อีคอมเมิร์ซจีนไม่รอด ไทยเร่งออกกฎหมายเก็บภาษี
การค้าออนไลน์ของไทยกำลังได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนตีตลาด ล่าสุดรัฐบาลออก 5 มาตรการมารับมือ มาตรการสำคัญคือการเก็บภาษีจากสินค้าดังกล่าว
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอมาตรการป้องกันและปราบปรามธุรกิจขายสินค้าจากต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ โดยมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว มีข้อสรุปให้ดำเนินการใน 5 มาตรการ
มาตรการที่ 1 ให้หน่วยงานรัฐบังคับใช้ระเบียบและกฎหมายอย่างเข้มข้น โดยเพิ่มการตรวจเข้มสินค้า ณ ด่านศุลกากร รวมถึงเพิ่มอัตราการเปิดตู้สินค้า เพื่อตรวจสอบคุณภาพสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานของไทย และเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบผู้ประกอบการ หรือผู้ให้บริการให้ปฏิบัติตามกฎหมายไทย
มาตรการที่ 2 ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้สอดคล้องกับการค้าในอนาคต โดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ ต้องจดทะเบียนนิติบุคคลและมีสำนักงานในไทย เพื่อให้ภาครัฐสามารถกำกับดูแลได้อย่างใกล้ชิด
มาตรการที่ 3 เรื่องภาษี ปรับปรุงประมวลกฎหมายรัษฎากร สำหรับผู้ขายสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศ และแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่จำหน่ายสินค้าในไทย จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร พร้อมมีการจัดอบรมให้ความรู้เชิงเทคนิคกับผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบรวมถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการยื่นคำขอและไต่สวน ในการใช้มาตรการภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด หลบเลี่ยงการตอบโต้การทุ่มตลาด และการอุดหนุนมาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยให้สามารถร้องเรียนเข้ามาได้
มาตรการที่ 4 มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทย โดยใช้เทคโนโลยีเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ในการผลิต เพื่อขยายการส่งออกสินค้าไทยผ่านอีคอมเมิร์ซ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ในยุคการค้าโลกใหม่
และมาตรการที่ 5 การสร้างหรือต่อยอดความร่วมมือกับประเทศคู่ค้าให้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้
นอกจากนี้ จะมีการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจ เพื่อทำหน้าที่ในการกำกับและติดตามการนำเข้าสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ละเมิดลิขสิทธิ์ ตลอดจนการดำเนินธุรกิจผิดกฎหมายของผู้ประกอบการต่างประเทศในไทย ทั้งนี้ การจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจจะต้องรอ ครม.ชุดใหม่
ครม.ยังมีข้อสั่งการให้หน่วยงานเร่งตรวจสอบผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซจากต่างประเทศ และกำหนดว่าต้องมาจดทะเบียนในไทย ถ้าไม่มาจดทะเบียนไทยอาจมีมาตรการตอบโต้ เช่น จำกัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต จำกัดการเข้าสื่อ และมีการกำหนดให้ผู้ขนส่งที่เก็บเงินต้องถือเงินไว้ 5 วัน ก่อนนำส่งเงินให้ผู้ส่งสินค้า เพื่อให้ผู้บริโภคมีโอกาสแจ้งคืนสินค้าและขอเงินคืน และมีโอกาสเปิดดูสินค้าก่อนชำระเงิน
ด้าน ดีลอยท์ (Deloitte) เปิดเผยผลรายงานการสำรวจล่าสุด เกี่ยวกับการค้าในยุคดิจิทัล และอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน ในรายงาน “Going-Global: Seizing the Next Great Opportunity in Digital Trade” ที่ดีลอยท์ร่วมทำกับเวิลด์เฟิร์ส (WorldFirst) พบว่า ประเทศในเอเชียแปซิฟิก พบว่า “ร้อยละ 71 ของบริษัทข้ามชาติขนาดเล็กในเอเชียแปซิฟิกที่ร่วมตอบแบบสำรวจ ซึ่งดำเนินธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน และการค้าดิจิทัล ยังมองอนาคตของอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนทางบวก” แสดงให้เห็นว่าบริษัทส่วนใหญ่มั่นใจในความต้องการของตลาด นโยบายของภาครัฐ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยคาดว่าตลาดจะขยายตัวต่อเนื่อง พร้อมยอดขาย และกำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
“ขณะเดียวกันร้อยละ 88 ของบริษัทที่ร่วมตอบแบบสำรวจ ระบุว่าการสร้างแบรนด์มีความสำคัญต่อการรักษาการเติบโตทางธุรกิจในระยะยาว การสร้างแบรนด์ไม่เพียงแต่ช่วยให้ธุรกิจสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในตลาด แต่ยังเพิ่มความภักดีของลูกค้า (customer loyalty) และส่วนแบ่งทางการตลาดอีกด้วย เหตุนี้ร้อยละ 68 ของบริษัททั้งหมดจึงระบุว่าจะเพิ่มการลงทุนในด้านการสร้างแบรนด์”
รายงานฉบับนี้ ชี้ให้เห็นถึง digital transformation ของไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และการลงทุนในด้าน cloud computing, AI และ 5G ช่วยผลักดันการเติบโต รวมไปถึงโครงการ และการลงทุนต่าง ๆ ของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ และนโยบายภาครัฐที่เอื้อต่อการขยายตัวของระบบนิเวศดิจิทัล ความพยายามเหล่านี้กำลังส่งเสริมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน อีกทั้งกระตุ้นให้ธุรกิจไทยนำเครื่องมือด้าน AI และเทคโนโลยี automation มาปรับใช้เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน และความท้าทายอื่น ๆ
อุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศไทยได้รับการสนับสนุนจากโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตที่แข็งแกร่ง มีศักยภาพในการลงทุนอย่างมาก ประเทศไทยกำลังพัฒนาสภาพแวดล้อมดิจิทัลโดยการขยายบริการ PromptPay ไปยัง 8 ประเทศ และพัฒนา QR Code สำหรับการชำระเงินร่วมกับประเทศต่าง ๆ เช่น จีน
นอกจากนี้ รัฐบาลไทยมีเป้าหมายที่จะขยายภาคอีคอมเมิร์ซให้มีมูลค่าเกิน 7 ล้านล้านบาท ภายในปี 2570 โดยมีอัตราการเติบโตร้อยละ 10 ต่อปี แผนปฏิบัติการพัฒนาอีคอมเมิร์ซแห่งชาติ ระยะที่ 2 (2023-2027) จะมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะดิจิทัล การแบ่งปันข้อมูล ความปลอดภัยในการทำธุรกรรม และการขยายการค้าขายออนไลน์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ถ้าไปดูการค้าดิจิทัลในเอเชียแปซิฟิก พบว่ากำลังเติบโตขึ้นอย่างมาก “ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตรายปีของการส่งออกบริการที่ส่งมอบผ่านดิจิทัลในเอเชียแปซิฟิกอยู่ที่ร้อยละ 10.3 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ร้อยละ 7.1”
ถ้าไปดูแนวโน้มการเติบโตในแต่ละประเทศพบว่า
ตลาดที่มีศักยภาพสูง คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ไทย และฟิลิปปินส์
ตลาดที่เติบโตเต็มที่คือ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
ตลาดที่กำลังเติบโต คือ กัมพูชา เมียนมาร์ และลาว
ตลาดที่เริ่มแสดงศักยภาพคือ บรูไน
งานวิจัยของดีลอยท์ได้ทำการสำรวจ SME ที่ทำธุรกิจข้ามพรมแดนประมาณ 300 ราย ซึ่งโดยทั่วไปมีพนักงานน้อยกว่า 500 คน และมีฐานการดำเนินงานหลักในเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า ธุรกิจการค้าดิจิทัลกำลังใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลที่ล้ำสมัย เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ปัญญาประดิษฐ์ อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT) และคลาวด์คอมพิวติ้ง เพื่อสร้างโมเดลธุรกิจ และ value chain หรือห่วงโซ่คุณค่า ที่ดีขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้ตลาดโลกมีสินค้าและบริการที่หลากหลายยิ่งขึ้น นอกจากนี้แพลตฟอร์มดิจิทัล โดยเฉพาะอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน ยังช่วยส่งเสริมการทำงานร่วมกันแบบเรียลไทม์ที่ราบรื่นทั่ว value chain โลก ตรงนี้กระตุ้นให้ SME ต้องปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญในการก้าวไปสู่อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน โดยใช้ประโยชน์จากองค์กรแพลตฟอร์ม เครือข่ายบริการระหว่างประเทศที่คลอบคลุมกว้างขวาง และเทคโนโลยีดิจิทัลที่ก้าวหน้ามากขึ้น
ข่าวแนะนำ