TNN online เลือกตั้ง 2566 เปิดประวัติการ "ยุบสภา" ไทย รวม 14 ครั้ง

TNN ONLINE

เลือกตั้ง2566

เลือกตั้ง 2566 เปิดประวัติการ "ยุบสภา" ไทย รวม 14 ครั้ง

เลือกตั้ง 2566  เปิดประวัติการ ยุบสภา ไทย รวม 14 ครั้ง

เลือกตั้ง 2566 ในที่สุดก็ได้เริ่มปักหมุดเลือกตั้งอย่างชัดเจน หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้สัมภาษณ์ว่า กำหนดการการยุบสภาจะมีภายในเดือน มีนาคม 2566 และกรอบเวลาเลือกตั้งเป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศไว้ คือ 7 พฤษภาคม 2566 ซึ่งจะเป็นการยุบสภาครั้งที่ 15 ของประเทศไทย

จากประวัติศาสตร์การเมืองของไทยได้มีการยุบสภามาแล้ว 14 ครั้ง ซึ่งการประกาศยุบสภาแต่ละครั้งอาจมีสาเหตุแตกต่างกันไป แต่โดยภาพรวมคือความขัดแย้งทางการเมืองจากรัฐบาลผสม และในระยะหลังจะเป็นผลจากการชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง


ครั้งที่1 พันเอก พระยาพหลพลหยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2481 เนื่องจากได้มีการเสนอญัตติขอแก้ไขข้อบังคับการประชุม และการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร ข้อ 68 เกี่ยวกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติตามได้ และปรากฏว่ารัฐบาลแพ้มติสภาฯ จึงทำให้นายกรัฐมนตรีได้กราบถวายบังคมทูลลาออกจากตำแหน่ง แต่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เห็นว่ารัฐบาลจึงควรอยู่ต่อไปเนื่องจากสถานการณ์โลกยังไม่มั่นคง และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลกำลังจะเสด็จนิวัติพระนคร นายกรัฐมนตรีจึงขอให้ออกพระราชกฤษฎีกายุบสภาเพื่อให้เลือกตั้งสมาชิกประเภทที่ 1 ใหม่


ครั้งที่2 ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2488 เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้รับเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 2481 ได้มีพระราชบัญญัติขยายกำหนดเวลาให้อยู่ในตำแหน่งต่ออีก 2 ครั้ง เพราะไม่อาจจัดให้มีการเลือกตั้งในระหว่างสงครามขณะนั้นได้ (สงครามโลก ครั้งที่ 2 ) ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดดังกล่าวอยู่ในตำแหน่งนานเกินควรย่อมเป็นเหตุให้จิตใจ และความคิดเห็นของสมาชิกส่วนมากเหินห่างจากเจตนา และความประสงค์อันแท้จริงของราษฎร ประกอบกับรัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ บรรดาสมาชิกได้อภิปรายอย่างรุนแรง และลงมติไม่เห็นชอบด้วยกับหลักการบางมาตราของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว


ครั้งที่3 นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2516 เนื่องจากภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ในขณะนั้นได้มีการดำเนินการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งแต่งตั้งไว้ สมัยจอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี จำนวน 299 คน ปรากฏว่ามีกลุ่มนักศึกษาและประชาชนได้เคลื่อนไหวขอให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดดังกล่าวลาออกจากตำแหน่ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแต่งตั้งสมาชิกชุดใหม่สมาชิก ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดดังกล่าวจึงได้ทยอยกันลาออกจากตำแหน่ง จนเหลือเพียง 11 คน ซึ่งไม่เพียงพอที่จะเป็นองค์ประชุม จึงได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อจะได้แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้นใหม่


ครั้งที่4 ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2519 จากปัญหาความแตกแยกและขัดแย้งในคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นรัฐบาลผสมอย่างรุนแรงทำให้เกิดอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน และส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล ก่อนจะมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 14 มกราคม 2519 นายกรัฐมนตรีจึงได้ดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร


ครั้งที่5 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2526 จากความขัดแย้งอย่างรุนแรงในปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปลี่ยนวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประชาชนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งและรุนแรงทางการเมือง รวมถึงความเสื่อมโทรมทางเศรษฐกิจ สังคม ความสามัคคีของคนในชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้


ครั้งที่ 6 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2529 เนื่องจากรัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก ปี 2522 และปี 2529ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร แต่สมาชิกสภาฯลงมติไม่รับพระราชกำหนด ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าเกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองของพรรคการเมืองบางพรรคหากให้สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ทำหน้าที่ต่อไปอาจเกิดผลกระทบต่อนโยบายของรัฐบาลอย่างรุนแรง และกระทบถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ


ครั้งที่7 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2531เนื่องจากรัฐบาลเห็นว่าเกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองบางพรรค ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความไม่มั่นคงในเสถียรภาพของรัฐบาลและให้เกิดอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน และการพัฒนาประเทศ


ครั้งที่8 นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2535 การยุบสภาในครั้งนี้ สืบเนื่องจากการสืบทอดอำนาจของคณะ รสช. ซึ่งทำให้เกิดวิกฤตทางการเมืองอย่างรุนแรง จากเหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคม 2535 โดยมีการเรียกร้องให้ พลเอก สุจินดา คราประยูร ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดให้มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีเป็นการเฉพาะกิจ เพื่อจะได้ใช้กระบวนการทางรัฐสภาและรัฐธรรมนูญ คืนอำนาจให้กับประชาชน ซึ่งในขณะนั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งและจะจัดตั้งรัฐบาลนั้นไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาวิกฤตทางการเมือง รัฐบาลจึงได้ดำเนินการยุบสภาฯ เพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่


ครั้งที่ 9 นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2538 เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยพรรคการเมืองหลายพรรค แต่ไม่มีพรรคการเมืองใดที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียงพอจะจัดตั้งรัฐบาล และเกิดความแตกแยกในหลายพรรคการเมืองและระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลจนไม่สามารถจะดำเนินการในทางการเมืองได้อย่างมีเอกภาพ ขณะที่มีการเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีจากผลการปฏิบัติงานเรื่องการออกเอกสารสิทธิให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน(ส.ป.ก. 4-01) และมีการลาออกของพรรคการเมือง (พรรคพลังธรรม)ร่วมรัฐบาล ซึ่งทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน


ครั้งที่10 นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2539 เหตุผลการยุบสภาฯภายหลังมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ระหว่างวันที่ 18-20 กันยายน 2539 โดยฝ่ายค้านเน้นอภิปรายที่ตัวนายบรรหาร ศิลปอาชา เรื่องประเด็นสัญชาติ เมื่อการอภิปรายสิ้นสุดลง ที่ประชุมพรรคร่วมรัฐบาลมีมติร่วมกันว่าจะขอให้นายบรรหาร ศิลปอาชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งนายบรรหาร ศิลปะอาชา ได้ประกาศผ่านสื่อว่าจะลาออกภายใน 7 วัน โดยระหว่างนั้นจะพิจารณาบุคคลที่เหมาะสมขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ก่อนจะเปลี่ยนใจประกาศยุบสภาในท้ายที่สุด


ครั้งที่11 นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2453 ภายหลังเข้ามาปฏิบัติภารกิจสำคัญๆ หลายประการจนแล้วเสร็จหรือลุล่วงลง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 (เศรษฐกิจฟองสบู่) ซึ่งทำให้พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีประกอบกับรัฐสภาให้ความเห็นชอบกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาแล้ว จึงเป็นสาเหตุที่นำมาสู่การยุบสภา


ครั้งที่12 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 ภายหลังเกิดการชุมนุมสาธารณะตั้งข้อเรียกร้องในทางการเมือง และได้ขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง ส่อเค้าว่าจะมีการเผชิญหน้าจนอาจปะทะกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย และอาจมีการสอดแทรกฉวยโอกาสจากผู้ที่ประสงค์จะเห็นความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง แม้รัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาด้วยการเปิดให้มีการอภิปรายทั่วไป โดยไม่มีการลงมติในที่ประชุมรัฐสภาก็ไม่อาจแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันระหว่างผู้ชุมนุมเรียกร้องกับรัฐบาลได้สภาพดังกล่าวย่อมไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ ในที่สุด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จึงตัดสินใจประกาศยุบสภา


ครั้งที่13 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 10พฤษภาคม 2554 หลังจากเข้ามาคลี่คลายปัญหาทางเศรษฐกิจและความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคมโดยเฉพาะเรื่องการเมือง ประกอบกับรัฐสภาได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ของบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปเรียบร้อยแล้ว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงตัดสินใจคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองให้แก่ประชาชน ด้วยการประกาศยุบสภา


ครั้งที่ 14 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 หลังจากกลุ่มผู้ชุมนุมจากหลายภาคส่วนร่วมกันเดินขบวนกดดันเจ้าหน้าที่รัฐตามสถานที่ราชการต่าง ๆ คัดค้านการออกร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม 2556 โดยสถานการณ์การชุมนุมยังคงส่อเค้าว่าจะยืดเยื้อ และทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการเปิดโอกาสให้ตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกันแต่ก็ไม่เป็นผล ดังนั้น น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงตัดสินใจประกาศยุบสภาโดยให้เหตุผลว่า เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง และเป็นการคืนอำนาจให้พี่น้องประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจกับการเลือกตั้งครั้งใหม่


หลังการประกาศยุบสภาครั้งที่ 15 เสียงปี่กลองการเมืองจะเริ่มดังรับเทศกาลเลือกตั้งอีกครั้งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย…ซึ่งการแสดงพลังโดยออกไปสิทธิ์ใช้เสียงของเราไม่ว่าผลสรุปจะตกอยู่ในฝั่งข้างมากหรือข้างน้อย แต่เรายังได้ใช้สิทธิที่เรามีในการเลือกตั้งที่มีคำกล่าวว่า เป็นดัชนีชี้วัดประชาธิปไตย



ที่มาข้อมูล : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี



ติดตามข่าวหุ้นและการลงทุนทางไลน์

• Line @TNNWEALTH : https://bit.ly/3tCKmiD

———————————————————————

ติดตาม TNN Wealth ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ที่

• Youtube : https://bit.ly/TNNWealthYoutube

• TikTok : https://bit.ly/TNNWealthTikTok


หรือดูรายการ Live ได้ทาง https://bit.ly/3HmUu4O

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง