คนไทยแบกหนี้อ่วม สูงอันดับ 7 ของโลก
ปัญหาหนี้สินของคนไทยยังน่าห่วงเมื่อมีการสำรวจพบว่าปีนี้ตัวเลขการเป็นหนี้ของครัวเรือนไทยเพิ่มสูงขึ้นแตะ 6 แสนกว่าบาท ซึ่งสูงสุดเท่าที่สำรวจมาและสูงติดอันดับ 7 ของโลก ซึ่งส่วนใหญ่ที่ก่อหนี้เพราะมีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย ค่าครองชีพสูงทำให้ส่วนใหญ่ไม่มีเงินเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉิน
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทย ปี 2567 พบว่าครัวเรือนไทยมีภาระหนี้สินเฉลี่ย 606,378 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.4% และเพิ่มสูงสุดตั้งแต่มีการสำรวจในรอบ 16 ปี นับตั้งแต่ปี 2552 และยังสูงสุดติดอันดับ 7 ของโลก หรือคิดเป็น 90.4-90.8% ของจีดีพีประเทศ โดยในจำนวนนี้ เป็นหนี้ในระบบ 69.9% และมีภาระผ่อนชำระต่อเดือน 18,787 บาท อีก 30.1% เป็นมีหนี้นอกระบบ และผ่อนชำระต่อเดือน 6,518 บาท
อีกทั้งแนวโน้มภาระหนี้จะเพิ่มขึ้นทุกปีทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ และมองว่ายังต้องแบกภาระเป็นหนี้ในปัจจุบันไปอีก 1 ปี สาเหตุที่การเป็นหนี้เพิ่มขึ้น คือ รายได้ไม่เพียงพอรายจ่าย มีเหตุฉุกเฉินต้องใช้เงิน ค่าครองชีพสูง และภาระทางการเงินในครอบครัวสูงขึ้น ส่งผลให้ 71.6% ประสบปัญหาขาดการผ่อนชำระหนี้หรือผิดนัด และมองว่าในระยะ 6-12 เดือนจากนี้ ส่วนใหญ่ 34.2% มองว่ายังมีโอกาสประสบปัญหาผ่อนมาก ผลกระทบจากเศรษฐกิจไม่ดี รายได้ไม่สอดคล้องรายจ่าย ดอกเบี้ยสูง ภาระค่าใช้จ่ายครัวเรือนมาก รายได้ลดลง และหางานทำไม่ได้
อย่างไรก็หากดูจากสาเหตุเป็นหนี้ยังไม่ถือว่าบันทอนภาพรวมเศรษฐกิจ เพราะเป็นหนี้ที่เกิดจากความจำเป็นใช้ในชีวิตประจำวัน และเจอปัญหาสะสมตั้งแต่เกิดโควิดระบาด สงครามการค้าสหรัฐกับจีน (เทรดวอร์) สงครามภูมิรัฐศาสตร์ ดอกเบี้ยงสูง เศรษฐกิจโลกถดถอย ภัยแล้ง และความล่าช้าของงบประมาณ ดังนั้น การที่นโยบายรัฐบาลให้ความสำคัญต่อการลดภาระหนี้ครัวเรือนถือเป็นเรื่องที่ดี โดยอยากให้รัฐบาลชูคลินิกแก้หนี้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้รู้ว่าหนี้ประชาชนเกิดจากส่วนใหญ่ และมาตรการที่จะเข้าไปช่วยเหลือนั้นตรงจุดอย่างแท้จริง เช่น การพักหนี้ ลดดอกเบี้ย ตรงจุดจริง หรือ มีอะไรที่ปรับปรุง
ปัญหาหนี้ครัวเรือนไม่ใช่ปัญหาที่บั่นทอนเศรษฐกิจแต่มีผลทางจิตวิทยา จากมุมมองที่ว่าเมื่อหนี้ครัวเรือนสูง ประชาชนจะไม่มีความสามารถกู้ใหม่ หรือบริโภคได้เต็มที่ โดยนับตั้งแต่ปี 2556 ระดับหนี้ครัวเรือนเริ่มสูงเกินกว่า 80% ของ GDP โดยเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 90% ของ GDP นับตั้งแต่ปี 2563 และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึงระดับสูงสุดที่ 94.6% ของ GDP ในช่วงปี 2564 จากปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายภาคส่วนของประเทศต้องหยุดชะงัก ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐในเรื่องการพักชำระหนี้ จึงทำให้ยอดหนี้ครัวเรือนไม่ลดลง นอกจากนั้นยังเป็นผลจากการแปลงสินเชื่อจากนอกระบบเข้ามาสู่ในระบบ จึงทำให้มีสัดส่วนต่อ GDP สูงขึ้น
ทั้งนี้ ศูนย์ฯ ได้สำรวจ “สถานภาพหนี้ครัวเรือนไทย ปี 67” จากประชาชนทั่วประเทศ 1,300 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 1-7 ก.ย.67 ที่ผ่านมาโดยเมื่อถามถึงการเก็บออมเพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 48.1% ไม่เคยเก็บออม ส่วนกลุ่มตัวอย่าง 22.6% ระบุว่ามีเงินเก็บเพียงพอเป็นสำหรับค่าใช้จ่าย 6 เดือนขึ้นไป ส่วนอีก 16% ระบุว่ามีเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่าย 3-6 เดือน และที่เหลือ 13.3% ระบุว่า มี แต่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายน้อยกว่า 3 เดือน
เมื่อให้เปรียบเทียบรายได้และค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในปัจจุบัน พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 46.3% มีรายได้ครัวเรือนน้อยกว่ารายจ่าย รองลงมา กลุ่มตัวอย่าง 35% มีรายได้ครัวเรือนเท่ากับรายจ่าย และกลุ่มตัวอย่างอีก 18.7% มีรายได้ครัวเรือนมากกว่ารายจ่าย เมื่อถามถึงการแก้ปัญหา กรณีเกิดรายได้ไม่พอกับรายจ่ายในปัจจุบัน พบว่า อันดับ 1 จะใช้วิธีกู้ยืมจากแหล่งต่าง ๆ อันดับ 2 ประหยัด/ลดค่าใช้จ่าย อันดับ 3 ดึงเงินออมออกมาใช้ และอันดับ 4 หารายได้เพิ่ม ซึ่งในกรณีที่ใช้วิธีกู้ยืมนั้น กลุ่มตัวอย่างนิยมใช้วิธีการกดเงินสดจากบัตรเครดิตมากที่สุด รองลงมา คือ การกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจ การจำนำสินทรัพย์ กู้สหกรณ์ และยืมจากญาตินอกจากนี้ เมื่อให้เปรียบเทียบหนี้กับรายได้ในปีนี้พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 46.4% ตอบว่าหนี้เพิ่มมากกว่ารายได้เพิ่ม รองลงมา 32.3% หนี้เพิ่มเท่ากับรายได้เพิ่ม และอีก 21.3% ระบุว่า หนี้เพิ่มน้อยกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น
ที่สำคัญพบว่ากลุ่มตัวอย่างเกือบทั้งหมด หรือ 99.7% ตอบว่าครัวเรือนของตัวเองมีหนี้สิน โดยมีเพียง 0.3% เท่านั้นที่ไม่มีหนี้สินสำหรับประเภทหนี้ อันดับ 1 คือ หนี้บัตรเครดิต รองลงมา หนี้ยานพาหนะ, หนี้ส่วนบุคคล, หนี้ที่อยู่อาศัย, หนี้ประกอบธุรกิจ และหนี้การศึกษา
ขณะที่การก่อหนี้ของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 89.9% มีเฉพาะหนี้ในระบบ รองลงมา 9.8% มีทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ และอีก 0.3% มีเฉพาะหนี้นอกระบบ
ส่วนสาเหตุที่ทำให้หนี้สินเพิ่มขึ้น 10 อันดับแรก คือ 1.รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย 2.มีเหตุไม่คาดคิดที่ต้องใช้เงินฉุกเฉิน 3.ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น 4.ภาระทางการเงินของครอบครัวสูงขึ้น 5.ล้มเหลวจากการลงทุน 6.ลงทุนประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้น 7.ซื้อสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น 8.ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมากขึ้น 9.ค่าเล่าเรียนของบุตร-หลาน และ 10.ขาดรายได้ เนื่องจากถูกออกจากงาน
โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 71.6% ระบุว่า เคยขาดผ่อนหรือผิดนัดชำระหนี้ มีเพียง 28.4% ที่ตอบว่าไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้มากสุด คือ เศรษฐกิจไม่ดี รองลงมา คือ รายได้ลดลง, สภาพคล่องของครัวเรือนลดลง, ราคาพืชผลเกษตรลดลง, ค่าครองชีพไม่สอดคล้องกับรายได้ และไม่มีแหล่งให้กู้ยืมเงินเพิ่ม เป็นต้น
ข่าวแนะนำ