TNN ท่องเที่ยวโลกพุ่ง จุดกระแส “ค่าธรรมเนียม”

TNN

เศรษฐกิจ

ท่องเที่ยวโลกพุ่ง จุดกระแส “ค่าธรรมเนียม”

ท่องเที่ยวโลกพุ่ง จุดกระแส “ค่าธรรมเนียม”

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลกยังโตร้อนแรงสวนทางเศรษฐกิจโดยรวมที่ชะลอตัว คาดหนุน GDP ปี 2567 มากถึง 11.1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 1 ใน 10 ของ GDP ทั้งโลก ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดภาวะนักท่องเที่ยวล้น จนหลายประเทศต้องงัดมาตรการเก็บ “ค่าธรรมเนียม” หวังสกัดปัญหาก่อนสายเกินแก้

สภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก (World Travel and Tourism Council-WTTC) เผยแพร่รายงานประจำปี ระบุว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการเดินทางทั่วโลกมีแนวโน้มทำสถิติใหม่ในปี 2567 โดยจะมีส่วนหนุน GDP โลกมากถึง 11.1 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 เมื่อเทียบรายปี และตัวเลขดังกล่าวจะคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 10 ของ GDP ทั้งโลกในปีนี้ ทำให้การท่องเที่ยวและเดินทางเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก 


รายงานเน้นย้ำถึงการฟื้นตัวและการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเดินทางหลังวิกฤตโควิด ซึ่งเม็ดเงินที่ช่วยหนุน GDP โลกในปีนี้ ไม่เพียงแต่แซงหน้าสถิติเดิมที่เคยทำไว้เมื่อปี 2562 ก่อนวิกฤตโควิด แต่ยังสะท้อนถึงการเติบโตที่สูงกว่าคาดการณ์ด้วย โดยได้แรงหนุนจากความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกที่มองการท่องเที่ยวเป็นส่วนสำคัญของไลฟ์สไตล์และการใช้จ่าย ประเมินว่า การใช้จ่ายทั่วโลก 1 ดอลลาร์ จากทุก ๆ 10 ดอลลาร์ ถูกใช้ไปกับกิจกรรมด้านการเดินทางและท่องเที่ยว ถึงแม้ว่าในปีที่แล้วจะมีความกังวลเกี่ยวภาวะเศรษฐกิจถดถอยและเงินเฟ้อสูง แต่ในปีนี้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเดินทางจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อเศรษฐกิจโลก 


เขตเศรษฐกิจหลักมีส่วนอย่างมากในการสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเดินทาง โดยเฉพาะสหรัฐฯ จีน และเยอรมนี ที่การใช้จ่ายด้านนี้มีสัดส่วนมากสุด // กรณีของ “สหรัฐฯ” ยังคงเป็นผู้นำ โดยการท่องเที่ยวและเดินทางมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ คาดว่าการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวในปีนี้จะเพิ่มขึ้น ทั้งจากความต้องการท่องเที่ยวในประเทศที่แข็งแกร่งและการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของการเดินทางระหว่างประเทศ // ส่วน “จีน” เป็นตลาดด้านการท่องเที่ยวขนาดใหญ่และเติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก // เช่นเดียวกับ “เยอรมนี” ที่มีส่วนหนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ เนื่องจากความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวและความต้องการของผู้บริโภคที่แข็งแกร่ง


อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะมีส่วนจ้างงานในปีนี้เกือบ 348 ล้านตำแหน่งทั่วโลก เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้น 13.6 ล้านตำแหน่ง เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ก่อนเกิดวิกฤตโควิด การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวสะท้อนถึงการขยายตัวอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโอกาสใหม่ ๆ ในภูมิภาคต่าง ๆ เฉพาะในสหรัฐฯ มีตำแหน่งงานว่างราว 1 ล้านตำแหน่ง ขณะที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของสหรัฐฯ จ้างงานประมาณ 27 ล้านตำแหน่งในปี 2566 


ปัจจุบัน อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเดินทางไม่เพียงกำลังฟื้นตัว แต่มีแนวโน้มจะเติบโตแบบทำลายสถิติด้วย ซึ่งมาจากหลายปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ 1.ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นหลังวิกฤตโควิด ทำให้ผู้คนอยากสำรวจสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ เดินทางไปเยี่ยมญาติและเพื่อนฝูง และเปิดประสบการณ์ ส่งผลให้ยอดจองโรงแรม เที่ยวบิน และเรือสำราญเพิ่มขึ้น 2.ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีช่วยเพิ่มประสบการณ์และพัฒนากระบวนการทำงาน ตั้งแต่การเช็กอินแบบไร้สัมผัส ไปจนถึงทัวร์เสมือนจริงและการให้คำแนะนำที่เหมาะสำหรับแต่ละบุคคล 3.กระแสท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งหลายบริษัทหันมาตระหนักเกี่ยวกับการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ ทำให้มีโครงการริเริ่มต่าง ๆ อาทิ ลดการปล่อยคาร์บอน ส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่นและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และ 4.การสนับสนุนจากภาครัฐ ประเทศต่าง ๆ ให้การสนับสนุนเชิงนโยบายและการเงินเพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวฟื้นตัว ถือเป็นส่วนสำคัญที่สร้างเสถียรภาพและผลักดันการเติบโต


แต่ในทางกลับกัน การเติบโตอย่างรวดเร็วของการท่องเที่ยวก็นำไปสู่ปัญหานักท่องเที่ยวล้น รวมถึงภาระด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อแหล่งท่องเที่ยวและชุมชนโดยรอบ ทำให้หลายประเทศเริ่มหันมาจัดเก็บค่าธรรมเนียมด้านการท่องเที่ยวในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยว หรือเพิ่มรายได้จากนักท่องเที่ยวสำหรับนำไปใช้เยียวยาผลกระทบที่ตามมา


CNN ประเมินว่า ปัจจุบัน มีจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวกว่า 60 แห่งทั่วโลก ตั้งแต่เวนิสไปจนถึงภูฏาน ที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมบางประเภทจากนักท่องเที่ยว ซึ่งไม่รวมค่าอาหาร โรงแรม หรือตั๋วเข้าชม โดยค่าธรรมเนียมดังกล่าวมีจุดประสงค์ในการชดเชยความแออัดของนักท่องเที่ยว ความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม และผลข้างเคียงอื่น ๆ จากนักท่องเที่ยวล้นเกินพอดี ซึ่งการเก็บค่าธรรมเนียมมีแบบที่เก็บอัตราเดียวทั่วประเทศและเก็บเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมที่มีผู้คนหนาแน่น


เมื่อไม่กี่วันนี้ “นิวซีแลนด์” เป็นประเทศล่าสุดที่ประกาศขึ้นค่าธรรมเนียมสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีผลครอบคลุมทั้งประเทศ โดยจะจัดเก็บภาษีการท่องเที่ยวและอนุรักษ์สำหรับชาวต่างชาติ (IVL) เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า จาก 35 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ หรือกว่า 730 บาท เป็น 100 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ หรือกว่า 2,000 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและบริการให้เหตุผลว่า การท่องเที่ยวระหว่างประเทศทำให้ชุมชนท้องถิ่นต้องแบกรับภาระ รวมถึงแรงกดดันต่อโครงสร้างพื้นฐานและต้นทุนการดูแลพื้นที่อนุรักษ์ที่เพิ่มขึ้น  


ทางการนิวซีแลนด์เริ่มใช้ภาษี IVL เมื่อปี 2562 ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนปกป้องสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศที่สูงขึ้น ก่อนวิกฤตโควิดมาเยือนจนต้องปิดประเทศนาน 2 ปีครึ่ง สำหรับในปี 2566 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เยือนนิวซีแลนด์อยู่ที่เกือบ 3 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 3 ใน 4 ของระดับก่อนเกิดวิกฤตโควิด ทำให้มีเสียงคัดค้านเกี่ยวกับการเก็บภาษีเพิ่ม เพราะอาจกระทบต่อการแข่งขันและการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนิวซีแลนด์ที่ยังตามหลังแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ 


นอกจากนี้ IVL ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเพียงอย่างเดียวที่จะกระทบต่อนักท่องเที่ยว เพราะทางการนิวซีแลนด์จะเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่าเพิ่มขึ้นจาก 211 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ หรือกว่า 4,400 บาท เป็น 341 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ หรือกว่า 7,100 บาท มีผลตั้งแต่ 1 ตุลาคมนี้


“อิตาลี” เป็นอีกประเทศที่กำลังพิจารณาจะปรับขึ้นภาษีนักท่องเที่ยวเพื่อแก้ปัญหาจำนวนนักท่องเที่ยวล้น โดยเมืองต่าง ๆ อาจปรับขึ้นภาษีนักท่องเที่ยว แบ่งตามราคาห้องพัก ครอบคลุมทั้งชาวต่างชาติและพลเมืองอิตาลี อยู่ที่สูงสุดคืนละ 25 ยูโร จากเดิมที่เรียกเก็บราว 5 ยูโร // ข้อมูลจากองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations World Tourism Organization-UNWTO) ระบุว่า อิตาลีเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับ 4 ของโลก ซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเยือน 57.2 ล้านคนในปี 2566 และมูลค่าการใช้จ่ายอยู่ที่ 5.59 หมื่นล้านดอลลาร์


เมื่อเดือนเมษายนปีนี้ เมืองเวนิสที่เริ่มเก็บค่าธรรมเนียม 5 ยูโร จากนักท่องเที่ยวแบบมาเช้า-เย็นกลับในช่วงสุดสัปดาห์ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างนักท่องเที่ยวและผู้อยู่อาศัย แต่นักท่องเที่ยวก็ยังคงหลั่งไหลไปเยือนเวนิสจำนวนมาก ทั้งนี้ ในปี 2566 มีนักท่องเที่ยวเยือนเวนิส 20 ล้านคน ขณะที่จำนวนประชากรท้องถิ่นเหลือไม่ถึง 50,000 คน เนื่องจากอพยพหนีความแออัดจากการท่องเที่ยว


ขณะที่บางประเทศจัดเก็บค่าธรรมเนียมในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม อย่างกรณี “อินโดนีเซีย” เรียกเก็บภาษีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เยือนเกาะบาหลี คนละ 150,000 รูเปียห์ หรือประมาณ 300 กว่าบาท ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เงินจากภาษีดังกล่าวจะถูกนำไปใช้สนับสนุนด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติบนเกาะ เนื่องจากการท่องเที่ยวทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับขยะ แหล่งน้ำ และความแออัดของนักท่องเที่ยว 


ข้อมูลจากสำนักงานสถิติเกาะบาหลี พบว่า ตลอดทั้งปี 2566 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเยือนเกาบาหลีมีจำนวน 5.273 ล้านคน 


เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่ทางการท้องถิ่นบางแห่งเริ่มออกมาตรการรับมือนักท่องเที่ยวล้น ทางการเมืองฟูจิคาวากุจิโกะในจังหวัดยามานาชิ เริ่มเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 2,000 เยน สำหรับผู้ที่ใช้เส้นทางปีนเขาโยชิดะเทรล พร้อมจำกัดจำนวนนักปีนเขาสูงสุด 4,000 คนต่อวันเพื่อลดความแออัด มีผลตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ส่วนเมืองฮิเมจิก็มีแนวคิดเก็บเงินชาวต่างชาติมากกว่าคนท้องถิ่น 6 เท่า ในการเข้าชมปราสาทที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก


องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (JNTO) เปิดเผยว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ญี่ปุ่นต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทำสถิติใหม่ที่ 17.78 ล้านคน มากกว่าสถิติเดิมราว 1 ล้านคน ซึ่งเคยทำไว้ที่ 16.63 ล้านคน ในช่วงเดียวกันของปี 2562 ก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤตโควิด // นักท่องเที่ยวเกาหลีใต้เดินทางเยือนญี่ปุ่นมากสุด 4.44 ล้านคน ส่วนอันดับ 2 ได้แก่ นักท่องเที่ยวจีนอยู่ที่ราว 3.07 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามด้วยอันดับ 3 นักท่องเที่ยวจากไต้หวัน 2.98 ล้านคน // อันดับ 4 นักท่องเที่ยวอเมริกัน 1.34 ล้านคน // และอันดับ 5 ฮ่องกง 1.28 ล้านคน // ด้านคนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นรวม 618,300 คน มากเป็นอันดับ 6


กรณีของไทยก็มีแนวคิดในลักษณะนี้เช่นกัน โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2566 เห็นชอบข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) ในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ (TTF) หรือ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” ในอัตรา 300 บาทต่อครั้งสำหรับการเดินทางทางอากาศ และ 150 บาทต่อครั้งสำหรับการเดินทางผ่านทางทางบกและทางน้ำ แต่จนถึงขณะนี้แผนดังกล่าวยังเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง