TNN online พุ่มพวง ดวงจันทร์ รำลึกครบรอบ 30 ปี ย้อนประวัติราชินีลูกทุ่งผู้ล่วงลับ

TNN ONLINE

บันเทิง

พุ่มพวง ดวงจันทร์ รำลึกครบรอบ 30 ปี ย้อนประวัติราชินีลูกทุ่งผู้ล่วงลับ

พุ่มพวง ดวงจันทร์ รำลึกครบรอบ 30 ปี ย้อนประวัติราชินีลูกทุ่งผู้ล่วงลับ

พุ่มพวง ดวงจันทร์ รำลึกครบรอบ 30 ปี ย้อนประวัติราชินีลูกทุ่งผู้ล่วงลับ 1 ใน "ปริยศิลปิน" ผู้อยู่ในใจของคนไทย

ครบรอบรำลึก 30 ปี การจากไปของ  พุ่มพวง ดวงจันทร์  ราชินีเพลงลูกทุ่ง ในวันที่ 13 มิถุนายน ที่จะถึงนี้  ที่วัดทับกระดาน ต.บ่อสุพรรณ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี เริ่มจัดงานรำลึกให้ราชินีลูกทุ่งผู้ล่วงลับตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยเหล่าแฟนเพลง ได้ประกอบพิธีเชิญอัฐิ และดวงวิญญาณ พุ่มพวง ดวงจันทร์ จากศาลเก็บอัฐิพุ่มพวง มาตั้งในศาลาการเปรียญสุธรรมรัตราษฎร์บำรุง ซึ่งถือว่าเป็นพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการไปแล้วเรียบร้อย


พุ่มพวง ดวงจันทร์ รำลึกครบรอบ 30 ปี ย้อนประวัติราชินีลูกทุ่งผู้ล่วงลับ

สำหรับ  พุ่มพวง ดวงจันทร์ เป็นชื่อในการแสดงเป็นนักร้องของ รำพึง จิตรหาญ มีชื่อเล่นว่า ผึ้ง ภูมิลำเนาเป็นคนชัยนาท บ้านหนองนกเขา ตำบลไพรนกยูง อำเภอหันคา  ต่อมาเติบโตที่ บ้านดอนตำลึง ตำบลบ่อสุพรรณ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี  ครอบครัวมีอาชีพรับจ้างทำไร่อ้อย เกิดในครอบครัวยากจน เป็นลูกคนที่ 5 ของบ้านในจำนวน 12 คน

พุ่มพวง ดวงจันทร์ เรียนที่โรงเรียนบ้านดอนตำลึง แต่ด้วยความที่ครอบครัวของเธอยากจน และ มีพี่น้องอีกหลายคน เธอจึงไม่จบแม้แต่ชั้น ป.2 ได้ 15 ปี บิดาได้ฝากให้เป็นบุตรบุญธรรมของไวพจน์ เพชรสุพรรณ ซึ่งแต่งเพลงและอัดแผ่นเสียงชุดแรกให้ ชื่อเพลง "แก้วรอพี่"

 ต่อมามนต์ เมืองเหนือ ได้ตั้งชื่อในวงการบันเทิงให้เธอใหม่ว่า พุ่มพวง ดวงจันทร์ เธอมีชื่อเสียงมากที่สุดในปี พ.ศ. 2525 โดยมีผลงานเพลงดัง เช่น สาวนาสั่งแฟน, นัดพบหน้าอำเภอ, อื้อฮือหล่อจัง, กระแซะเข้ามาซิ, ดาวเรืองดาวโรย, คนดังลืมหลังควาย, บทเรียนราคาแพง เป็นต้น

พุ่มพวง ดวงจันทร์  เข้าสู่วงการภาพยนตร์ในปี พ.ศ. 2526 และแสดงหนังเรื่องแรก สงครามเพลง สร้างโดยฉลอง ภักดีวิจิตร และอีกหลายเรื่อง ในช่วงที่แสดงภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักนักเพลง ได้พบกับ (ไกรสร แสงอนันต์) ผลงานการแสดงของเธอในฐานะนางเอก อย่างเช่น สงครามเพลง, รอยไม้เรียว, ผ่าโลกบันเทิง, นักร้อง นักเลง, นางสาวกะทิสด, มนต์รักนักเพลง, ลูกสาวคนใหม่, อีแต๋น ไอเลิฟยู, หลงเสียงนาง, จงอางผงาด, ขอโทษทีที่รัก, คุณนาย ป.4, อาจารย์เด๋อเจอพุ่มพวง, สาวนาสั่งแฟน, เสน่ห์นักร้อง, นางสาวยี่ส่าย (ภาพยนตร์โทรทัศน์) เป็นต้น

ต่อมาเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2532 พุ่มพวง ดวงจันทร์ ได้รับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกครั้ง ในสาขารางวัลขับร้องเพลงดีเด่น กับเพลง "สยามเมืองยิ้ม" ประพันธ์โดยครูลพ บุรีรัตน์ ในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่ง ภาค 2

ต่อในปี 2534 พุ่มพวง ดวงจันทร์ ป่วยด้วยโรคเอสแอลอี และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2535 ด้วยวัยเพียง 31 ปี ซึ่งมีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 ที่วัดทับกระดาน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี แม้เธอจะเสียชีวิตไปแล้วแต่ผลงานของเธอก็ยังมีการวางจำหน่าย และยังมีศิลปินนักร้องลูกทุ่งอีกหลายรายได้นำผลงานเพลงของเธอมาขับร้องใหม่

วันที่ 15 สิงหาคม 2552 กระทรวงวัฒนธรรม โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคัดเลือกปริยศิลปิน และปรมศิลปิน มีมติประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ นายสุรพล สมบัติเจริญ และ พุ่มพวง ดวงจันทร์ หรือรำพึง จิตรหาญ เป็น "ปริยศิลปิน" ศิลปินอันเป็นที่รักยิ่งของประชาชน

ข้อมูลจาก  :  วิกิพีเดีย

ภาพจาก :   บ้านพุ่มพวง OFFICIAL

ข่าวแนะนำ