กรุงศรีคาดน้ำท่วมทำศก.สูญ 3.3-5.9 หมื่นล. | ย่อโลกเศรษฐกิจ
วิจัยกรุงศรี ประเมินผลกระทบอุทกภัยทั้งปี 67 อาจทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเสียหายตั้งแต่ 33,400 - 59,5000 ล้านบาท ไม่รุนแรงเท่าปี 2554 ที่เสียหายสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท
วิจัยกรุงศรี ประเมินความเสี่ยงอุทกภัยในปี 2567 ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเดือนกันยายน-ตุลาคม ที่มีความเสี่ยงในพื้นที่ทุกภาคยกเว้นภาคใต้ และเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมสำหรับภาคใต้ จากอิทธิพลของร่องมรสุม และพายุหมุนเขตร้อนที่คาดว่าจะเคลื่อนผ่านประเทศไทยเป็นประจำทุกปี
ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีได้ประเมินพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทั้งปี 2567 ภายใต้การจำลองสถานการณ์ 3 ฉากทัศน์ และประเมินผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ดังนี้
กรณีดีที่สุด (Best case) หรือกรณีที่เกิดความเสียหายน้อยสุด จะมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 6.2 ล้านไร่ มูลค่าทรัพย์สินเสียหาย 2,200 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย 31,200 ล้านบาท คิดเป็นความเสียหายรวม 33,400 ล้านบาท หรือราวร้อยละ 0.19 ของ GDP
กรณีฐาน (Base case) มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 8.6 ล้านไร่ มูลค่าทรัพย์สินเสียหาย 3,100 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย 43,400 ล้านบาท คิดเป็นความเสียหายรวม 46,500 ล้านบาท หรือราวร้อยละ 0.27 ของ GDP
กรณีเสียหายมากสุด (Worst case) มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 11.0 ล้านไร่ มูลค่าทรัพย์สินเสียหาย 4,000 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย 55,500 ล้านบาท คิดเป็นความเสียหายรวม 59,500 ล้านบาท หรือราว ร้อยละ 0.34 ของ GDP
ทั้งนี้ ระดับความเสียหายจากอุทกภัยต่อเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับ 1) ปริมาณน้ำฝนและการบริหารจัดการน้ำ 2) พื้นที่ที่เกิดอุทกภัย 3) ตำแหน่งที่ตั้งหน่วยเศรษฐกิจ (ครัวเรือน โรงงาน พื้นที่เกษตร)
อย่างไรก็ตาม วิจัยกรุงศรีคาดว่า อุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จะไม่รุนแรงเท่ากับมหาอุทกภัยในปี 2554 และจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากเท่ากับมหาอุทกภัยในปี 2554 ที่ธนาคารโลก (World Bank) ประเมินมูลค่าความเสียหายไว้สูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท
เนื่องจากคาดว่าในปี 2567 จะมีปริมาณน้ำฝนที่น้อยกว่า และมีพื้นที่รองรับน้ำที่มากกว่า ทั้งเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลาง นอกจากนี้ ความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐที่ก้าวหน้าขึ้น อาทิ ระบบเตือนภัย การซ่อมแซมบำรุง งบประมาณสนับสนุน ประกอบกับการพัฒนาระบบป้องกันของภาคเอกชนที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในนิคมอุตสาหกรรม ยังช่วยลดทอนผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ที่มา TNN
ข่าวแนะนำ