TNN online หูอื้อ ปวดหู สัญญาณเตือน "หูอักเสบ" เปิดสาเหตุ วิธีรักษา การใช้ยาให้เหมาะสม

TNN ONLINE

Health

หูอื้อ ปวดหู สัญญาณเตือน "หูอักเสบ" เปิดสาเหตุ วิธีรักษา การใช้ยาให้เหมาะสม

หูอื้อ ปวดหู สัญญาณเตือน หูอักเสบ เปิดสาเหตุ วิธีรักษา การใช้ยาให้เหมาะสม

เปิดสัญญาณเตือน เมื่อเกิดหูอื้อ ปวดหู ระคายเคือง มีของเหลวงหรือหนองไหลออกจากหู อาจเป็นอาการของ "หูอักเสบ" ชี้สาเหตุการเกิดโรค พร้อมวิธีรักษาการใช้ยาแต่ละชนิด

สิ่งหนึ่งที่เรานึกถึงเมื่อมีอาการปวดหู คือ "หูอักเสบ" ซึ่งเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงอายุ และอาจส่งผลต่อการสูญเสียการได้ยินและการทรงตัว เมื่อใดที่มีความผิดปกติของหูเกิดขึ้นเราจึงไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นาน เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาเรื้อรังได้ วันนี้มาทำความรู้จักกับ "หูอักเสบ" เพื่อพร้อมรับมือได้อย่างถูกวิธี...

เช็กสัญญาณเตือน "หูอักเสบ" อาการเป็นอย่างไร?

"หูชั้นนอกอักเสบ" (Acute Otitis Externa) มักจะเกิดภายหลังการแคะหู หรือหลังจากมีน้ำเข้าหูแล้วพยายามเช็ดหู โดยเฉพาะหลังการเล่นน้ำหรือว่ายน้ำ ทำให้เกิดอาการคัน ระคายเคืองในรูหูส่วนนอก ปวดหู หูอื้อ มีของเหลว (หนอง) ไหลออกจากหู

ผิวหนังของรูหูส่วนนอกบวมแดงเฉพาะที่ อาจพบหนองที่มีกลิ่นเหม็นอยู่ภายในรูหูส่วนนอก กดเจ็บบริเวณหน้าใบหู เมื่อดึงใบหูหรือโยกใบหูจะเจ็บมากขึ้น อาจพบต่อมน้ำเหลืองบริเวณหน้าหรือหลังหูโตได้ 

ขณะที่ "หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน" (Acute Otitis Media : AOM) หรือหูน้ำหนวกส่วนใหญ่เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียตามหลังการติดเชื้อไวรัสของระบบทางเดินหายใจส่วนบน พบบ่อยในเด็กเล็กถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะทำให้มีน้ำขังในหูชั้นกลาง หรือ แก้วหูทะลุ เกิดหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง

"หูชั้นในอักเสบ" ( Labyrinthitis ) หรือโรคไวรัสลงหู ทำให้การทรงตัวเสียไปชั่วคราว มีอาการวิงเวียนบ้านหมุน คลื่นไส้ซึ่งมักเป็นขณะที่มีการเปลี่ยนท่าทาง บางคนมีอาเจียน หรือตากระตุก หรือเดินเซ ร่วมด้วย 

โดยทั่วไปจะไม่มีไข้ โรคหูชั้นในอักเสบพบได้ค่อนข้างบ่อย ส่วนมากจะมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งลุกลามจากบริเวณจมูกและลำคอผ่านท่อยูสเตเชียนเข้ามาในหูชั้นใน มักเกิดตามหลังไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ บางครั้งอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ลุกลามมาจากการอักเสบของหูชั้นกลาง

หูอื้อ ปวดหู สัญญาณเตือน หูอักเสบ เปิดสาเหตุ วิธีรักษา การใช้ยาให้เหมาะสม

การรักษา "หูอักเสบ" ด้วยยา

1. รับประทานยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) ที่เหมาะสมเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุ ซึ่งควรรับประทานเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 10 – 14 วัน

2. รับประทานยาแก้แพ้ (Antihistamine) ยาลดบวม ยาหดหลอดเลือด (Oral Decongestant) และ พ่นจมูกด้วยยาหดหลอดเลือด (Topical Decongestant) ตามแพทย์สั่ง เพื่อทำให้เยื่อบุบริเวณรูเปิดของท่อยูสเตเชียนยุบบวม

3. ถ้ามีอาการปวดมากหรือมีไข้ สามารถรับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยานาพรอกเซน (Naproxen) หรือยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เท่าที่จำเป็น

4.ยาหยอดหูที่มีตัวยาปฏิชีวนะ (ตามแพทย์สั่ง) หยอดวันละ 3-4 ครั้ง       

5.หากมีอาการวิงเวียน คลื่นไส้บ่อย ให้กินยาแก้อาเจียน ได้แก่ ไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate)ซึ่งมีผลข้างเคียงที่สำคัญคือ ง่วงนอน มึนงง จึงต้องระวังอย่าขับรถหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร

ที่สำคัญที่สุด ควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการตากระตุก เดินเซ หรืออาเจียนมาก ปวดหู หูอื้อ หรือมีน้ำหนองไหลมีอาการแขนขาชา หรืออ่อนแรงร่วมด้วย หรือมีอาการนานเกิน 5 วันแบบเป็นๆ หายๆ

ทั้งนี้ อาการปวดหูพบได้ในทุกช่วงอายุ และอาจส่งผลต่อการสูญเสียการได้ยิน เมื่อสงสัยว่าอาจเกิดจากหูอักเสบ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้อง และควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง.

หูอื้อ ปวดหู สัญญาณเตือน หูอักเสบ เปิดสาเหตุ วิธีรักษา การใช้ยาให้เหมาะสม

ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

ภาพจาก แฟ้มภาพ AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง