TNN online "โรคเบาหวาน" ทำไมถึงน่ากลัว สังเกตตัวเองด่วนมีอาการแบบนี้หรือยัง?

TNN ONLINE

Health

"โรคเบาหวาน" ทำไมถึงน่ากลัว สังเกตตัวเองด่วนมีอาการแบบนี้หรือยัง?

โรคเบาหวาน ทำไมถึงน่ากลัว สังเกตตัวเองด่วนมีอาการแบบนี้หรือยัง?

"หมออดุลย์" อธิบายชัดทำไม "โรคเบาหวาน" ถึงน่ากลัว อาการเป็นอย่างไร ควรกินหรืองดอะไร เช็กรายละเอียดที่นี่

ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก บันทึกเรื่องน่ารู้ by Dr.Adune เรื่อง โรคเบาหวาน โดยระบุว่า

"ทำไมเบาหวานถึงน่ากลัว

-เรามีคนรู้จัก หรือคนในครอบครัว ที่เป็นเบาหวาน กันเกือบทุกคน  และ เราก็เห็นคนเหล่านั้น ส่วนใหญ่ เดินไป เดินมา ทำงานได้ ใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ รู้แต่ว่า เวลาไปตรวจเลือด ไปหาหมอ หมอก็มักจะบอกให้คุมน้ำตาลในเลือด ให้กินยา ให้คุมอาหาร หน้าตาของหมอเบาหวานส่วนใหญ่ ซีเรียส แต่ เราก็ไม่เห็นคนเป็นเบาหวานเป็นอะไรเลย ไม่รู้จะ ซีเรียสกันไปทำไมให้มากมายมาลองดูข้อเท็จจริงกันหน่อยว่าทำไม หมอเบาหวาน ถึง ซีเรียสกับเรื่องเบาหวานนัก


-น้ำตาลสูงในเลือด ก่อเรื่องวุ่นวายให้กับร่างกาย และ ทำให้หมอๆ เป็นห่วงคนไข้ที่เป็นเบาหวาน น้ำตาลสูง สร้างปัญหาผ่านเป้าหมายหลัก ที่เสียหายจากเบาหวานเพียงอย่างเดียว คือ ผนังหลอดเลือดครับ น้ำตาลในเลือดสูง สร้างความเสียหายให้กับหลอดเลือดครับ มีการศึกษาเรื่องนี้อย่างชัดเจน


-หลอดเลือดทั่วร่างกาย โดยเฉพาะ หลอดเลือดฝอย ซึ่งเป็นส่วนปลายสุดที่นำอาหารไปเลี้ยงเนื้อเยื่อ จะมีโครงสร้าง ที่เป็นเซลล์เยื่อบุชั้นบางๆ

คลุมที่ด้านในผนังหลอดเลือด (คล้ายกับเยื่อบุกระพุ้งแก้มที่คลุมในช่องปาก แต่เยื่อบุผนังหลอดเลือด คลุมด้านในหลอดเลือด) เยื่อบุผนังหลอดเลือด หรือที่ศัพท์การแพทย์ 

เรียกว่า endothelium เป็นส่วนที่สัมผัสกับเลือดอยู่ตลอดเวลา และ มีการยืดหดตัว 


เพื่อรักษาความดันในเส้นเลือด ป้องกัน การรั่วไหลของเลือด หรือ น้ำเหลืองออกนอกเส้นเลือด และ เป็นตัวกระตุ้นให้มีเกร็ดเลือดมาเกาะตัว เวลาที่เส้นเลือดได้รับบาดเจ็บหรือมีเลือดออก จะเห็นว่า เยื่อบุผนังหลอดเลือด ทำงานมาก และ มีความสำคัญมากจึงต้องมีความแข็งแรง และ หนึ่งในสารเคมีที่ถูกสร้างออกจากผนังหลอดเลือด คือ NO (nitric oxide) ซึ่งเป็นหนึ่งในตระกูลสารต้านอนุมูลอิสระ ผนังหลอดเลือด ที่แข็งแรง และ ปกติ จะสามารถผลิต สาร NO ออกมาเมื่อได้รับสารที่เป็นพิษ หรือ ได้รับอันตราย หรือบาดเจ็บ เรียกระบบที่ผลิต NO นี้ว่า eNOS (endothelial nitric oxide synthase)นั่นคือ หากวัดปริมาณ eNOS ที่ผนังหลอดเลือด ก็จะรู้ว่า หลอดเลือดนั้น แข็งแรงไหม พร้อมที่จะเผชิญ กับ สารพิษ หรือ พยันตรายที่จะมาทำร้ายผนังหลอดเลือดหรือไม่ ถ้ามีน้อย ไม่ดี ถ้ามีมาก ถือว่าดี


โรคเบาหวาน ทำไมถึงน่ากลัว สังเกตตัวเองด่วนมีอาการแบบนี้หรือยัง? ภาพจาก รอยเตอร์

 


-มีการทดลอง นำเซลล์ของผนังหลอดเลือดหัวใจมาเลี้ยงในหลอดทดลอง และ เลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่สารน้ำมีระดับน้ำตาลปกติ และ ระดับน้ำตาล สูง นาน 7 วัน พร้อมกับ ทดลอง ในสภาพ ที่มี อินซูลิน (สารควบคุมระดับน้ำตาล) และ กลูคากอน (สารที่ดึงน้ำตาลไปใช้) จากนั้น ตรวจวัดหาความแตกต่างของระดับ eNOS ในการศึกษาพบว่า ในสภาพแวดล้อมที่มีน้ำตาลสูง ปริมาณ eNOS จะต่ำกว่าปกติ และ ในสภาพที่มี อินซูลิน และ กลูคากอน จะมี eNOS ดีขึ้น ถึงแม้ว่า จะมีน้ำตาลในเลือดสูงก็ตาม แต่ ก็ยังดีไม่เท่าปกติ 

จากข้อมูลตรงนี้ แสดงให้เห็นว่า หากน้ำตาลในเลือดสูง เยื่อบุผนังหลอดเลือด จะมีความเสี่ยงที่จะเสียหายได้ง่าย และ ซ่อมแซมตัวเองได้น้อย เพราะไม่มีสารต้านอนุมูลอิสระมาคอยช่วยเหลือ นั่นคือ น้ำตาลสูง ผนังหลอดเลือด จะเสื่อม และ เสียหายง่าย และ ซ่อมยาก กว่าปกติ


-จากการศึกษานี้ ทำให้เรารู้ว่า หากจะให้เส้นเลือดแข็งแรง ต้องมีระดับน้ำตาลในเลือดในเกณฑ์ปกติ น้ำตาลในเลือดสูงเมื่อไหร่ ความเสี่ยงที่เส้นเลือดเสียหายจะเกิดทันที เพียงแต่ ความเสี่ยงนี้ จะค่อยๆส่งผลช้าๆไม่ใด้ใช้เวลาเป็นวัน แต่ใช้เวลาเป็นปี เมื่อเส้นเลือดเสียหาย ทั้งเส้นเลือดที่ตา (จอประสาทตาเสื่อม) ที่ไต (ไตวาย) ที่เท้า(เท้าเป็นแผลไม่หาย) ที่หัวใจ(เส้นเลือดหัวใจตีบ) ที่สมอง (เส้นเลือดสมองอุดตัน หรือ แตก) ฯลฯ ทุกโรค เป็นผลจากเบาหวาน หรือ การปล่อยให้น้ำตาลในเลือดสูง เส้นเลือดฝอยในอวัยวะต่างๆเสียหาย และซ่อมแซมตัวเองไม่ได้ครับ


-ร่างกายเรารู้เรื่องนี้ดี จึงให้มี อินซูลินมาคอยควบคุมระดับน้ำตาล แต่ความสามารถของอินซูลินในการควบคุมน้ำตาลในเลือด มีจำกัด ทำได้แค่ประมาณหนึ่งเท่านั้น ยิ่งเราอายุเยอะขึ้น ความสามารถในการผลิตอินซูลินก็ยิ่งลดลง ยิ่งเราใช้อินซูลินมากเท่าไหร่ ปริมาณอินซูลินก็ยิ่งเหลือน้อยเท่านั้น หากเรากินของหวานไม่ยั้ง ไม่ช่วยอินซูลิน ในการควบคุมน้ำตาล น้ำตาลก็จะสูง และ เข้าสู่วงจรของการเสียหายของเส้นเลือด และ ผลจากภาวะเบาหวาน จะปรากฏให้เราเห็นในโอกาสต่อไป ถึงตอนนั้น เส้นเลือดที่เสียหายไปแล้ว ก็ซ่อมไม่ได้แล้วครับ


-เข้าใจ และ ดูแลเบาหวานอย่างถูกหลักกัน เข้าใจหมอเบาหวานแล้วนะว่า ทำไมเขาถึงเป็นห่วงเรามากขนาดนี้ เพราะเขามองเห็น ว่าเส้นเลือดในร่างกายเรา จะเสียหายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากปล่อยให้น้ำตาลในเลือดสูงตลอด"


ขณะที่ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลกและสหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ ได้กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day)   เพื่อให้องค์กรสาธารณสุขทั่วโลกได้เห็นความสำคัญในการป้องกันและควบคุมโรคเบาหวาน แม้โรคเบาหวาน  จะไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่สามารถป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนได้ ถ้าคุมระดับน้ำตาลและน้ำหนักตัวได้เป็นอย่างดี ทำให้ผู้เป็นโรคเบาหวานสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ มีความสุข 


โดยผู้เป็นโรคเบาหวานส่วนใหญ่จะยังไม่รู้ตัว จนกว่าจะแสดงอาการ เช่น น้ำหนักลด ปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย แผลหายช้า อ่อนเพลีย ชาปลายมือปลายเท้า สายตาผิดปกติ ซึ่งเกิดจากน้ำตาลในเลือดสูง หากปล่อยไว้เป็นระยะเวลานาน อาจเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆตามมา อาทิ หลอดเลือดหัวใจอุดตันทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เบาหวานขึ้นจอประสาทตาจนทำให้ตาบอด โปรตีนรั่วในปัสสาวะจนนำไปสู่โรคไตเสื่อม หลอดเลือดสมองอุดตันหรือแตก ทำให้เกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต และสตรีมีครรภ์ที่เป็นโรคนี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ อาจเกิดการแท้งบุตรได้


โรคเบาหวาน ทำไมถึงน่ากลัว สังเกตตัวเองด่วนมีอาการแบบนี้หรือยัง? ภาพจาก AFP

 


การควบคุมอาหาร 

โดยรู้จักเลือกกินอาหารที่เหมาะสมในปริมาณที่ถูกสัดส่วนกับความต้องการของร่างกายเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะยาเบาหวานโดยทั่วไปมีประสิทธิภาพ ในการควบคุมน้ำตาลจากอาหารได้เพียง

 45–60 กรัมต่อมื้อ คิดเป็นข้าวสวยไม่เกิน 3–4 ทัพพี เท่านั้น ในขณะที่อาหารตามสั่งทั่วไปอาจให้ข้าวมากกว่า 4 ทัพพี ซึ่งมีน้ำตาลมากกว่าที่ยาจะควบคุมได้ จึงควรเลือกเปลี่ยนข้าวขาวเป็นข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท หรือธัญพืชไม่ขัดสี จะช่วยให้ได้รับใยอาหารเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ร่างกายดูดซึมน้ำตาลช้าลง ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ แต่ยังจำเป็นต้องควบคุมปริมาณเช่นเดียวกับข้าวขาว จึงไม่ควรกินธัญพืชเพิ่มจากข้าว เช่น ข้าวกับผัดฟักทอง หรือ ข้าวกับผัดวุ้นเส้น เป็นต้น 


นอกจากนี้ ควรงดกินน้ำตาลเกินจำเป็น เลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น ผลไม้หวานจัด น้ำหวาน น้ำอัดลม ควรเลือกผลไม้ชนิดที่ไม่หวานจัดในปริมาณที่เหมาะสม เช่น กล้วย แอปเปิลเขียว 

ฝรั่ง ส่วนนมจืดนั้นไม่ควรดื่มเกิน 1 แก้วต่อวัน เนื่องจากนมวัวมีน้ำตาลตามธรรมชาติอยู่แล้ว เช่นเดียวกับนมไขมันต่ำพร่องมันเนย หรือนมไม่มีไขมัน ซึ่งลดเฉพาะปริมาณไขมันแต่มีน้ำตาลเหมือนเดิม สำหรับนมเปรี้ยวส่วนใหญ่จัดเป็นเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในปริมาณสูง จึงไม่ควรกินทุกวัน


ทั้งนี้ การออกกำลังกายสม่ำเสมอจะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด สามารถลดปริมาณการใช้ยาหรือการฉีดอินซูลินได้ ควรออกกำลังกายที่ไม่ใช้แรงกระแทก หรือมีแรงกระแทกต่ำ เช่น เดิน ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ  หรือเลือกความหนักของการออกกำลังกายที่เหมาะสม หากมีอาการเหนื่อย ให้ลดความเร็วลงหรือหยุดพักแล้วค่อยเดินต่อ ไม่ควรเปลี่ยนท่าทางอย่างรวดเร็ว ไม่ควรเดินเท้าเปล่า เลือกรองเท้าที่เหมาะสมกับการออกกำลังกาย หมั่นตรวจดูแลสุขภาพเท้าเป็นประจำ ไม่ให้เกิดแผล ไม่ควรออกกำลังกายในที่ร้อนจัดหรือชื้น ให้จิบน้ำเป็นระยะ ทุก 10 – 15 นาที     ที่สำคัญ ควรระวังระดับน้ำตาลในเลือด 


โดยเฉพาะผู้เป็นเบาหวานที่ใช้ยาฉีดอินซูลิน ควรมีระดับน้ำตาลในช่วง 100 – 250 มิลลิกรัม/เดซิลิตร สำหรับผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป หรือมีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูง หรือผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย ให้ตระหนักตนเองว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อ การเป็นโรคเบาหวาน จึงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพทุกปี เพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ถือเป็นการเฝ้าระวังสุขภาพตนเองอีกทางหนึ่งด้วย” อธิบดีกรมอนามัย  กล่าวในที่สุด







ที่มา บันทึกเรื่องน่ารู้ by Dr.Adune / กรมอนามัย

ภาพจาก รอยเตอร์

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง