TNN "ทุนไทย-ทุนเทศ" เปิดบริษัทชิงตลาดสมุนไพร

TNN

เศรษฐกิจ

"ทุนไทย-ทุนเทศ" เปิดบริษัทชิงตลาดสมุนไพร

ธุรกิจสมุนไพรเติบโตมากตั้งแต่โควิด ทำให้ดึงดูดให้มีการลงทุนทั้งจากนักลงทุนไทยและต่างชาติเพิ่มขึ้น แม้ว่าผลประกอบการในปีที่ผ่านมาไม่ดีนัก แต่ด้วยทิศทางของสินค้าเพื่อสุขภาพที่ยังเติบโต ทำให้ตลาดนี้ยังมีอนาคตที่ดี

สมุนไพรไทย เริ่มเป็นที่ต้องการมากขึ้น โดยในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทั่วโลกต้องเผชิญการหวาดกลัว ความเชื่อของผู้คนบางส่วนในการใช้วัคซีนและยาสังเคราะห์จะส่งผลต่อร่างกายในอนาคต ผู้คนจึงเริ่มมองหาตัวเลือกในการดูแล บําบัด บรรเทาอาการ และ การรักษาสุขภาพระยะยาว ซึ่ง สมุนไพร จึงเข้ามาช่วยตอบโจทย์ในการดูแลสุขภาพของหลายๆ คน สมุนไพรเป็นวัตถุที่ได้จากธรรมชาติ พืชพันธุ์ อวัยวะ สัตว์ และแร่ธาตุ ส่งผลให้คนกลุ่มหนึ่งเชื่อมั่นในการนำมาใช้

พบว่าก่อนโรคโควิด-19 ระบาด ตลาดเครื่องสําอาง อาหารเสริม และ ยาสมุนไพร เติบโตประมาณร้อยละ 6 - 8 แต่ช่วงหลังโควิด-19 เติบโตถึง ร้อยละ 12 - 14 ชี้ให้เห็นว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นความต้องการใช้สมุนไพร นอกจากนี้ เทรนด์การรักสุขภาพที่ขยายวงกว้างไปทั่วโลก ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย ไร้สารเคมี เป็นมิตรต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นสิ่งที่ตลาดทั่วโลกต้องการเป็นอย่างมาก

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการประเมินถึงภาพรวมธุรกิจสมุนไพร พบว่า ปัจจุบันธุรกิจสมุนไพรเป็นโอกาสของผู้ประกอบการรายย่อยของไทยในการเข้าทำธุรกิจ โดยสามารถเปลี่ยนภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ผู้เล่นในตลาดอุตสาหกรรม

 “ถ้าไปดูมูลค่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั่วโลกปี 2565  มีมูลค่าสูงถึง 1.99 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ว่าปี 2576   มูลค่าจะอยู่ที่ 4.17 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ถือว่าตลาดเติบโตทุกปี และเป็นตลาดใหญ่มาก”

ธุรกิจสมุนไพรเติบโตตามกระแสการรักสุขภาพ ซึ่งไม่เพียงแต่มนุษย์เท่านั้น ยังมีผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำหรับสัตว์และสมุนไพรในการกําจัดศัตรูพืชเกิดขึ้นอีกด้วย ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยในการเข้าทำธุรกิจในช่วงเวลานี้เป็นอย่างมาก

 

ธุรกิจสมุนไพรของไทย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเพาะปลูก กลุ่มผลิต/แปรรูป และกลุ่มขายปลีก/ขายส่ง ถ้าไปดูข้อมูลในระบบ DBD DataWarehouse+ ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ธุรกิจสมุนไพร ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562 - 2566) คือ ช่วงก่อน - ระหว่าง - หลัง การระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีและมีทิศทางการประกอบธุรกิจที่เป็นบวก 

ปี 2562 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ 1,303 ราย ทุนจดทะเบียน 2,100 ล้านบาท

ปี 2563 จัดตั้งธุรกิจใหม่ 1,547 ราย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 19) ทุนจดทะเบียน 5,300 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 145)

ปี 2564 จัดตั้งธุรกิจใหม่ 2,340 ราย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 51) ทุนจดทะเบียน 4,400 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 17)

ปี 2565 จัดตั้งธุรกิจใหม่ 2,570 ราย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 10) ทุนจดทะเบียน 5,950ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 35)

ปี 2566 จัดตั้งธุรกิจใหม่ 2,530 ราย (ลดลงร้อยละ 1.4) ทุนจดทะเบียน 5,850 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 1.7)

ปี 2567 มกราคม - กรกฎาคม จัดตั้ง 1,452 ราย ทุนจดทะเบียน 3,120 ล้านบาท

 

ถ้าไปดูผลประกอบการ ธุรกิจสมุนไพร พบว่า ปรับขึ้นลงๆ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

ปี 2564 รายได้ 867,500 ล้านบาท กำไร 38,000  ล้านบาท 

ปี 2565 รายได้ 905,900 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.40) กำไร 33,000 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 14) 

 ปี 2566 รายได้ 872,400 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 3.70) กำไร 27,500 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 17)

ถึงแม้ว่า ช่วงปีที่ผ่านมา ผลประกอบการจะลดลงเล็กน้อย แต่ในระยะยาวคาดว่าผลประกอบจะกลับมาเติบโตจากกระแสการนําสมุนไพรมารักษาโรคและเทรนด์รักสุขภาพ โดยการนําเอาสมุนไพรมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ

 

มีข้อแนะนำจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ถึงแนวทางการพัฒนาของธุรกิจในแต่ละกลุ่ม

 -กลุ่มเพาะปลูก ถือเป็นกลุ่มต้นน้ำที่มีการผลิตวัตถุดิบ เพาะปลูกพืชพันธุ์ โดยกลุ่มธุรกิจนี้ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบของการทำเกษตรท้องถิ่น บางพื้นที่มีการรวมกลุ่มกันในรูปแบบของกลุ่มเกษตรกร โดยจุดแข็งของประเทศไทยคือมีลักษณะภูมิอากาศที่เหมาะสมทำให้พืชพันธุ์สมุนไพรสามารถเจริญเติบโตด้วยดี ความชํานาญในการเพาะปลูกมาจากประสบการณ์และสืบทอดส่งต่อกันรุ่นต่อรุ่น แต่ยังคงมีการใช้สารเคมีในการกําจัดและรักษาโรคและศัตรูพืช ดังนั้นหากต้องการอยู่ในตลาดที่สามารถแข่งขันได้ กลุ่มเพาะปลูกต้องปรับเปลี่ยนสู่วิถีเกษตรอินทรีย์ ซึ่งอาจต้องอาศัยหน่วยงานภาครัฐในการให้ความรู้ และส่งเสริมการทำเกษตรที่ปลอดภัยเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบ

-กลุ่มผลิตและแปรรูป เป็นกลุ่มที่นําวัตถุดิบที่ได้จากการเพาะปลูกมาแปรรูปและบรรจุภัณฑ์เพื่อส่งต่อไปยังผู้จําหน่าย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบกลุ่มอุตสาหกรรมครอบครัว สูตรตํารับยาต่างๆ ยังคงเป็นการถ่ายทอดกันในครอบครัว ซึ่งยังสามารถพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพของสินค้า การเก็บรักษา ให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมได้ ด้วยการส่งเสริมนวัตกรรมใหม่จากภาครัฐและหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมทั้งการออกแบบบรรจุภัณฑ์ การเก็บรักษา และการขนส่งสินค้า ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญของกลุ่มผลิตและแปรรูป

- กลุ่มขายปลีก/ขายส่ง เป็นกลุ่มที่ส่งตรงสินค้าที่ได้จากการผลิตสู่มือผู้บริโภค ทั้งรูปแบบการขายผ่าน หน้าร้าน การขายออนไลน์ เป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องเน้นที่การตลาดและสร้างการรับรู้ให้ผู้ซื้อสินค้า เทคนิค และ ช่องทางที่ช่วยสร้างการรับรู้ และกระตุ้นให้เกิดการซื้อสินค้าในที่สุด สำหรับกลุ่มขายปลีก/ขายส่ง จะให้ความสำคัญกับการตลาดเป็นหลัก และการขยายช่องทางการตลาดให้กว้างขวางเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลาย

ในการเดินหน้าธุรกิจของทั้ง 3 กลุ่มจำเป็นต้องอาศัยการตลาดที่ดีเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการตลาด และการเสริมสร้างองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการบริหารจัดการธุรกิจ การหาพันธมิตรและสร้างเครือข่ายทางการค้า โดยต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจเข้ามาขับเคลื่อนให้ธุรกิจเติบโตและเดินต่อไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการนําพากลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจนี้ไปยังตลาดทั้งในประเทศและตลาดโลก และสร้างการรับรู้สมุนไพรไทยแก่กลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลายมากขึ้น

นอกจากสมุนไพรแล้ว ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นด้วยขั้นตอนที่ปลอดสารพิษ หรือ ออร์แกนิค งทำให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรนั้นได้รับการยอมรับ และสามารถสร้างมูลค่าสินค้าได้สูงกว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตด้วยขั้นตอนปกติ สมุนไพรจึงมีการขยายกลุ่มผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นตามพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ธุรกิจสมุนไพรจึงเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้ประกอบการรายเล็กควรรีบคว้าไว้

ธุรกิจสมุนไพร ถือว่าได้รับความสนใจค่อนข้างมาก ถ้าไปดูข้อมูลบริษัทสมุนไพรไทย พบว่า ธุรกิจสมุนไพรมีนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่จำนวน 18,342 ราย ทุนรวม 147,580 ล้านบาท โดยพบว่า กลุ่มกลุ่มขายปลีก/ขายส่งมีจำนวนมากสุดสัดส่วนร้อยละ 82  และส่วนใหญ่เป็นกิจการธุรกิจ ขนาดเล็ก (S) สัดส่วนกว่าร้อยละ 94 “

ไม่เฉพาะแค่คนไทยที่มาลงทุนยังพบว่าชาวต่างชาติสนใจลงทุนด้วย โดยการลงทุนของชาวต่างชาติในธุรกิจสมุนไพรไทย พบว่า “มีมูลค่าทั้งสิ้น 38,700 ล้านบาท หรือมีสัดส่วนร้อยละ 26 ของการลงทุนทั้งธุรกิจสมุนไพร (ผู้ประกอบการไทยลงทุน 108,873.59 ล้านบาท หรือร้อยละ 74) โดยชาวต่างชาติที่ลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก คือ สหรัฐฯ สัดส่วนร้อยละ 31 เงินลงทุนกว่า 11,000 ล้านบาท  ญี่ปุ่น สัดส่วนร้อยละ 13 เงินลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท สิงคโปร์ สัดสวนร้อยละ 8 เงินลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการร่วมลงทุนระหว่างคนไทยกับชาวต่างชาติ ทั้งในกลุ่มเพาะปลูก กลุ่มผลิต/แปรรูป และกลุ่มขายปลีก/ขายส่ง 

นโยบายในการผลักดันของไทย ดำเนินการผ่านคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันมี รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมภาพลักษณ์และการตลาดสมุนไพร ซึ่งมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นฝ่ายเลขานุการ โดยมีแผนปฏิบัติการที่มีเป้าหมายสร้างภาพลักษณ์และส่งเสริมการตลาดสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ตลอดจนขยายตลาดเชิงรุกทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ในช่างกลางปีที่ผ่านมา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า นำผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพร จำนวน 20 ราย เข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหาร (THAIFEX-ANUGA ASIA 2024) ในช่วงกลางปี 2567 ที่ผ่านมา พบว่ามีการเจรจาจับคู่ธุรกิจ 1,024 คู่ และสร้างมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 194 ล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีการเจรจามากที่สุด ได้แก่ ขิงแปรรูป ผักอบกรอบ น้ำนมงาดำ ไข่ผำ และดาวเรืองอบแห้ง 

นอกจากนี้ มีการผลักดัน จังหวัดน่าน เป็นเมืองสมุนไพร ลำดับที่ 16 เป็นการพัฒนาทักษะด้านการประกอบธุรกิจให้กับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพร "Uplift Marketing Skills : ต่อยอดตลาด สร้างโอกาสเมืองสมุนไพร" พร้อมสร้างการรับรู้เผยแพร่เรื่องราวสมุนไพรในจังหวัดน่าน "กระซิบรัก ฮักสมุนไพร"เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้รับตอบรับที่ดี ตรงนี้ทำให้โอกาสของตลาดสมุนไพรไทยที่จะขยายตัวมากขึ้น

ข่าวแนะนำ