TNN online เปิดมุมมองต่อนโยบายจีนกับ แนวทาง Zero-Covid ป้องกันไว้ดีกว่าแพร่

TNN ONLINE

Health

เปิดมุมมองต่อนโยบายจีนกับ แนวทาง Zero-Covid ป้องกันไว้ดีกว่าแพร่

เปิดมุมมองต่อนโยบายจีนกับ แนวทาง Zero-Covid ป้องกันไว้ดีกว่าแพร่

นักวิชการสะท้อนมุมมองต่อนโยบายการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดระลอกล่าสุดในประเทศจีน มุ่งให้ความสำคัญต่อ "คน" มากกว่าผลกระทบ "เศรษฐกิจ" สะท้อนผ่านมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อคุมการแพร่ระบาดเข้มข้น ป้องกันไม่ให้กระจายวงกว้าง

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมานโยบาย Zero-COVID ของจีนได้รับการทดสอบอย่างหนักหน่วง จากสถานการณ์การระบาดใหญ่ระลอกใหม่ในจีน  ทางจีนได้สั่ง “ล็อกดาวน์” อีกครั้ง ในหลายเมืองทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึง “มหานครเซี่ยงไฮ้” ซึ่งเป็นมหานครขนาดใหญ่ มีประชากรมากถึง 26 ล้านคน สืบเนื่องจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนได้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว โดย ในหลายๆ วันของเดือนเมษายน 2022 จีนพบผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการรายใหม่เกินวันละ 2.5 หมื่นคน ซึ่งถือเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่สูงมากสำหรับจีน และมีผู้ติดเชื้อภายในประเทศสูงสุดในรอบ 2 ปี ซึ่งสวนทางกับนโยบายการใช้ชีวิตร่วมกับโควิด-19 ของสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศ โดยเฉพาะในโลกตะวันตก ที่ถึงแม้ยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด-19 ได้ แต่มีความพยายามให้โควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น หรือผ่อนคลายมาตรการด้านการควบคุม หันมาเปิดประเทศเพื่อกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวที่ซบเซา และการเร่งส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจ คำถามสำคัญก็คือ นโยบาย Zero-COVID ป้องกันไว้ดีกว่าแพร่ มีหลักคิดอย่างไรและจะปรับอย่างไรให้มีความยืดหยุ่น หรือเป็น 'Dynamic Zero-COVID policy'

            

หลักคิดพื้นฐานสุดสำหรับจีนก็คือ เศรษฐกิจนั้นสำคัญ แต่ประชาชนสำคัญกว่า การล็อกดาวน์มหานครเซี่ยงไฮ้ ที่เป็นศูนย์กลางการค้าและเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง ส่งผลกระทบต่อธุรกิจและเศรษฐกิจของจีนอย่างมหาศาลอย่างแน่นอน แต่เรื่องชีวิตคนสำคัญกว่า จีนใช้วิธีทุ่มงบประมาณเกี่ยวกับการป้องกันโควิด-19 ในเร่งการสร้างโรงพยาบาลสนาม การขยายการคัดกรองอย่างเข้มงวด โดยการ “เคาะประตูบ้าน” เรียกถึงหน้าบ้าน หรือห้องพักในแต่ละชุมชน ซึ่งใช้บุคลากร และเจ้าหน้าที่เป็นจำนวนมาก การดูแลผู้ที่กักตัวให้ดีขึ้น รวมถึงการวิจัยและการผลิตวัคซีนชุดใหม่ที่ยังดำเนินอยู่อย่างเร่งรีบ โดยที่ผ่านมาจีนได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้ประชากรแล้วมากกว่า 1.1 หมื่นล้านโดส หรือมากกว่า 86% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งก่อนหน้านี้จีนได้ใช้การผลิตวัคซีนภายในประเทศมาโดยตลอด แต่ตอนนี้วัคซีนมีแนวโน้มไม่เพียงพอและ กำลังรอวัคซีนตัวใหม่ที่พัฒนาขึ้นเอง ซึ่งทุกคนหวังว่าจะทันต่อการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอน 


ปัจจุบันการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ของจีน นั้น แบ่งออกเป็น 3 เขต คือ เขตล็อกดาวน์ เขตควบคุม และเขตป้องกัน สำหรับพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่นาน 1 สัปดาห์ จะให้เป็นพื้นที่ "เขตควบคุม" และเมื่อถ้าผ่านไป 2 สัปดาห์พบว่ายังไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ จะปรับระดับลงเป็น "เขตป้องกัน" ผู้ที่อยู่ในเขตที่มีผู้ติดเชื้อน้อยหรือไม่พบผู้ติดเชื้อ จะมีอิสรภาพมากกว่า เช่นได้รับอนุญาตให้ออกมาเดินในบริเวณรอบที่พักอาศัย ซึ่งนครเซี่ยงไฮ้ได้ผ่อนคลายข้อจำกัดบางส่วนลงแล้วในขณะนี้


ทั้งนี้จากบทความหรือข่าวทางการของจีนก็พยายามสื่อสารเกี่ยวกับการใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ เพื่อสื่อสารข้อความหลักการที่ว่า “ถ้าจีนใช้นโยบายรับมือโควิด-19 เฉกเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อต่อวัน ตัวเลขต่ำที่สุดที่เป็นไปได้ที่จีนจะต้องเจออยู่ที่มากกว่า 6 แสนราย และเจอเคสผู้ป่วยหนักมากกว่า 2 หมื่นรายต่อวัน” ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ไม่สอดรับกับความสามารถทางการแพทย์ที่จีนมี โดยเตียงดูแลผู้ป่วย อย่างสัดส่วนเตียงผู้ป่วย ICU หรือผู้ป่วยขั้นวิกฤติในจีนอยู่ที่ 4.3 เตียง ต่อคนจีน 100,000 คน เท่านั้น หากปล่อยให้มีการติดเชื้อเพิ่มขนาดนั้น ระบบการแพทย์ในจีนจะล่มสลายเป็นแน่ อันนี้จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทุกคนควรทราบเพื่อเข้าใจนโยบาย Zero-COVID

นับจากการแพร่ระบาดโควิด-19 นั้น พบว่า มีผู้ติดเชื้อติดทั่วโลก ราว 499.2 ล้านคน เสียชีวิตไปแล้ว 6.2 ล้านคน ประเทศที่มีคนตายมากที่สุด 5 ลำดับคือ สหรัฐฯ (1 ล้าน) บราซิล (6.6 แสน) อินเดีย (5.2 แสน) รัสเซีย (3.7 แสน) เม็กซิโก (3.2 แสน) ส่วนจีนที่พบโควิด-19 เป็นประเทศแรก มีผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 4,638 คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น อย่างไรก็ตามความเชื่อเรื่องการปล่อยให้ประชาชนได้รับเชื้อโควิด เพื่อจะได้บสร้างภูมิคุ้มกันหมู่นั้น พิสูจน์แล้วว่าผู้ที่ติดแล้วสามารถติดซ้ำอีกได้ และอาจจะเกิดเชื้อกลายพันธุ์ได้ ดังนั้นนโยบาย Zero-COVID จึงสมเหตุสมผลที่จะไม่ปล่อยปละให้เกิด Herd immunity หรือ ภูมิคุ้มกันหมู่ เพราะอาจจะเกิดขึ้นจริงไม่ได้ จากการติดซ้ำ 

นอกจากนี้ถึงแม้ผู้ที่ได้รับวัคซีนสามารถป้องกันการเสียชีวิต แต่ก็ยังต้องฉีดเพื่อกระตุ้นภูมิเป็นประจำเพื่อป้องกันเชื้อที่กลายพันธุ์ ซึ่งอาจะเสี่ยงต่อการดื้อต่อวัคซีน ซึ่งสถานการณ์จะแย่ลงหากเกิดการระบาดใหญ่ในประเทศที่มีประชากรมากแบบจีน การกลายพันธุ์อาจจะสูงมาก ซึ่งยังไม่รวมปัจจัยเรื่องผู้ที่เคยได้รับเชื้อโควิด-19 ก็อาจมีอาการ Long Covid ที่อาจเป็นอันตรายในระยะยาวซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยในหลายประเทศอยู่ในขณะนี้ ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลสนับสนุน ที่น่าจะเป็นเหตุผลที่จีนยังคงนโยบาย Zero-COVID 


ด้วยความกังวลต่อการพัฒนาของโควิด 19 สายพันธุ์ต่าง ๆ และผลกระทบที่คาดไม่ถึงในอนาคต ด้วยเหตุต่างๆ เหล่านี้ จึงทำให้จีนไม่สามารถนิ่งนอนใจกับสถานการณ์โควิด-19 ได้ และมีความพยายามควบคุมและป้องกัน อย่างเข้มงวด บนนโยบาย Dynamic Zero-COVID  โดยเหนือสิ่งอื่นใด เป้าหมาย คือ เพื่อปกป้องประชากรของตน รวมถึงการรับผิดชอบต่อสังคมโลกในการควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่กระจายต่อไป



บทความโดย ดร.กฤตติกา เศวตอมรกุล เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร และ รองคณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง