รัฐบาลใหม่ประกาศตรึงราคา "ดีเซล-ค่าไฟ" แม้แบกหนี้ 2 แสนล้าน
รัฐบาลภายใต้การนำของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศให้เรื่องของราคาพลังงาน เป็นนโยบายเร่งด่วน แต่อยู่ภายใต้ความท้าทายของหนี้ตรึงราคาก้อนโต
คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ที่แถลงต่อรัฐสภา มีนโยบายเร่งด่วนจะต้องอยู่ 10 เรื่อง หนึ่งในนั้นคือในเรื่องของ “ราคาพลังงานและสาธารณูปโภค” รัฐบาลใหม่จะเร่งออกมาตรการเพื่อลดราคาพลังงานและสาธารณูปโภค ปรับโครงสร้างราคาพลังงานควบคู่กับการเร่งรัดจัดทำ ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำสัญญาซื้อขายพลังงานได้โดยตรง (Direct PPA) รวมทั้งการพัฒนาระบบสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ของประเทศ (Strategic Petroleum Reserve : SPR) สำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม และการเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน พร้อมทั้งผลักดันการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ และการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับนโยบาย ค่าโดยสารราคาเดียว ตลอดสาย เพื่อลดภาระค่าเดินทางของประชาชนชาวไทย
คงต้องติดตามว่ารัฐบาลจะเดินหน้าในเรื่องการลดราคาพลังงานอย่างไร จากขณะนี้ยังตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร มีกำหนดถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2567 ส่วน ก๊าซหุงต้มหรือ แอลพีจี คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติให้ตรึงราคาไว้ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม (กก.) จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2567
ส่วนค่าไฟที่จะมีการปรับเปลี่ยนราคาทุก 4 เดือน ล่าสุดรัฐบาลเศรษฐาตรึงค่าไฟไว้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย สำหรับค่าไฟในงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2567 ซึ่งรัฐบาลแพทองธาร จะต้องมาพิจารณาค่าไฟในงวดใหม่เดือนมกราคา-เมษายน 2568
ในการพิจารณาค่าไฟมีประเด็นที่ท้าทายคือยังมีหนี้ค่าไฟที่คงค้างกว่า 110,000 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 95,000 ล้านบาท และหนี้ค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟที่ กฟผ.และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รับภาระไว้ก่อนหน้านี้ 15,000 ล้านบาท
เดิมค่าไฟของไทยต้องปรับขึ้น 5-6 บาทต่อหน่วย แต่รัฐบาลชุดก่อน มองว่าเป็นการปรับขึ้นที่สูงเกินไปอาจกระทบกับประชาชน และกระทบต่อภาคการผลิต ถ้าไม่ตรึงราคาไว้จะส่งราคาสินค้าและบริการให้ปรับขึ้น จึงให้กฟผ.แบกรับค่าเอฟทีไว้ก่อน โดยจะทยอยเฉลี่ยคืนในการคิดค่าไฟงวดต่อๆ ไป
แต่ในช่วงปีนี้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าทั้งก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจี และน้ำมันปรับสูงมาโดยตลอด จึงทำให้ไม่สามารถทยอยคืนหนี้ค่าไฟดังกล่าวได้ ทำให้หนี้ยังค้างอยู่กว่า 1 แสนล้านบาท
ส่วนในการตรึงราคาดีเซลและแอลพีจี มีประเด็นต้องพิจารณา “คือกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังติดลบกว่า 106,000 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมัน 59,000 ล้านบาท บัญชีแอลพีจี 47,000 ล้านบาท”
ไทยตรึงราคาดีเซลมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 (ต.ค.-ธ.ค.) ทั้งการใช้กองทุนน้ำมันฯ และการลดภาษีสรรพสามิต โดยช่วงแรกตรึงราคาดีเซลในประเทศไว้ไม่เกิน 30 บาท/บาทต่อลิตร จนขยับขึ้นมาเป็น 33 บาทต่อลิตร
ในการการใช้หนี้กองทุนน้ำมัน ต้องเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันในช่วงที่ราคาปรับลดลง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ก.ย.กองทุนน้ำมันฯเก็บเงินดีเซลอยู่ 2.76 บาทต่อลิตร ในขณะที่ราคาขายปลีกอยู่ที่ 33 บาทต่อลิตร แม้ราคาน้ำมันโลกจะลดลง แต่ราคาขายปลีกยังไม่เปลี่ยนแปลง
ขณะเดียวกันการจัดเก็บเงินในกลุ่มน้ำมันเบนซิน 95 ลิตรละ 10.68 บาท ,แก๊สโซฮอล์ 95 และแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 4.90 บาท อี 20 ลิตรละ 2.91 บาท ส่งผลกองทุนน้ำมันฯมีเงินไหลเข้าเฉลี่ยเกือบ 300 ล้านบาทต่อวัน ถ้าไม่เกิดหตุการณ์ไม่คาดคิดจนทำให้ต้องไปเข้าไปตรึงราคาเพิ่มดีก คาดว่าอาจใช้เวลาประมาณ 1 ปี จะสามารถใช้คืนหนี้ได้หมด แต่สิ่งที่ต้องดูคือในช่วงที่ราคาน้ำมันตลาดโลกลดลงมากๆ ราคาขายปลีกน้ำมันในไทยจะไม่ลดลงในทันที เพราะยังมีหนี้ดังกล่าว
ด้านธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการดำเนินการนโยบายพลังงานว่า ราคาพลังงานควรปรับลดตั้งนานแล้วในทุกตัว
1.ควรลดราคาน้ำมันนานแล้ว โดยมองว่าการปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน สามารถทำได้ภายใต้กรอบกฎหมายปัจจุบัน น่าเสียดายเวลาหนึ่งปีของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ที่เน้นการร่างและแก้ไขกฎหมาย และยังจะต้องใช้เวลาอีกนานในการผ่านรัฐสภา ทั้งๆ ที่รัฐมนตรีพลังงานสามารถลดราคาน้ำมันได้ทันที ด้วยการยกเลิกราคาขายที่อ้างอิงราคานำเข้าจากสิงคโปร์ เพราะการไปอ้างอิงราคาดังกล่าวทำให้คนไทยต้องจ่ายแพงขึ้นปีละเป็นพันเป็นหมื่นล้านบาท
2. ควรลดราคาก๊าซหุงต้มนานแล้ว เพราะก๊าซหุงต้มที่ผลิตจากก๊าซอ่าวไทยนั้นเพียงพอใช้สำหรับครัวเรือนไทย ซึ่งในอดีต ครัวเรือนเป็นผู้ได้สิทธิใช้ก๊าซอ่าวไทยเป็นคิวแรกและก๊าซดังกล่าวมีราคาต่ำกว่าตลาดโลก แต่รัฐบาลชุดก่อนๆ ก็ให้บริษัทปิโตรเคมีได้สิทธินั้นไป ทำให้ครัวเรือนต้องใช้ก๊าซแหล่งอื่นมาผสมในราคาแพงขึ้น แถมยังกำหนดให้ราคาก๊าซที่ผลิตในไทย อ้างอิงกับราคานำเข้าจากซาอุดีอาระเบีย จึงทำให้ราคาก๊าซที่ใช้ในครัวเรือนพุ่งสูงขึ้นเป็นเท่าตัว โดยคุณธีระชัยมองว่ารัฐบาลควรยกเลิกการอ้างอิงราคาซาอุฯ รวมถึงควรต้องยกเลิกสิทธิพิเศษบริษัทปิโตรเคมี และเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งองค์กรก๊าซแห่งชาติ ให้เป็นผู้มีสิทธิรับซื้อและจัดสรรก๊าซอ่าวไทยแต่ผู้เดียว แทนที่จะปล่อยให้เป็นสิทธิของบริษัทเอกชน
3. ควรลดราคาค่าไฟฟ้านานแล้ว ด้วยการเปิดเสรีไม่มีลิมิตให้ครัวเรือนติดโซล่าร์รูฟท็อป ที่ขายไฟฟ้าให้แก่รัฐบาลในระบบ’หักกลบลบหน่วย’ (net metering) และควรอนุญาตทั่วไปโดยไม่ต้องยื่นขอเป็นรายๆ
4.ควรระวังเรื่องสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ของประเทศ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) ที่ทางกระทรวงพลังงานเตรียมนำมาใช้รักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน โดยมองว่าแนวคิดนี้จะสำเร็จได้ จำเป็นจะต้องเริ่มต้นโดยมีบรรษัทพลังงานแห่งชาติเสียก่อน ซึ่งต้องออกกฎหมายให้เอกสิทธิเข้าครอบครองแหล่งพลังงานที่สัมปทานหมดอายุทันที วิธีนี้จะทำให้รัฐมีปิโตรเลียมเป็นของตนเองโดยไม่ต้องซื้อหา แต่ถ้าเป็นโครงสร้างในปัจจุบันแล้วเอาน้ำมัน SPR มารักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันแทนกองทุนน้ำมันฯ ถือเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะกังวลว่าจะตกเป็นเครื่องมือสร้างคะแนนนิยมทางการเมือง และเกิดปัญหาผลประโยชน์ส่วนตัว
ด้าน พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ในขับเคลื่อนนโยบายพลังงานว่าได้วางเป็นบันได 5 ขั้นว่าในการทำงาน และในปีแรกสามารถดำเนินการไปถึงบันไดขั้นที่ 3 แล้ว และคาดว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายทั้งหมดในการทำงานปีที่ 2
‘บันไดขั้นที่ 1’ คือการตรึงราคาพลังงานเชื้อเพลิง ทั้งค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมัน และราคาก๊าซหุงต้ม ขณะเดียวกันก็ศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เพื่อหาช่องทางแก้ไขปัญหาด้านพลังงาน โดยพบว่า กฎหมายหลายฉบับยังไม่เอื้อต่อการบริหารจัดการ
‘บันไดขั้นที่ 2’ คือ การหาช่องทางตามกฎหมายเพื่อให้รู้ต้นทุนราคาน้ำมัน ซึ่งเมื่อเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมามีการออกประกาศกระทรวงพลังงานกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจค้าน้ำมันต้องแจ้งต้นทุนราคาน้ำมัน ซึ่งการรู้ต้นทุนราคาน้ำมันที่แท้จริงทำให้ทราบถึงปัญหาที่จะต้องแก้ไข
‘บันไดขั้นที่ 3’ คือ การรื้อระบบการค้าน้ำมัน โดยขณะนี้ได้ยกร่างต้นฉบับกฎหมายกำกับดูแลการประกอบกิจการค้าน้ำมันซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของ ‘บันไดขั้นที่ 5’ โดยร่างกฎหมายอยู่ในขั้นตอนตรวจสอบของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญกฎหมายและพลังงาน ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะกำหนดให้การปรับราคาน้ำมันเดือนละครั้ง ไม่ใช่ปรับทุกวัน และให้ปรับราคาเป็นไปต้นทุนน้ำมัน โดยจะนำระบบ Cost Plus ที่เป็นการคิดราคาตามต้นทุนที่แท้จริง ใช้แทนการอ้างอิงราคาน้ำมันต่างประเทศ รวมถึงกฎหมายฉบับนี้จะดูแลไปถึงเรื่องของการจำหน่ายก๊าซหุงต้มด้วย ที่สำคัญกฎหมายฉบับนี้จะให้ผู้ประกอบการขนส่ง ผู้ให้บริการสาธารณะกุศล รวมไปถึงสหกรณ์การเกษตร การประมง สามารถจัดหาน้ำมันมาใช้ได้เอง กระรวงพลังงานมองว่า จะช่วยทำให้สามารถซื้อน้ำมันในราคาที่ถูกลง
‘บันไดขั้นที่ 4’ คือ การจัดทำระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงของประเทศ หรือ SPR (Strategic Petroleum Reserve) เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่รัฐบาลสามารถควบคุมราคาได้เอง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างจัดเตรียมร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยหลักการคือจะนำน้ำมันสำรองมาดูแลปัญหาราคาน้ำมันแทนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะเปลี่ยนกองทุนน้ำมันฯ ที่ใช้เงินและสร้างหนี้สาธารณะ ให้กลายมาเป็นทรัพย์สินของประเทศต่อไป
‘บันไดขั้นที่ 5’ คือ การออกกฎหมายสร้างระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ และกฎหมายกำกับกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงกฎหมายส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์ เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน
ส่วนในเรื่องไฟฟ้า รมว.พลังงานระบุว่า พยายามตรึงราคาค่าไฟฟ้าไว้ให้ถึงที่สุด หากไม่สามารถลดได้ก็ต้องไม่ปรับขึ้น โดยพยายามเข้าไปดูเรื่องต้นทุนทั้งเรื่องของราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า รวมถึงทำให้ประชาชนเข้าถึงค่าไฟที่ถูกลงโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้จากการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา (Solar Rooftop) เตรียมสนับสนุนการประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีและอุปกรณ์สำหรับการติดตั้งระบบ Solar Rooftop แบตเตอรี่สำหรับกักเก็บพลังงานไว้ใช้ในเวลากลางคืนในราคาถูกด้วย
นอกจากนี้กำลังเร่งออกกฎหมายให้การขออนุญาตติดตั้งระบบโซลาร์บนหลังคาบ้าน สะดวกและง่ายขึ้น และมีมาตรการสนับสนุนเงินทุนในการติดตั้ง รวมถึงให้หักค่าใช้จ่ายเพื่อลดหย่อนภาษี คาดว่าจะเสร็จพร้อม ๆ กับกฎหมายน้ำมันภายในปลายปี 2567 ตรงนี้กระทรวงพลังงานหวังว่าจะทำให้ประชาชนหลุดพ้นจากภาระค่าไฟที่ต้องปรับทุก 4 เดือน
ข่าวแนะนำ