ครัวเรือนไทยแบกหนี้สูงสุดในรอบ 15 ปี | ย่อโลกเศรษฐกิจ
หอการค้าไทย เผย หนี้ครัวเรือนไทยปี 67 พุ่งสูงสุดในรอบ 15 ปี เฉลี่ยต่อครัวเรือนแตะกว่า 606,000 บาท เหตุรายได้ไม่พอรายจ่าย และหนี้บัตรเครดิตมาเป็นอันหนึ่ง
นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยการสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทย ปี 2567 พบว่า ครัวเรือนไทยมีภาระหนี้สินเฉลี่ย 606,378 บาทต่อครัวเรือน สูงสุดตั้งแต่มีการสำรวจในรอบ 16 ปี นับตั้งแต่ปี 2552 ทั้งนี้ในปี 2564 ไม่มีการสำรวจเนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด 19
โดยภาระหนี้สินเฉลี่ย 606,378 บาทต่อครัวเรือน เป็นการเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 8.4 ในจำนวนนี้ เป็นหนี้ในระบบร้อยละ 69.9 ลดลงจากปีก่อนที่ร้อยละ 80.2 แต่มาเพิ่มในสัดส่วนของ หนี้นอกระบบที่สูงถึงร้อยละ 30.1 จากปีก่อนหน้าที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 19.8
ทั้งนี้ประเภทหนี้อันดับ 1 มาจากบัตรเครดิต รองลงมา คือ ยานพาหนะ และการใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค เนื่องมาจากมีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย มีเหตุให้ต้องใช้เงินฉุกเฉินที่ไม่คาดคิด และค่าของชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมไปถึงภาระทางการเงินในครอบครัวที่สูงขึ้น
สำหรับสาเหตุที่ทำให้หนี้สินเพิ่มขึ้น 10 อันดับแรก คือ 1.รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย 2.มีเหตุไม่คาดคิดที่ต้องใช้เงินฉุกเฉิน 3.ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น 4.ภาระทางการเงินของครอบครัวสูงขึ้น 5.ล้มเหลวจากการลงทุน 6.ลงทุนประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้น 7.ซื้อสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น 8.ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมากขึ้น 9.ค่าเล่าเรียนของบุตร-หลาน และ 10.ขาดรายได้ เนื่องจากถูกออกจากงาน
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หนี้สินครัวเรือนเป็นเรื่องสำคัญและเป็นปัญหาที่สะสมมาต่อเนื่องยาวนาน โดยนับตั้งแต่ปี 2556 ระดับหนี้ครัวเรือนเริ่มสูงเกินกว่าร้อยละ 80 ของ GDP และเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับร้อยละ 90 ของ GDP นับตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึงระดับสูงสุดที่ร้อยละ 94.6 ของ GDP ในช่วงปี 2564 จากปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19
โดยหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นการแปลงสินเชื่อจากนอกระบบเข้ามาสู่ในระบบ จึงทำให้มีสัดส่วนต่อ GDP สูงขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว เพราะช่วยลดดอกเบี้ยจากที่ต้องชำระในอัตราสูงถึงร้อยละ 10 ต่อเดือน ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3 ต่อเดือนได้ นอกจากนี้ รัฐบาลในขณะนั้นยังมีนโยบายพักชำระหนี้ และการช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาเงินนอกระบบ
ดังนั้น การมีหนี้ครัวเรือนสูง ไม่ได้แปลว่าประเทศจะเคลื่อนไปไม่ได้ หากการเป็นหนี้นั้นสร้างประโยชน์ต่อประชาชน เช่น หนี้เพื่อการลงทุนประกอบอาชีพ หนี้เพื่อซื้อความมั่งคั่งในครอบครัว เช่นหนี้บ้าน หนี้รถยนต์ อย่างไรก็ดีพร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในเรื่องแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน
ข่าวแนะนำ