ธปท.รับเข้าดูแลค่าบาทช่วงผันผวนหนัก
ธปท.ยอมรับเข้าดูแลค่าเงินบาทช่วงผันผวนสูง เพื่อลดผลกระทบ สะท้อนจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้น พร้อมแจงไม่กระทบกลุ่มท่องเที่ยวจากจีน มาเลเซีย และญี่ปุ่น
นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง และแข็งค่ารวดเร็ว โดยในช่วงเงินบาทผันผวนสูง ธปท.ได้เข้าไปดูแลเพื่อลดผลกระทบ ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนได้จากเงินสำรองระหว่างประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้น และเงินสำรองระหว่งประเทศที่เพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่งมาจากดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง ทำให้การตีราคสินทรัพย์(valuation) ในเงินสำรองปรับเพิ่มขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุด ณ วันที 20 กันยายน 2567 อยู่ที่ 240,866 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี หรือ หรือตั้งแต่เมษายน 2565
สำหรับปัจจัยหลักที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า โฆษกธปท.ย้ำว่ามาจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐออกมาชะลอตัว และธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่าตลาดคาดไว้ และมีแนวโน้มจะปรับลดลต่อเนื่องชัดเจน รวมถึงทิศทางค่าเงินเยน และเงินหยวนแข็งค่าขึ้น ดึงให้ค่าเงินบาทและภูมิภาคปรับตัวแข็งค่าขึ้น แต่เงินบาทแข็งค่านำสกุลอื่นเพราะมีปัจจัยเฉพาะในประเทศจากรัฐบาลมีเสถียรภาพ และเริ่มออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงทองคำที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทไม่ได้แข็งค่ามากสุดในภูมิภาค วันนี้ (30 ก.ย.) เป็นรองเงินริงกิตมาเลเซียที่แข็งค่าร้อยละ 11
นอกจากนี้โฆษกธปท.ระบุว่า การที่เงินบาทแข็งค่าอาจทำให้ผู้ส่งออกมีรายได้เป็นเงินบาทลดลง โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่ไม่มีการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ แต่ไม่ได้ทำให้ปริมาณการส่งออกแย่ลง โดยจากสถิติข้อมูลพบว่าปริมาณการส่งออกจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงขึ้นอยู่กับกำลังซื้อหรือเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเป็นสำคัญ
ขณะที่ผลต่อการท่องเที่ยวอาจมีบางกลุ่มได้รับผลกระทบ แต่กลุ่มนักท่องเที่ยวหลักอย่างจีน มาเลเซีย และญี่ปุ่น ไม่น่าจะถูกกระทบเพราะค่าเงินของ 3 ประเทศนี้แข็งค่ากว่าเงินบาท
โฆษกธปท.ระบุด้วยว่า โดยปกติในช่วงไตรมาส 4 ของทุกปีเงินบาทจะมีแนวโน้มแข็งค่าสุดในรอบปี เพราะเป็นช่วงฤดูการส่งออกดี และนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาไทยเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามธปท.จะติดตามดูแลการเคลื่อนไหวของเงินบาทอย่างใกล้ชิด
ที่มา TNN
ข่าวแนะนำ