TNN online เปรียบเทียบแผลปลูกฝีดาษและแผลวัคซีนวัณโรคต่างกันอย่างไร

TNN ONLINE

Health

เปรียบเทียบแผลปลูกฝีดาษและแผลวัคซีนวัณโรคต่างกันอย่างไร

เปรียบเทียบแผลปลูกฝีดาษและแผลวัคซีนวัณโรคต่างกันอย่างไร

การปลูกฝีในปัจจุบันคืออะไร ปลูกฝีป้องกันโรคฝีดาษ กับการปลูกฝีจากการฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรค ต่างกันอย่างไร

ฝีดาษลิง" หรือ "โรคฝีดาษลิง" กลับมาระบาดอีกครั้งในรอบมากกว่า 20 ปี และเป็นการระบาดนอกพื้นที่เขตแอฟริกา ซึ่งส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 100 คนใน 16 ประเทศ
ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า ยังไม่มีการพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงในไทย แต่โรคฝีดาษลิง ก็เป็นอีกหนึ่งโรคที่ควรให้ความสนใจและเฝ้าระวัง เพราะเป็นโรคติดต่อที่นอกจากจะสามารถแพร่จากสัตว์สู่คนได้แล้วยังแพร่จากคนสู่คนได้อีกด้วย

โดยการ ปลูกฝี นั้นเป็นหนึ่งในการฉีดวัคซีนที่คนไทยส่วนใหญ่อาจเข้าใจว่า หมายถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ แต่อันที่จริงแล้วไม่ใช่


ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ประเทศไทยแต่เดิมปลูกฝีให้กับทุกคน โดยเฉพาะตั้งแต่แรกเกิด และโรคนี้สามารถควบคุมได้ และหมดไป จึงเลิกการปลูกฝีในประเทศไทย ประมาณปี 2517 เป็นต้นมา และองค์การอนามัยโลกประกาศว่าฝีดาษหมดไปในปี 2523 และทั่วโลกยกเลิกปลูกฝีตั้งแต่นั้นมา ทำให้ประชากรไทยที่เกิดหลังปี 2517 เกือบทุกคนจะไม่ได้รับการปลูกฝีแล้ว


แต่สำหรับคำว่า “ปลูกฝี” ในปัจจุบัน ถูกใช้ในแง่ของการฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรค หรือวัคซีน BCG โดยที่นิยมเรียกกันว่าเป็นการปลูกฝี เพราะหลังจากที่เด็กแรกเกิดหรือเด็กเล็กได้รับวัคซีน จะมีแผลที่ต้นแขนซ้าย  


เมื่อเวลาผ่านไป 4-6 สัปดาห์จะมีตุ่มหนองขึ้น ตุ่มจะสุกและแตก จนแผลจะค่อยๆ แห้งและหายได้เอง ในบางรายอาจเป็นๆ หายๆ แต่สุดท้ายแล้วแผลจะค่อยๆ ดีขึ้นและหายได้เอง ไม่เป็นอันตรายใดๆ ต่อร่างกายในภายหลัง


ด้วยลักษณะของแผลหลังฉีดวัคซีนที่คล้ายเป็นฝี หลายคนจึงเรียกว่าเป็นการปลูกฝีนั่นเอง แต่ไม่ใช่การปลูกฝีเพื่อป้องกันโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษเหมือนสมัยก่อน


การสังเกตความแตกต่างของแผลที่ได้จาการรับวัคซีนทั้ง 2 ประเภท จะพบว่า แผลเป็นของวัคซีนป้องกันวัณโรคจะมีลักษณะนูนกว่าแผลเป็นจากวัคซีนป้องกันฝีดาษ


การฉีดวัคซีนวัณโรคสำคัญ เนื่องจากทารกยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง จึงมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะทารกแรกเกิดไปจนถึงเด็กเล็กอายุประมาณ 5 ปี ซึ่งวัณโรคนั้นถือเป็นโรคติดต่อร้ายแรง โรคนี้เกิดขึ้นจากเชื้อแบคทีเรีย เมื่อร่างกายได้รับเชื้อเข้าไปจะทำให้มีอาการต่าง ๆ เช่น ไข้ต่ำ น้ำหนักลด เบื่ออาหาร ต่อมน้ำเหลืองโต และอาจร้ายแรงถึงขั้นเกิดอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หากอาการหนักก็สามารถทำให้เด็กเสียชีวิตได้ 


ในประเทศไทยของเราพบว่ามีผู้ที่ป่วยเป็นวัณโรคสูง จนทำให้ติดอันดับที่ 18 ของโลก ดังนั้น จึงต้องมีการฉีดวัคซีนชนิดนี้ให้กับทารกแรกเกิดทุกคน เพื่อป้องกันและลดปริมาณผู้ป่วยให้น้อยลงดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกน้อยเป็นวัณโรค คุณพ่อคุณแม่ควรให้ทารกได้รับวัคซีน BCG ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศไทยได้กำหนดให้วัคซีน BCG เป็นหนึ่งในวัคซีนพื้นฐานที่ทารกแรกเกิดต้องได้รับการฉีดทุกคน


ที่มา: Facebook: TNN Health

Photo credit: Getty image

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง