TNN online เลือกตั้ง 2566 คนกรุงทุบสถิติ! แห่ใช้สิทธิเลือกตั้งกว่า 74%

TNN ONLINE

เลือกตั้ง2566

เลือกตั้ง 2566 คนกรุงทุบสถิติ! แห่ใช้สิทธิเลือกตั้งกว่า 74%

เลือกตั้ง 2566 คนกรุงทุบสถิติ! แห่ใช้สิทธิเลือกตั้งกว่า 74%

เลือกตั้ง 2566 คนกรุงทุบสถิติออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง 74.28% ผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ อันดับ 1 ก้าวไกล คว้าชัย 32 เขต - เพื่อไทย ได้ 1 เขต

เลือกตั้ง 2566 คนกรุงทุบสถิติออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง 74.28% ผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ อันดับ 1 ก้าวไกล คว้าชัย 32 เขต - เพื่อไทย ได้ 1 เขต


เลือกตั้ง 2566 เมื่อเวลา 02.20 น. นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยความคืบหน้าการนับคะแนนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กรุงเทพมหานคร ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ว่า ขณะนี้รวมคะแนนแล้วเสร็จทั้ง 33 เขตเลือกตั้ง สำหรับการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต มีประชาชนผู้มาใช้สิทธิ 74.28% จำนวนบัตรดี 95.58% บัตรเสีย 1.46% และบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน 2.96% โดยผลอย่างไม่เป็นทางการ เบื้องต้น ส.ส. แบ่งเขต อันดับ 1 ได้แก่ พรรคก้าวไกล 32 เขต อันดับ 2 ได้แก่ พรรคเพื่อไทย 1 เขต


ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคนซึ่งเริ่มปฏิบัติงานกันตั้งแต่เวลา 04.00 น. จนกระทั่งตอนนี้ ด้วยความเสียสละ ทุ่มเท และขอขอบคุณประชาชนชาวกรุงเทพฯ ที่ใส่ใจและออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้ ซึ่งมีจำนวนมากกว่าปีที่ผ่านมา


เผยสถิติผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งส.ส. ย้อนหลัง


ทั้งนี้ เมื่อปี 2550 กรุงเทพมหานครมีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,139,894 คน มาใช้สิทธิเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขต จำนวน 2,871,827 คน คิดเป็น 69.37% มาใช้สิทธิเลือกตั้งส.ส.แบบสัดส่วน จำนวน 2,808,911 คน คิดเป็น 67.85% เมื่อปี 2554 ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,260,951 คน มาใช้สิทธิเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขต จำนวน 3,059,551 คน คิดเป็น 71.80% มาใช้สิทธิเลือกตั้งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 3,059,476 คน คิดเป็น 71.80% และเมื่อปี 2562 ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,489,223 คน (หน่วยเลือกตั้ง 6,149 หน่วย) มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 3,255,232 คน คิดเป็น 72.51%


แจงกรณีบางพลัดไม่อนุญาตเข้าไปห้องประมวลผลคะแนน รอประกาศผลรวมคะแนนทางเว็บไซต์ใน 5 วัน


ด้าน นายสำราญ ตันพานิช ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง กล่าวว่า ในกรณีของสำนักงานเขตบางพลัด ประเด็นที่ผู้สมัครหรือตัวแทนผู้สมัครพรรคการเมืองขออนุญาตเข้าไปไลฟ์ (แพร่ภาพสด) ในสถานที่ซึ่งเป็นห้องประมวลผลคะแนน เจ้าหน้าที่ไม่สามารถอนุญาตให้เข้าไปได้ เนื่องจากเป็นการไม่สะดวกต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการประมวลผล ประเด็นต่อมาคือข้อสงสัยเรื่องการประกาศผลรวมคะแนนนั้นจะให้สำเนาไปหรือเป็นเอกสารไปได้หรือไม่ ในส่วนนี้สามารถเปิดเผยได้ เป็นผลคะแนนที่ต้องประกาศให้รับทราบโดยทั่วไปอยู่แล้ว โดยประขาชนสามารถเข้ามาตรวจสอบได้ทางเว็บไซต์ของกรุงเทพมหานครภายใน 5 วัน


ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการนับคะแนนสามารถดำเนินการตามระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปี 2566 ข้อ 163 เรื่องการทักท้วงการนับคะแนน คือให้ผู้ที่สงสัยยื่นแบบทักท้วงตามแบบ ส.ส. 5/10


ผลเลือกตั้ง ส.ส. 66 อย่างเป็นทางการออกภายใน 60 วัน


ทั้งนี้ เมื่อ กกต.กลาง ตรวจสอบแล้วว่าการเลือกตั้งนั้นมีความสุจริตและเที่ยงธรรม ก็จะดำเนินการประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง (14 พ.ค. 66) หลังจากนั้น จะเริ่มเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ประกาศผลการเลือกตั้ง


ไม่ไปใช้สิทธิ ต้องแจ้งเหตุภายใน 21 พ.ค. 66


สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิ โดยมีเหตุจำเป็น อาทิ ต้องเดินทางไปยังพื้นที่ห่างไกล เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เป็นผู้พิการหรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เป็นผู้ที่พักอาศัยอยู่ต่างประเทศ พักอาศัยห่างไกลจากหน่วยเลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง หรือเหตุผลอื่น ๆ ต้องไปแจ้งเหตุภายในวันที่ 21 พ.ค. 66 โดยทำหนังสือชี้แจงเหตุที่ทำให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ได้ ระบุเลขบัตรประจำตัวประชาชนและที่อยู่ตามทะเบียนบ้านให้ชัดเจน ยื่นต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยสามารถยื่นด้วยตนเองหรือมอบหมายผู้อื่น หรือส่งผ่านทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือแจ้งทางแอปพลิเคชัน “Smart Vote” หรือแจ้งทางเว็บไซต์ www.bora.dopa.go.th


ผู้ที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เลือกตั้งล่วงหน้า หรือเลือกตั้งวันจริง 14 พ.ค. จะต้องแจ้งเหตุไปไม่ใช้สิทธิด้วย ไม่เช่นนั้นจะเสียสิทธิบางประการ ดังนี้ 

1.ยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งส.ส. 

2.ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส. หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็นส.ว. 

3.สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน 

4.ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองและข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง 

5.ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  โดยจะถูกจำกัดสิทธิ ทำสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นเวลาสองปี นับแต่วันเลือกตั้งที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง