำลังกายหนัก หรือหักโหมเกินไป แต่ควรทำให้ต่อเนื่อง ประมาณ 20 – 45 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 – 4 ครั้ง การออกกำลังกายเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง จะทำให้หลอดเลือดหัวใจแข็งแรงขึ้น และกระตุ้นการไหลเวียนเลือด ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือชะลอความรุนแรงโรคได้

ข้อมูลจาก  : กรมอนามัย

ภาพจาก  :  AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง