ลิซ่า-นักยกน้ำหนัก ดันยาดมไทยดังระดับโลก l การตลาดเงินล้าน
ธุรกิจสมุนไพรไทยเติบโตสวนภาวะเศรษฐกิจ ที่สำคัญ ลิซ่า - นักยกลูกเหล็กโอลิมปิกไทย หยิบสูดดม เกิดเป็นไวรัล เป็นโอกาสที่สำคัญผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผย ธุรกิจสมุนไพรไทย 5 ปีเติบโตดีต่อเนื่อง นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า การวิเคราะห์รายธุรกิจในเชิงลึกพบว่า ธุรกิจสมุนไพรไทย มีโอกาสที่น่าสนใจทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากวิกฤตการระบาดของโรคโควิด ส่งผลให้ผู้บริโภคตื่นตัวดูแลสุขภาพตัวเอง ประกอบกับมีทางเลือกในการป้องกันโรค การรักษาด้วยการใช้สมุนไพรที่เป็นเอกลักษณ์และภูมิปัญญาของไทย ทำให้ธุรกิจในกลุ่มนี้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐต่อเนื่อง
ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศไทยในปี 2566 มีมูลค่าสูงถึง 56.94 พันล้านบาท สำหรับมูลค่าการส่งออกปี 2566 พืชสมุนไพร มีมูลค่า 483.73 ล้านบาท และสารสกัดสมุนไพร มีมูลค่า 382.16 ล้านบาท
ปัจจุบันประเทศไทยมีนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจสมุนไพร 18,342 ราย ทุนจดทะเบียน 147,580 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มขายปลีก ขายส่ง 15,060 ราย ทุนจดทะเบียน 124,792 ล้านบาท, กลุ่มผลิตและแปรรูป 1,778 ราย ทุนจดทะเบียน 16,523 ล้านบาท และกลุ่มเพาะปลูก 1,504 ราย ทุนจดทะเบียน 6,265 ล้านบาท
สำหรับภาพรวมผลประกอบการของธุรกิจสมุนไพรในปี 2566 สร้างรายได้ 872,466.83 ล้านบาท เป็นกำไร 27,497.70 ล้านบาท โดยกลุ่มขายปลีก/ขายส่ง เป็นกลุ่มที่ทำรายได้และกำไรสูงที่สุด
โดยมากเป็นธุรกิจขนาดเล็ก 17,224 ราย ขนาดกลาง 806 ราย และขนาดใหญ่ 312 ราย
จะเห็นได้ว่าธุรกิจขนาดเล็กเป็นผู้เล่นที่มีโอกาสในตลาดสมุนไพรมากที่สุด สามารถนำภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดในครอบครัวมาแปรเปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมสร้างอาชีพได้ ซึ่งประเทศไทยมีสมุนไพรหลากหลายชนิดที่สามารถเพาะปลูกได้ในประเทศ ทำให้ผู้ผลิตควบคุมและลดต้นทุนการผลิตได้ รวมถึงแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายชนิดซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบทางการตลาด
ขณะเดียวกันยังเกิดปรากฏการณ์บนโลกออนไลน์ กรณี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือจะเป็นนักกีฬายกน้ำหนักไทย ที่สูดยาดมก่อนขึ้นไปแข่งขันในกีฬาระดับโอลิมปิกก่อนคว้าเหรียญเงินมาได้ จนภาพกลายเป็นไวรัลบนโลกออนไลน์และเป็นที่สนใจของชาวต่างชาติ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่สมุนไพรไทยจะกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้ไม่ยาก
ข่าวแนะนำ