TNN "ไทยครัวโลก” ดันส่งออกอาหารพุ่ง หนุนเศรษฐกิจโต

TNN

เศรษฐกิจ

"ไทยครัวโลก” ดันส่งออกอาหารพุ่ง หนุนเศรษฐกิจโต

อุตสาหกรรมอาหารของไทยเติบโตต่อเนื่อง ส่งออกเพิ่มขึ้นทุกปี นอกจากการส่งออกอาหารดั้งเดิมแล้ว ไทยยังเร่งผลักดันอุตสาหกรรมอาหารอนาคตใหม่ ทั้งในกลุ่มเพื่อสุขภาพ กลุ่มอาหารจากพืช กลุ่มโปรตีนทางเลือก

อุตสาหกรรมอาหารของไทย ถือเป็นอุตสาหกรรมที่โดดเด่นมาก และมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย

ในปี 2566 สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) กว่า 1.14 ล้านล้านบาท(หนึ่งล้านหนึ่งแสนสี่หมื่นล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 9.1 จากปีก่อนหน้า มีสัดส่วนร้อยละ 6.3 ของ GDP ประเทศไทย และมีสัดส่วนถึงร้อยละ 24.6 ของ GDP ภาคอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมาไทยส่งออกอาหารไปทั่วโลก ประมาณ 1.52 ล้านล้านบาท (หนึ่งล้านห้าแสนสองหมื่นล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 3.9  โดยไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 14 ของโลก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.44 ของการส่งออกอาหารของทั้งโลก 

อุตสาหกรรมอาหารต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ทั้งในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ความขัดแย้งทางการค้า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งไทยในฐานะผู้ผลิตอาหารของโลกต้องปรับตัว เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ซื้อ ทำให้ล่าสุดเริ่มเห็นการผลักดันในเรื่อง “อาหารแห่งอนาคต” หรือ Future Food เช่น อาหารเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและสารประกอบเชิงฟังก์ชั่น, อาหารทางการแพทย์และอาหารเฉพาะบุคคล,ผลิตภัณฑ์อินทรีย์และอาหารไม่ปรุงแต่ง,โปรตีนทางเลือก

การผลักดันอาหารแห่งอนาคต เกิดขึ้นจากความใส่ใจต่อเรื่องสุขภาพและความปลอดภัย ความเข้าใจในปัญหาสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในกระบวนการผลิตอาหาร ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค โดยพบว่า “ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562-2566) การส่งออกอาหารแห่งอนาคตของไทย มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 15 ต่อปี”

ถ้าดูเฉพาะในปี 2566 การส่งออกอาหารแห่งอนาคตมีมูลค่า 143,000 ล้านบาท แบ่งเป็น การส่งออกอาหารเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพฯ มี ประมาณ 128,000  ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 90 ของมูลค่าการส่งออกอาหารแห่งอนาคตทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ อาหารทางการแพทย์และอาหารเฉพาะบุคคล 6,390 ล้านบาท /โปรตีนทางเลือก 6,350 ล้านบาท ใกล้เคียงกับอาหารทางการแพทย์และอาหารเฉพาะบุคคล และผลิตภัณฑ์อินทรีย์และอาหารไม่ปรุงแต่ง 1,960  ล้านบาท 

 สำหรับตลาดส่งออกหลัก 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐฯ สัดส่วนร้อยละ 13.81,เวียดนาม สัดส่วนร้อยละ 10.71, จีน สัดส่วนร้อยละ 10.31, เมียนมา สัดส่วนร้อยละ 7.81) และกัมพูชา สัดส่วนร้อยละ 7.53

 สำหรับปี 2567 ช่วง 5 เดือนแรก (มกราคม-พฤษภาคม) ไทยส่งออกสินค้าอาหารแห่งอนาคตไปแล้วกว่า 6 หมื่นล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยส่งออกอาหารเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและสารประกอบเชิงฟังก์ชั่นมากที่สุดกว่าร้อยละ 90 ที่เหลือเป็น อาหารทางการแพทย์และอาหารเฉพาะบุคคล โปรตีน และผลิตภัณฑ์อินทรีย์และอาหารไม่ปรุงแต่ง 

อาหารเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและสารประกอบเชิงฟังก์ชั่น ถือเป็นสินค้าที่มีศักยภาพ และขยายตัวตามทิศทางความต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพร่างกาย รวมทั้งให้ความสำคัญกับสุขภาพทางใจและความมั่นคงทางอารมณ์ จึงทำให้มีความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ช่วยด้านการนอนหลับ คลายความเครียด และการมีสุขภาวะทางจิตที่ดี เพิ่มขึ้น

 ขณะที่การเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ให้คุณประโยชน์ด้านความต้องการขั้นพื้นฐานทางร่างกาย (Physical Need States) จะเน้นที่การเสริมสร้างภูมิต้านทานและระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และการเพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย (Energy Boosting) นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังมีแนวโน้มที่จะบริโภคเพื่อเสริมความงามและปรับปรุงแก้ไขจุดด้อยด้านรูปลักษณ์มากขึ้น

 พาไปดูอีกหนึ่งสินค้าที่มีแนวโน้มการส่งออกดี คือ สินค้าอาหารจากพืช หรือ Plant-Based Food 

 สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ดำเนินโครงการจัดทำภาพอนาคต หรือ Foresight สินค้าอาหารจากพืช รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย สำหรับการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งทางการค้าสินค้าอาหารจากพืช เสริมสร้างขีดความสามารถการแข่งขัน เปิดประตูสู่โอกาสทางธุรกิจ พร้อมตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่

ยพบว่า ฉากทัศน์ของอนาคตที่เป็นไปได้ (Probable Future) คือ ไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบอาหารเพื่อสุขภาพของโลก เป็นแหล่งวัตถุดิบเพื่อผลิตและส่งออกอาหารสุขภาพ เพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหาร

นอกจากนี้ ยังมีอนาคตทางเลือก (Alternative Future) อีก 3 ฉากทัศน์ ได้แก่ 1) ฉากทัศน์ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเทศกาล วัฒนธรรม และเกษตรยั่งยืน คือ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเทศกาลวัฒนธรรมและเกษตรยั่งยืนของคนไทยและชาวต่างชาติ 2) ฉากทัศน์ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ คือ ไทยเป็นแหล่งของธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ ประยุกต์วัฒนธรรมอาหารและวัตถุดิบท้องถิ่นร่วมกับธุรกิจอาหารในทุกมุมของประเทศ และ 3) ฉากทัศน์ของสินค้าอาหารแปรรูป Plant-Based Food ซึ่งเป็นภาพอนาคตที่เกษตรกรไทยพัฒนาศักยภาพเพื่อเป็นผู้นำในการผลิต และส่งออกสินค้า Plant-Based ที่มีคุณภาพ และมูลค่าสูง เพื่อตอบรับความต้องการของตลาดโลก

จากผลการศึกษามีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 6 ด้าน คือ

1.ด้านการผลิตและแปรรูป ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม Plant-Based Food ที่สำคัญของโลก ผ่านการส่งเสริมคุณภาพการผลิต พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเกษตร สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในทักษะด้านต่าง ๆ ให้มีความพร้อม 
2. ด้านการตลาด ส่งเสริมการตลาดและการท่องเที่ยว เพื่อขยายโอกาสทางการค้าทั้งในประเทศและการส่งออกสินค้าเกษตรมูลค่าสูง และเพิ่มการเข้าถึงของลูกค้า ขยายฐานลูกค้าทั้งใน และต่างประเทศ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเทศกาลวัฒนธรรม เชิงเกษตรยั่งยืน และเชิงสุขภาพ รวมทั้งสร้างแบรนด์ สร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์ให้โดดเด่นและให้ชุมชนมีส่วนร่วม
3. ด้านวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพิ่มมูลค่าและยกระดับคุณภาพให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศด้าน Plant-Based Food ระดับโลก ผ่านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และเผยแพร่องค์ความรู้ รวมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการวิจัยพัฒนา 
 4. ด้านฐานข้อมูล ควรมีการจัดทำฐานข้อมูลสินค้าเกษตรและ Plant-Based Food เพื่อใช้วางแผนการพัฒนานโยบายที่มีประสิทธิภาพ ผ่านการจัดทำฐานข้อมูลพืชศักยภาพในแต่ละท้องถิ่น รวมทั้งฐานข้อมูลทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรม Plant-Based Food ตลอดห่วงโซ่อุปทาน 
5. ด้านการลงทุน ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับคุณภาพสินค้า และสร้างความยั่งยืนในกระบวนการผลิตและการใช้ทรัพยากร อาทิ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตร และอีคอมเมิร์ซ / ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม Plant-Based Food สร้างสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ เพื่อดึงดูดการลงทุนที่มีศักยภาพ และ สนับสนุนเงินทุนและการวิจัยพัฒนาให้กับ SME เพื่อมุ่งเน้นด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี 

6. ด้านกฎหมาย ส่งเสริมให้มีการปรับปรุงพัฒนากฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตร และ Plant-Based Food เพื่อสร้างกรอบที่ชัดเจนและทันสมัยสอดคล้องกับมาตรฐานสากลและตอบสนองความต้องการของตลาด อาทิ การจัดทำข้อกำหนดฉลากอาหารจากพืชของไทยเพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภค และพิจารณาทบทวนการปรับลดหรือยกเว้นภาษีนำเข้าเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งพิจารณาทบทวนกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้ใช้เทคโนโลยี GMO

 ถ้าไปดูพฤติกรรมของคนไทย ในการซื้ออาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นการสำรวจโดย  Marketbuzzz (มาร์เก็ตบัซซ) พบว่า คนไทยร้อยละ 34 พร้อมซื้ออาหารเพื่อสุขภาพ เพราะคำกล่าวอ้างด้านสุขภาพ

เมื่อพูดถึงคุณลักษณะเฉพาะของอาหารที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ พบว่า คนไทยร้อยละ 57 ให้ความสำคัญกับอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

ส่วนการรับรู้ของคนไทยส่วนใหญ่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกเป็นไปในเชิงบวก โดยหลายคนเชื่อว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค ปลอดสารพิษ และมาจากธรรมชาติ โดย พบว่าร้อยละ 70 ยินดีที่จะจ่ายเพิ่มขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค โดยส่วนใหญ่ยินดีจ่ายเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 – 20

 ข้อมูลสำรวจพบว่า คนไทยยังสับสนเกี่ยวกับการรับรองเกษตรอินทรีย์หรือออร์แกนิก โดยผลสำรวจพบว่า มีผู้บริโภคเพียงร้อยละ 36 สามารถระบุตรารับรองที่ออกโดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (ACFS) ได้อย่างถูกต้อง

และมีเพียงร้อยละ 26 ที่รู้จักตรารับรองที่ออกโดยสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (ACT) ส่วนอีก ร้อยละ 64 ไม่รู้จักหรือไม่สามารถระบุหน่วยงานที่ออกตรารับรองเกษตรอินทรีย์หรือออร์แกนิคได้อย่างถูกต้อง

ตรงนี้ทำให้เห็นว่าคนไทยให้ความสำคัญกับอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ อาหารธรรมชาติ และการไม่มีสารปรุงแต่ง มากกว่าอาหารที่ได้รับตรารับรองออร์แกนิค ซึ่งคนไทยมีภาพความเข้าใจเปิดกว้างเกี่ยวกับอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเน้นอาหารที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติและมีประโยชน์ต่อสุขภาพที่ชัดเจน มากกว่าตราการรับรองเกษตรอินทรีย์หรือออร์แกนิคเพียงอย่างเดียว

 ส่วนตลาดเครื่องดื่มและอาหารเพื่อสุขภาพในไทย ทาง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย  เคยประเมินไว้ว่า  ตลาดเครื่องดื่มและอาหารเพื่อสุขภาพในไทย เป็นตลาดที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยตลาดมีมูลค่าเกือบ 3 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากเทรนด์รักสุขภาพ ที่ส่งผลให้คนหันมาออกกำลังกาย รวมถึงเลือกดื่มเครื่องดื่มและกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพกันมากขึ้น

สถาบันอาหาร แบ่งเทรนด์ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ เป็น 5 กลุ่มหลัก คือ

 1.อาหารที่ดีต่อประสาท สมอง เนื่องจากคนในยุคปัจจุบันต้องเผชิญความเครียดมาก ดังนั้น อาหารที่ช่วยบำรุงสมอง จึงกลายเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก 

2. อาหารปราศจากน้ำตาล การบริโภคน้ำตาลเกินความจำเป็นทำให้เกิดโรคมากมาย ทั้ง โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ ขณะนี้พบการบริโภคลดหวานมากขึ้น ทำให้สินค้าที่มีปริมาณน้ำตาลต่ำหรือไม่มีน้ำตาลได้รับความนิยมอย่างมาก 

3. อาหารไขมันดีสูง เหมาะกับกลุ่มคนที่รักสุขภาพและออกกำลังกายเป็นประจำ พบว่า คนไทยหันมาใส่ใจสุขภาพออกกำลังกายเป็นประจำ ทำให้อาหารในกลุ่มนี้เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น 

4. อาหารโปรตีนทางเลือก เช่น ถั่วต่างๆ และผลิตภัณฑ์จากถั่ว ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงแค่ทางเลือกสำหรับผู้ที่เป็นมังสวิรัติหรือวีแกนเท่านั้น แต่ยังได้รับนิยมเพิ่มขึ้นจากผู้บริโภคทั่วไป ที่มองเห็นถึงประโยชน์ต่อ สุขภาพ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 

5.อาหารที่ดีต่อระบบสำไส้และการขับถ่าย เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น เพราะพบว่าคนไทยมีปัญหากับระบบขับถ่ายมากขึ้น ซึ่งลำไส้เปรียบเสมือนโรงงานผลิตสารอาหารของร่างกาย การมีลำไส้ที่แข็งแรงจะช่วยให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ร่างกายแข็งแรง มีพลังงาน และป้องกันโรคต่างๆ ได้

 

ข่าวแนะนำ