ที่มาของบทภาพยนตร์ “แมนสรวง” ชะตาพลิกผันของตัวละคร
เปิดเผยที่มาของบทภาพยนตร์ “แมนสรวง” พีเรียดสืบสวนที่กำลังมาแรงในขณะนี้ เป็นภาพยนตร์ไทยทำรายได้เปิดตัวสูงสุดในปีนี้ เรื่องราวภารกิจลับของไพร่หนุ่มที่ต้องเข้าไปสืบเงื่อนงำที่สถานเริงรมย์ที่มีฉากหน้าเป็นโรงละคร แต่กลับมีความลับดำมืดของเกมการเมืองและตัวละครอีกมากมาย ผ่านบทสัมภาษณ์ของ ปอนด์ - กฤษดา วิทยาขจรเดช ผู้กำกับและผู้อำนวยการผลิต หนิง - ผศ.ดร.พันพัสสา ธูปเทียน ผู้กำกับ ผู้เขียนบทและคัดเลือกนักแสดง รวมถึง บัว - ผศ.ดร.ปริดา มโนมัยพิบูลย์ ผู้เขียนบท
จุดเริ่มต้นของ แมนสรวง
ปอนด์: เราตัดสินใจกันว่าจะทำโปรเจกต์ดี ๆ สักเรื่องหนึ่งตอนนั้น แต่เราไม่รู้จะทำเรื่องอะไร จนวันนั้นผมได้ไปขุดไอเดียจากที่ไปวัดกับอาโป ผมก็ไปบอกพี่หนิง แล้วก็ไปเชิญพี่บัวมาพูดคุยกัน พยายามทำบทกัน สู้กันพักใหญ่ ๆ จนมีอยู่วันนึงที่เราต้องสรุปแล้วเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือ…
บัว: รื้อใหม่หมด เก็บไว้สิ่งเดียวคือแมนสรวง ร่างแรกของบทมันเป็นอีกไอเดียเลย ซึ่งเสร็จแล้วด้วยนะ ทรีทเมนท์ละเอียดยิบ แต่ลึก ๆ ก็รู้สึกว่าแบบ “ใช่เหรอวะ?” รู้สึกมันสูตรเรื่องที่เราเห็นได้ทั่วไป ก็คิดว่าเรามาลงที่คาแรคเตอร์แล้วกัน หลังจากที่แก้ จัดการกับบทมาหลายร่าง ทำกับพี่หนิงก็มาเล่าให้ปอนด์ฟังอย่างละเอียด แล้วปอนด์ก็ถามว่า “เอาจริง ๆ พี่ชอบมั้ย“ ก็อึ้งไป แล้วปอนด์ก็ถามต่อว่า จริง ๆ พี่อยากเขียนอะไร ตอนนั้นเราก็แบบเอาวะ รื้อ
หนิง: เป็นปอนด์ที่ทำให้เรากล้าจริงใจกับสิ่งที่เราอยากเล่า ตอนแรกเราก็มองแบบสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พูดเรื่องนาฏศิลป์ ความเป็น Soft Power มันเป็นโจทย์ที่เป็นอุดมคติ
บัว: เราไม่ฉีกจากกรอบเดิมออกไป พอปอนด์ถามคำนั้นขึ้นมาเราก็อึ้งกันไป ปอนด์ก็บอกเรามาลองกันมั้ย ก็ถามว่ามีเวลาปะ มันจะช้าลงไปนะ ปอนด์บอกไม่เป็นไร รอได้ เราเอาบทไว้ก่อน
บัว: ซึ่งบทตอนแรกที่ทำมา ก็ไม่มีอะไรเสียเปล่า มันก็พาให้เราเจออีกทางหนึ่งที่มันไม่ใช่ แล้วมีบางอย่างที่ใช่อยู่ในนั้น ซึ่งก็คือแมนสรวง
หนิง: ตอนที่ล้มกระดานตอนนั้นมันก็เสี่ยงมากอยู่เหมือนกัน พอปอนด์ซึ่งเป็นคนตั้งต้นของโปรเจกต์ บอกว่าเอาเลยลุยเลย เราก็เลยมาลุยกันสักตั้ง ด้วยไทม์ไลน์มันหวาดเสียวมาก ต้องแลก ต้องเสี่ยง กับสถานการณ์ตอนนั้นที่ทุกคนรอแล้ว แต่ว่าเราต้องรื้อบทใหม่
ปอนด์: มันไม่ง่ายในมุมผมการจะทำหนังเรื่องนึง แต่ผมมีหมวกอีกใบนึงเป็นผู้บริหาร Be On Cloud ซึ่งมีนักแสดงเยอะมาก นักแสดงที่เค้ากำลังมีกระแสมาก ๆ ถ้าเป็นปกติก็ต้องเอาให้เร็วไว้ก่อน แต่ ณ ตอนนั้นผมรู้สึกว่าเร็วไม่ได้ แต่มันก็ช้าเกินไม่ได้ และที่สำคัญมันต้องดี วันนั้นที่ผมถามพี่เค้าว่าอยากทำอะไร ผมเชื่อว่าทำ สิ่งที่คนที่อยู่กับบท คนที่เขียนบทมานาน แล้วก็เป็นคนที่ดูแลบทคนมาเยอะ เค้าอยากทำอะไรมันต้องสำคัญที่สุด เราต้องเปิดรูมให้เค้าตรงนั้น เพราะมันจะกลายเป็นว่าเราอยากได้อะไรเราก็ส่งโจทย์ไปให้เค้า มันก็จะไม่ต่างกับที่คนอื่นทำ
หนิง: เนื่องจาก Be On Cloud มีนักแสดงเยอะ ปอนด์ไม่ได้บอกเราว่าต้องเอาคนนี้ ๆ เล่นนะ แน่นอนนักแสดงหลักชัดเจนอยู่แล้ว มันต้องมี 2 คนนี้ ซึ่งมันก็เมคเซนส์มาก นอกนั้นปอนด์ก็ให้อิสระ มันก็เป็นอิสระในกระบวนการสร้างบท ว่าเราไม่ต้องมีข้อจำกัด
ปอนด์: เราจะทำ คนละฟังก์ชั่นกัน ในเรื่องของบทก็ต้องพี่บัวเป็นหลัก พี่หนิงก็จะลึกในเรื่องจิตวิญญาณตัวละคร ผมก็จะเรื่องไดเรคชั่นของการมีจินตนาการในหัวเรื่องจะประมาณไหนนะ ตัวละครมันเป็นอย่างนี้ได้ไหม เราก็จะถกกัน อย่างตัวละครเขม มันมีปมของคนหน้าตาดี ซึ่งถ้าพูดไม่ดีมันจะดูหลงตัวเองทันที บางครั้งคนที่เค้าเรียกบิวตี้พรีวิลเลจ แต่คนไม่มองเข้าไปที่ลึกถึงแก่นแท้ของคนนั้น ไม่มองที่ความสามารถของเค้า คนเห็นอย่างแรกคือฉันอยากได้ นั่นคือสิ่งที่เกิดจากชีวิตจริงของคนที่ไม่เคยถูกเล่า มันคือการถกกันทางบท แต่ไม่เคยทะเลาะกันเลย สนุกมาก และที่มันบังเอิญคือบทที่เราทำช่วงนั้น หรือช่วงที่เราพูดกันอยู่ตอนนี้ การเมืองมันใกล้เคียงมาก แสดงว่ามันไม่ได้ล้าหลัง มันทันสมัยกระทั่งปัจจุบันนี้ ต่อให้จะเป็นพีเรียดก็ตาม
บัว: มันเป็นกระบวนการทำบทที่ดีมาก เรามาจากละครเวที ฉะนั้นการที่เรากระโดดเข้ามาทำบทภาพยนตร์มันเป็นความท้าทายที่ใหญ่มาก การมีสองคนนี้อยู่ด้วยตลอดในเส้นทางนี้มันช่วยมากจริง ๆ มันเป็นการทำบทที่สนุก และลงตัวมาก การแต่งเติมช่องว่างทางประวัติศาสตร์
บัว: จริง ๆ แล้วอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลจริงตามประวัติศาสตร์ แต่ว่าเราผลักมันให้ไปได้ไกลกว่านั้น ทั้งหมดที่เราสร้างขึ้นม เราเชื่อว่าแมนสรวงมีความเป็นไปได้มากมาย เป็นเรื่องที่ไม่ได้ถูกเล่าในกระแสหลัก แต่อย่างไรก็ตามเรายังยึดกติกาว่า มันคือช่วงเวลาปี 2393-94 ฉะนั้นเราก็จะไม่มีอะไรที่มันหลุดช่วงเวลาความเป็นจริงที่มันอยู่ในประวัติศาสตร์ เพียงแต่เรามองว่าประวัติศาสตร์กระแสหลัก มันก็มีแค่บางสิ่งที่ถูกบันทึกไว้ แต่เรื่องราวมากมายที่อยู่ข้างหลังเราไม่เคยรู้ ใครจะไปรู้ เราก็ใช้จินตนาการเอา ต่อจากนั้นว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง แต่ถ้าผู้ชมได้ชม แล้วไปค้นหาต่อว่า ณ เวลานั้นช่วงเดือนนั้นเกิดอะไรขึ้น ก็จะเจอข้อมูลมากมาย ซึ่งเราก็ไม่ได้พยายามยัดข้อมูลเข้าไปในหนัง
แก่นของแมนสรวง
บัว: แน่นอนมันมีคำว่าความจริง และความจริงของใคร ความลวง มันมีเรื่องของการแบ่งแยก มีเรื่องของการยอมรับ
หนิง: จุดตั้งต้นคือเราอยากพูดประเด็นนี้นะ แตกออกไปของตัวละครแต่ละตัว มาทางเดียวกันกับประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยถูกเล่า ประวัติศาสตร์มันถูกมองว่าคือความจริง แต่ความจริงนี้เป็นความจริงของใคร ดังนั้นเรื่องราวในแมนสรวงมันก็คือความจริงของใครบางคนเช่นกัน มันคือการตั้งคำถามที่อยากให้ผู้ชมมองโลกนี้ให้มันรอบด้าน
เวิร์คช็อปสุดหินคัดสรรคจนเป็นมิติใหม่แห่งการแสดง
หนิง: พอบทเสร็จออกมาแล้วสิ่งที่เรารับผิดชอบต่อจากนั้นก็คือ ทำงานกับนักแสดงต่อ จุดมุ่งหมายของเราก็คือจะทำยังไงถึงจะช่วยให้เขาสร้างตัวละครในแบบของเขาออกมาได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด แน่นอนว่าเราก็อ่านบทร่วมกัน ตีความร่วมกัน แล้วก็ถามความคิดเห็นกัน ว่าเขามองว่าตัวละครนี้เป็นยังไง เชื่อมโยงกับตัวเองยังไงได้บ้าง หลังจากนั้นก็ให้เขาลอง เราใช้วิธีอิมโพรไวส์ (improvise) ค่ะ ให้เขาเป็นตัวละคร และเราก็ถามคำถามต่าง ๆ โดยที่ให้เขาตอบเอง ให้เขาคิดเอง ว่าถ้าเขาเป็นตัวละครภายใต้สถานการณ์นี้กับคำ ถามนี้ เขาจะตอบว่าอะไร ก็เป็นการค่อย ๆ ค้นหา จนในที่สุดเขาก็เจอตัวละครในแบบของเขา แล้วก็เอามาดูร่วมกับผู้กำกับอีก 2 ท่าน ว่าเห็นตรงกันมั้ย อันนี้คิดว่าจะไปในทิศทางนี้ได้ไหม อันนี้คือวิธีการทำงานกับนักแสดงค่ะ ซึ่งใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน จริง ๆ มันควรจะนานกว่านี้ค่ะ ถามว่านานขนาดไหน ก็น่าจะประมาณ 3 เดือนค่ะ จริง ๆ แล้วมันไปได้อีก การค้นหาตัวละครมันไม่มีที่สิ้นสุดอยู่แล้ว แต่ในระยะเวลา 3 เดือนเราก็ค่อนข้างพร้อมที่จะไปทำงานค่ะ
ประสบการณ์ร่วมกับนักแสดง
หนิง: เริ่มที่อาโป (ณัฐวิญญ์ วัฒนกิติพัฒน์) ก่อนแล้วกัน อาโปเขาเป็นคนตั้งใจมาก แล้วก็เป็นนักแสดงที่มีประสบการณ์อยู่แล้ว ดังนั้นทำงานกับอาโปจะง่ายตรงที่ว่าเราไม่ต้องไปเริ่มนับหนึ่งกับเขา อาโปเขาจะทำ การบ้านมาก่อนแล้วว่าเขามองตัวละครนี้ยังไง แล้วก็จะมาด้วยคำถามและก็มาหาคำ ตอบร่วมกัน ทำงานกับอาโป เหมือนทำงานกับนักแสดงอาชีพค่ะ เขามักจะถามเสมอว่า “ช้อยส์นี้ดีมั้ยครู” หรือว่า “จะเป็นช้อยส์ไหนนะ” มันจะเป็นการรีเช็คกัน เป็นการรีเฟล็คกันมากกว่าการที่เราจะต้องเข้าไป โอบอุ้มเขา แล้วก็พาเขาไปหาตัวละครค่ะ ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะนั้นกับอาโป
กับมาย (ภาคภูมิ ร่มไทรทอง) จริง ๆ คล้ายกันค่ะ เป็นเรื่องที่สองที่มายแสดงแบบจริงจัง และเห็นพัฒนาการของมายชัดเจนมากแบบก้าวกระโดดเลย การมาเจอมายครั้งนี้มายเตรียมงานมาดี ทำการบ้านมาดีมากค่ะ แล้วเหมือนเขารู้จักเครื่องมือตัวเอง แล้วเขารู้ว่าถ้าเจอปัญหาแบบนี้ เขาจะแก้ไขปัญหายังไง ก็เลยทำใหก้การทำงานกับมาย เราทำ Character Interview เราทำ Characterisation กัน แบบสร้างตัวละครกันนิดหน่อย แล้วหลังจากนั้นเขาก็ไปต่อได้ ของมายเนื่องจากเขาไม่ได้มีประสบการณ์เท่าอาโป ดังนั้นต้องทำยังไงให้เขาไม่เหมือนคาแรกเตอร์ที่เขาเคยเล่นมา เขาเล่นเป็น คินน์ ในเรื่องคินน์พอร์ชมา นั่นเป็นคาแรกเตอร์ที่เขาอยู่กับมันมานานมาก โจทย์ของเราคือมีความแตกต่าง ไม่เหมือนคินน์เลย มายก็ต้องใช้เวลา ในที่สุดเขาก็ทำได้ดีมากค่ะ ในการสร้างตัวละครในฉากที่เรามองว่า นี่ไม่ใช่คินน์แล้ว
ส่วนต๋อง (ธนายุทธ ฐากูรอรรถยา) ต๋องเป็นคนตั้งใจสูงมาก ดังนั้นโจทย์การทำงานของต๋องคือ ทำยังไงให้ต๋องรู้สึกสบายใจที่สุด แล้วก็เชื่อใจตัวเอง ว่ามันดีแล้ว แล้วก็ให้เขาได้อยู่กัลโมเม้นต์ให้ได้เยอะมาก ๆ เพราะสิ่งที่เขาทำมา จริง ๆ มันดี อยู่แล้ว ส่วนมากเป็นการซัพพอร์ตเขามากกว่า ให้เขารีแลกซ์
ส่วนบาส (อัศวภัทร์ ผลพิบูลย์) จริง ๆ ในบรรดาทุกคน บาสคือเนิร์ดที่สุดละ คือทำการบ้านละเอียดมาก เขียนไดอารี่ตัวละครเยอะมาก ในขณะที่ถ่าย บาสก็ยังเขียนอยู่ เขียนไปเรื่อย ๆ ทำให้เขาเข้าอกเข้าใจตัวละครเยอะมาก แล้วก็มีมิติอะไรซ่อนอยู่ในขณะที่เขาเป็นตัวละคร ซึ่งเขาพูดเท่านี้แหละ แต่เราจะเห็นว่ามันมีอะไรอยู่ข้างใต้นั้น และบทนี้ท้าทายกับบาสมาก เพราะบาสเป็นนักแสดงใหม่ เพิ่งเล่นละครมาได้เรื่องนึง แล้วก็มาเจอเรื่องนี้เลย ซึ่งบทดราม่ามาก ก็เอาใจช่วยเขาเยอะมาก และทำ Exercise กับเขาค่อนข้างเยอะ แต่พอมาถึงหน้าเซ็ตแทบไม่ได้ยุ่งอะไรกับเขาเลย เขาจะรู้ว่าเขาจะจัดการกับตัวเองยังไง ก็ทึ่งกับสิ่งที่บาสทำออกมา
เคล็ดลับการดึงศักยภาพนักแสดง
หนิง: จริง ๆ นักแสดงที่มาเล่นในแมนสรวงจะมี 2 กลุ่มนะคะ ถ้าจะแยก แยกเป็นวิธีการทำงานในการเป็นนักแสดงแล้วกัน คือนักแสดงอาชีพเลย ที่เรารู้จักฝีมือเขาอยู่แล้ว อาจจะไม่ได้คุ้นหน้า คุ้นตาในแวดวงของภาพยนตร์ขนาดนั้น แต่ว่าทุกคนมีประสบการณ์สูงมาก กลุ่มนี้เราไม่ได้ไปยุ่งอะไรกับเขาเลย เขาจัดการตัวเองได้อยู่แล้ว หลาย ๆ คนเป็นครูสอนการแสดงด้วยซ้ำ กับอีกกลุ่มคือนักแสดงในสังกัด Be on Cloud กลุ่มนี้เรารู้จักกันมา ทำงานด้วยกันมาก็หลายปีแล้วค่ะ ดังนั้นไม่ได้มีปัญหา เพราะถ้าเขาเข้าใจการแสดงจริง ๆ เนี่ย การเข้าไปในการแสดงคือเราเชื่อในสถานการณ์ที่ถูกกำหนดไว้อย่างจริงใจที่สุด พอคัทแล้ว จบซีนแล้ว เราก็กลับมาอยู่กับปัจจุบัน เมื่อกี้มันคือจินตนาการที่เราเชื่อในฐานะนักแสดง แค่นั้น