TNN online "ดื่มเหล้าสมองพัง" หมอธีระวัฒน์ ไขข้อสงสัย วิตามินช่วยได้หรือไม่?

TNN ONLINE

Health

"ดื่มเหล้าสมองพัง" หมอธีระวัฒน์ ไขข้อสงสัย วิตามินช่วยได้หรือไม่?

ดื่มเหล้าสมองพัง หมอธีระวัฒน์ ไขข้อสงสัย วิตามินช่วยได้หรือไม่?

นพ.ธีระวัฒน์ โพสต์ข้อมูลสำคัญเรื่อง "กินเหล้าสมองพัง-วิตามินจะช่วยได้ไหม?" หลังพบคนไทยดื่มเหล้า-แอลกอฮอล์หนักและมากขึ้นเรื่อยๆ

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ “หมอธีระวัฒน์” ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับ ผู้ดื่มเหล้า หรือ ดื่มแอลกอฮอล์


โดยระบุข้อความว่า "กินเหล้าสมองพัง-วิตามินจะช่วยได้ไหม? หมอดื้อ ประเทศไทยประสบปัญหาผู้คนดื่มเหล้าแอลกอฮอล์หนัก และมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งๆที่มีมาตรการกระบวนการมโหฬารในการตัดโฆษณา ประชาสัมพันธ์ รวมกระทั่งถึงบทลงโทษต่าง ๆ แม้แต่ถ่ายรูปลง โซเชียล ก็มีความผิด


แต่กระนั้นเองดูเหมือนว่าปัญหากลับไม่ได้น้อยลง ทั้งนี้เห็นได้จากผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ และกระทบกับร่างกายทุกอวัยวะ ตับอักเสบเฉียบพลันจนตับวายเสียชีวิต หรือตับแข็ง ทำให้การกำจัดของเสียของร่างกายผิดบกพร่องไปและส่งผลทำให้เฉื่อยชา เชื่องช้าและอาจทำให้ถึงกับไม่รู้สึกตัวและการที่ตับแข็งทำให้มีทางเดินของเลือดผ่านตับแปรปรวน เม็ดเลือดมีจำนวนลดลงผิดปกติ และมีการโป่งพองของเส้นเลือดในหลอดอาหารสุ่มเสี่ยงกับการแตก มีเลือดออกต้องรักษากันวุ่นวาย จนถึงเสียชีวิต


ประเด็นของการลดการติด การดื่มของคนที่ดื่มอยู่แล้ว แต่ดื่มจนติดและป้องกันนักดื่มหน้าใหม่คงจะต้องเริ่มพิจารณาแยกเป็นกลุ่มอายุ และเพศและสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ต้องดื่ม ต้องการดื่มอยู่ตลอด ซึ่งก็มีตัวกำหนดทางพันธุกรรมร่วมอยู่ด้วย การแก้ปัญหา ด้วยวิธีเหมารวมอย่างที่ทำในปัจจุบันอาจจะไม่ได้ผลทั้งหมดและต้องมีกลยุทธ์ให้ชัดเจนตรงประเด็นมากขึ้น


สำหรับผลกระทบทางด้านสมองเกิดกับคนที่ดื่มตลอด และเป็นผลสะสมระยะยาว รวมทั้งในคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ขนาดหนักจนไม่รู้สึกตัว ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้จากดื่มครั้งคราว แต่เข้มข้น (binge drinker)  (โดยที่ในกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะเกิดเส้นเลือดแตกภายใน 24 ชั่วโมงด้วย ) หรือดื่มเป็นประจำในปริมาณสูงตลอดและมากเกินขีดในวาระนั้น เกิดภาวะพิษจากการดื่มมากเกินขีด (alcohol intoxication)


ยังมี ความผิดปกติในสมองที่มีลักษณะจำเพาะโดยมีการเคลื่อนไหวของลูกตาผิดปกติการควบคุมการเคลื่อนไหวของแขนขาแปรปรวนแกว่งไปมา (Wernicke’ s encephalopathy) และเมื่อรอดฟื้นขึ้น กลับมีความจำเลอะเลือน จำอะไรไม่ได้และสร้างเรื่องขึ้นมาเอง ซึ่งศัพท์ทางวิทยาศาสตร์เรียกเป็น “ตอแหล” (confabulation) โดยปรากฏการณ์นี้เรียกเป็นภาษาแพทย์คือ Korsakoff’s psychosis และพิสูจน์ชัดเจนว่าเกี่ยวเนื่องกับการขาดวิตามินบีหนึ่ง ทั้งนี้ โดยที่ถ้ารักษาไม่ทันตั้งแต่ต้น ความผิดปกติในเนื้อสมองนั้นจะเกิดขึ้นถาวรและฟื้นฟูกลับไม่ได้ เกิดเป็นสมองเสื่อมแบบ อัลไซเมอร์ เฉียบพลัน


นอกจากนั้น ผลที่สะสมต่อเนื่องทำให้เกิดมีสมองเสื่อมอย่างช้าๆ และสมองส่วนหลังที่ท้ายทอยฝ่อ (atrophy ของ cerebellar vermis) ยืนทรงตัวไม่ได้ และสมองกลีบขมับทางด้านใน (hippocampus) ฝ่อ และการฝ่อจะลุกลามไปทั่วสมอง ถึงแม้ว่าผลสะสมต่อเนื่องเหล่านี้จะสามารถอธิบายได้ระดับหนึ่ง จากแอลกอฮอล์โดยตรง แต่การศึกษาในระยะต่อมา รวมกระทั่งถึงการศึกษาในสัตว์ทดลอง พบว่ามีกระบวนการอย่างอื่นที่เป็นตัวสำคัญที่ทำให้เกิดผลร้ายดังกล่าว และไม่ใช่แต่เซลล์สมองอย่างเดียวเท่านั้น แต่รวมถึงความผิดปกติของเส้นใยที่เชื่อมโยงเซลล์ประสาทในส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน และกระทบปลอกหุ้มประสาททำให้สมองส่วนสีขาวมีความผิดปกติไปด้วย


กลไกที่เป็นที่ยอมรับขณะนี้ ในการทำให้เกิดสมองเสื่อม คือการอักเสบ ซึ่งอาจจะเกิดจากการติดเชื้อในร่างกายเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็นข้ออักเสบ เหงือกอักเสบ เป็นต้น หรือการอักเสบที่ได้จากการกินอาหาร เนื้อแดง ไข่แดง โดยขาดการกินผักผลไม้ กากใย และถูกปรับเปลี่ยนโดยแบคทีเรียในลำไส้ให้เป็นสารอักเสบเข้าในเลือดและทะลุ เข้าไปในเนื้อสมอง และจากการได้รับสารเคมีที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำและอาหาร ตลอดจนมลพิษในสิ่งแวดล้อมและในอากาศที่รู้จักกันดีก็คือฝุ่นพิษ 2.5 ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ยังทำให้สมดุลของการทำงานสัมพันธ์ระหว่างลำไส้ ตับและสมองแปรปรวน


การศึกษาในขั้นลึกขึ้นไปอีกพบว่า มีการสะสมของธาตุเหล็กมากขึ้นในสมองที่มีภาวะเสื่อม  (iron dyshomeostasis) ซึ่งจะมีผลโดยตรงทำให้เซลล์สมองตายหรือไปกระตุ้นเซลล์อื่น ๆ (เช่น macrophage) ให้ปล่อยสารอักเสบทำลายเนื้อสมอง


การศึกษาในคนที่ดื่มเหล้าเรื้อรัง พบหลักฐานที่มีการขาดสมดุลของธาตุเหล็กในร่างกาย เช่นมีการแสดงออกของสาร hepcidine ลดลง มีการเพิ่มขึ้นของการดูดซึมธาตุเหล็กจากลำไส้เนื่องจากผนังลำไส้แปรปรวนและส่งผลทำให้มีการอักเสบในตับและเกิดพังผืดจนกระทั่งตับแข็ง


ในสมองพบความผิดปกติเช่นเดียวกัน ในการศึกษาคนที่ได้รับผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์โดยติดมาตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป จะพบว่ามีการทำงานของสมองแปรปรวน จากการวิเคราะห์ด้วย functional MRI ทั้งนี้มีความสัมพันธ์กับตำแหน่งที่มีการสะสมของธาตุเหล็กมากเกินไป (iron sensitive Quantitative susceptibility maps) ที่สมอง striatum globus pallidus  cerebellar dentate nucleus


วิตามินบีหนึ่ง เกี่ยวข้องอย่างไรกับเรื่องนี้ มีข้ออธิบายได้หลายประการ ทั้งนี้ เนื่องจากวิตามินบีหนึ่งนั้นเป็นวิตามินที่ละลายน้ำและทำหน้าที่ในการช่วยเมตาบอลิซึมของ แป้ง และกรด อมิโน (Branched amino acid) คนที่ดื่มเหล้าในระยะยาวนาน จะมีการพร่องวิตามินบีหนึ่ง รวมกระทั่งถึงการทำงานของวิตามินบีหนึ่งในร่างกายผิดปกติ ทั้งนี้จากการกินอาหารที่ขาดวิตามิน ลำไส้ดูดซึมไม่ดี จากการที่ตับไม่สามารถเปลี่ยนวิตามินบีหนึ่งให้เป็นวิตามินที่พร้อมทำงาน (thiamine pyrophosphate)


จากผลของการขาดวิตามินบีหนึ่ง จะทำให้ผนังของเส้นเลือดในสมอง (blood brain barrier) รั่วและยอมปล่อยผ่านธาตุเหล็กให้เข้ามาในเนื้อสมองมากขึ้น การศึกษาในสัตว์ทดลองโดยการให้สารที่ยับยั้งวิตามินบีหนึ่ง (เช่น oxythiamine) จะทำให้เกิดการรั่วของผนังกั้นเส้นเลือดในสมอง


สัตว์ทดลองที่ขาดวิตามินบีหนึ่ง นอกจากจะมีการรั่วของผนังเส้นเลือด ยังเกิดอาการของสมองเสื่อมด้วย แสดงว่าการที่สมองเสื่อมไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของ ผนังเส้นเลือดของสมองอย่างเดียว และ ยังเกี่ยวข้องกับเซลล์ที่อยู่ข้างเคียงกับผนังเส้นเลือด perivascular microglia ซึ่งเมื่อสะสมเหล็กเข้าไปจะกระตุ้นให้มีการ สร้างสารอักเสบที่ไปทำลายสมองเป็นทอด ๆ และภาวะธาตุเหล็กมากเกินไปในสมองยังมีความสัมพันธ์กับสภาวะดื้ออินซูลินในสมองซึ่งทราบกันดีแล้วว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดสมองเสื่อม


จากหลักฐานโดยตรงและโดยอ้อมเริ่มสนับสนุนบทบาทของวิตามินบีหนึ่ง ที่บกพร่องในคนที่เสพสุราเป็นอาจิณ (รายงานมาจาก คณะวิจัยจากเวียนนา ในวารสาร alzheimer’s and dementia) และต้องถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับคนทุกคน ไม่ดื่มหัวราน้ำ หรือถ้าไม่เคยดื่มก็ไม่ต้องริ ดื่ม และต้องกินอาหารให้ครบไม่ใช่ใช้เหล้าแอลกอฮอล์เป็นพลังงานในการดำรงชีวิต อีกทั้งต้องกินอาหารที่มีวิตามินบีหนึ่ง 


ดังที่ได้เคยเขียนไว้ในบทเกี่ยวข้องกับการขาดวิตามินบีหนึ่ง ในสุขภาพหรรษามาก่อนหน้านี้ และคงไม่ผิดถ้าจะเสริมด้วยการกินวิตามินบีหนึ่งในขนาดวันละ 100 ถึง 250 มิลลิกรัม พร้อมกับวิตามินบี 12 อย่างน้อย 0.5 มิลลิกรัมต่อวันไปทุกวัน"






ที่มา ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha

ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ