TNN online อย. เตือนปชช.ระวังยาสมุนไพรตปท.ปลอมระบาด แนะตรวจเลขทะเบียนก่อนซื้อ

TNN ONLINE

Health

อย. เตือนปชช.ระวังยาสมุนไพรตปท.ปลอมระบาด แนะตรวจเลขทะเบียนก่อนซื้อ

อย. เตือนปชช.ระวังยาสมุนไพรตปท.ปลอมระบาด  แนะตรวจเลขทะเบียนก่อนซื้อ

อย. ออกโรงเตือนประชาชนตรวจสอบเลขทะเบียบยาก่อนซื้อ เผยยาปลอมระบาดหนัก โดยเฉพาะสมุนไพรต่างประเทศ ขู่ตรวจพบโฆษณาเกินจริงถูกปรับ-เพิกถอนใบอนุญาตทันที

นพ.สุรโชค  ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือ อย. เปิดเผยว่า ขอเตือนประชาชนระวังยาปลอมช่วงหลังโควิด 19  โดยขอให้ตรวจสอบเลข อย.และสรรพคุณตรงกับการขึ้นทะเบียนหรือไม่   เนื่องจากปัจจุบันมีมีผลิตภัณฑ์สมุนไพรในตลาดได้หลอกหลวงสรรพคุณและอ้างถึงการผ่านการรับรองของ อย.โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 กันเป็นจำนวนมาก  โดยเฉพาะสมุนไพรนำเข้าจากต่างประเทศ


สำหรับผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่เข้ามายื่นจดทะเบียนกับ อย.ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารเสริมมากกว่า ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้หากระบุส่วนประกอบที่ไม่เป็นอันตราย ไม่มีสารเคมีเจือปนก็จะได้รับการพิจารณาเร็ว แต่ไม่ได้ระบุสรรพคุณว่านำไปรักษาโรคอะไร  บอกเพียงส่วนประกอบเหมือนอาหารเสริมทั่วไป ขณะที่ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มาขึ้นทะเบียนเป็นยาสมุนไพร ตาม พ.ร.บ.สมุนไพรจะมีขั้นตอนการตรวจสอบวิจัยมากกว่า 


โดยผลิตภัณฑ์ที่มาจดทะเบียนเป็นยาสมุนไพร จะต้องระบุสรรพคุณชัดเจน   ซึ่งสามารถตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ของ อย. ว่ามีสรรพคุณตรงกับที่มีการโฆษณาไว้หรือไม่    หากผู้บริโภคไม่ทันสังเกตเมื่อซื้อยามารับประทานเองอาจเกิดผลเสียต่อร่างกาย เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และอาจส่งผลกระทบต่อการรักษาอาการ


อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบในปัจจุบันคือการโฆษณาเกินจริงของผลิตภัณฑ์ที่มาจดทะเบียนอาหารเสริมที่ได้เลข อย. แต่นำไปโฆษณาเกินจริงว่าสามารถรักษาโรคได้ ซึ่งลักษณะแบบนี้จะผิด  พ.ร.บ คอมพิวเตอร์ และการโฆษณาเกินจริง


นอกจากนั้นสื่อโฆษณาก็มีหลายแพลตฟอร์ม ทั้งสื่อกระแสหลัก และสื่อโซเชียลมีเดียที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย ทำให้การเฝ้าติดตามและระวังทำได้ไม่ครอบคลุม แม้ อย.จะร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงการว่าจ้างปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เพื่อคอยตรวจจับก็ตาม 


โดยเน้นไปที่รายใหญ่และมีมูลค่าความเสียหายจำนวนมาก รวมทั้งการโฆษณาเกินจริงจนมากเกินไป แต่หลายบริษัทที่กระทำผิดหรือฝ่าฝืนกฎหมายและถูกจับได้จะใช้วิธีเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่ไปเรื่อย ๆ เพราะบริษัทเหล่านี้บางรายมีเครือข่ายในต่างจังหวัด หรือตั้งบริษัทเล็ก ๆ ขึ้นมารับดำเนินการแทน เนื่องจากโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท และโทษสูงสุดคือเพิกถอนใบอนุญาต บริษัทเหล่านี้จึงไม่เกรงกลัว


"ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรที่มีส่วนผสมของสารปนเปื้อนอันตรายและของปลอมมีมากขึ้น โดย อย. มีการจัดการไล่ตรวจผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรต่าง ๆ ว่ามีส่วนผสมของสารอันตรายปนเปื้อนหรือไม่ รวมถึงการจดทะเบียนผลิตภัณฑ์กับ อย.ที่ชัดเจน ทำให้หลายบริษัทหลีกเลี่ยงหรือหยุดกระทำผิด เนื่องจากมีบทลงโทษชัดเจนตั้งแต่ปรับเป็นเงินจนถึงการเพิกถอนใบอนุญาต จึงไม่คุ้มหากจะกระทำผิด   แต่ที่ยังมีการกระทำผิดที่จำนวนค่อนข้างมากคือการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง  เนื่องจากกฎหมายเก่าและล้าหลังหลายปี”


ทั้งนี้ปัจจุบันมีสมุนไพรที่มาจดทะเบียนเป็นยา โดยของไทยจะมีฟ้าทะลายโจรที่จดทะเบียนแบบฉุกเฉินในการรักษาโควิด-19 ขณะที่สมุนไพรจีนที่มายื่นจดทะเบียนเป็นยาสมุนไพรมีเพียงยี่ห้อเดียวที่รับการอนุมัติจาก อย. คือ “ยาเหลียนฮัว ชิงเวิน แคปซูล” ซึ่งได้รับการอนุมัติขึ้นทะ เบียนกับทาง อย. ของไทย  เดือนมีนาคม 2563 เพื่อใช้บรรเทาอาการจากไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ ไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย น้ำมูก คัดจมูก ไอ เจ็บคอ ปวดหัว สามารถช่วยบรรเทาอาการโควิด-19 ได้ คล้าย ๆ การใช้ฟ้าทะลายโจรของไทย  


ที่มา  สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา 

ภาพประกอบ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา 

 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง