TNN มาเลเซีย “เนื้อหอม” จุดหมายใหม่นักลงทุน

TNN

เศรษฐกิจ

มาเลเซีย “เนื้อหอม” จุดหมายใหม่นักลงทุน

มาเลเซีย “เนื้อหอม” จุดหมายใหม่นักลงทุน

มาเลเซียขึ้นแท่นเป็นจุดหมายใหม่ของนักลงทุน หลังปรับยุทธศาสตร์เน้นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ทั้งฮับศูนย์ข้อมูลรองรับระบบคลาวด์และ AI พลังงานสะอาด เซมิคอนดักเตอร์ บวกกับเศรษฐกิจที่โตแข็งแกร่ง และการเมืองที่มีเสถียรภาพ

เศรษฐกิจมาเลเซียปีนี้เติบโตแข็งแกร่งเกินคาด โดยในไตรมาส 2 GDP ขยายตัวที่ร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นับเป็นการขยายตัวมากสุดในรอบ 18 เดือน และสูงกว่าในไตรมาสแรกที่โตร้อยละ 4.2 ส่วนในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ GDP โตเฉลี่ยที่ร้อยละ 5.1 สูงกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ที่โตร้อยละ 4.1 // ปัจจัยหลัก ๆ ที่ขับเคลื่อน GDP ในปีนี้มาจากการใช้จ่ายของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นท่ามกลางภาวะตลาดแรงงานในเชิงบวกและการสนับสนุนด้านนโยบายที่มากขึ้นของภาครัฐ // ขณะเดียวกัน การส่งออกก็ขยายตัวท่ามกลางการบริโภคจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นและวัฏจักรขาขึ้นในการนำขยะหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีมาแปลงให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพและกลับมาใช้ประโยชน์ได้ (upcycle) 


ข้อมูลจากธนาคารกลางมาเลเซีย ระบุว่า อุตสาหกรรมในภาคการผลิตเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่นเดียวกับภาคบริการที่ขยายตัวแกร่ง พร้อมกันนี้ยังประเมินว่า การเติบโตในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จะได้รับแรงหนุนจากความต้องการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความต้องการบริโภคจากต่างประเทศที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประกาศในแผนแม่บทแห่งชาติและการลงทุนที่ได้รับอนุมัติเพิ่มขึ้นก็จะเป็นแรงผลักดันสำคัญ


อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางมาเลเซียประเมินความเสี่ยงขาขึ้นสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ อาทิ ความแพร่หลายของกระแส upcycle ด้านเทคโนโลยี การท่องเที่ยวที่ขยายตัว รวมถึงการดำเนินโครงการลงทุนที่มีอยู่และโครงการใหม่อย่างรวดเร็ว ขณะที่ความเสี่ยงขาลง ได้แก่ ความต้องการบริโภคจากต่างประเทศที่ชะลอตัว ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ตึงเครียดขึ้น และการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์น้อยกว่าที่คาดไว้


สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (headline CPI) ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ อยู่ที่ร้อยละ 1.9 ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน (core CPI) ที่ไม่นับรวมอาหารสดและพลังงาน เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.8 โดยทั้งเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มจะขยับขึ้นเล็กน้อยในช่วงครึ่งหลังปีนี้ ส่วนใหญ่เป็นผลจากการปรับลดเงินอุดหนุนน้ำมันดีเซล แต่ผลกระทบจะอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ ในภาพรวมคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้จะอยู่ภายในกรอบที่คาดการณ์ที่ร้อยละ 2-3.5 ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ร้อยละ 2-3


มาเลเซียกำลังกลายเป็นจุดหมายปลายทางใหม่และแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยสำหรับนักลงทุนต่างชาติ หลังจากเศรษฐกิจกลับมาเติบโตต่อเนื่อง ประกอบกับการเมืองที่มีเสถียรภาพนับตั้งแต่ “อันวาร์ อิบราฮิม” ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2565 หลังจากเผชิญความวุ่นวายนานหลายปี และการแข็งค่าของเงินริงกิต ทำให้มาเลเซียแตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนที่เผชิญความผันผวนทางการเมือง // โดยในปีนี้ ต่างชาติเข้าลงทุนในตลาดตราสารทุนและตลาดตราสารหนี้มาเลเซียมากขึ้น เฉพาะเมื่อเดือนกรกฎาคม ซึ่งไทยและอินโดนีเซียเผชิญปัญหาทางการเมือง ต่างชาติเข้าลงทุนในตลาดตราสารหนี้มาเลเซีย 1.75 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดนับตั้งแต่ต้นปี 2567


นักวิเคราะห์ระบุว่า เงินริงกิตมีส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างผลงานที่แข็งแกร่ง รวมทั้งเป็นสกุลเงินที่มีผลงานดีสุดในเอเชียปีนี้ และน่าจะทำผลงานได้ดีขึ้นหากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพราะพันธบัตรของมาเลเซียจะน่าสนใจมากขึ้น ขณะที่ธนาคารกลางมาเลเซียยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิมท่ามกลางการเติบโตที่แข็งแกร่ง // ทั้งนี้ นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา เงินริงกิตแตะระดับสูงสุดในรอบ 18 เดือน เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยแข็งค่าขึ้นกว่าร้อยละ 5 ซึ่งแตกต่างอย่างมากจากช่วงต้นปีนี้ที่ริงกิตอ่อนค่าลงใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 26 ปี


ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นกัวลาลัมเปอร์ก็ทำผลงานแข็งแกร่งที่สุดในรอบกว่าทศวรรษ สะท้อนจากดัชนีหุ้น KLCI ที่ถ่วงน้ำหนักผลงานของบริษัทขนาดใหญ่สุด 30 แห่ง ปรับเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 12 ในปีนี้ เนื่องจากการลงทุนของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่เกี่ยวกับศูนย์ข้อมูล (Data Center) ที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทำให้ผลงานของมาเลเซียแซงหน้าดัชนี MSCI อาเซียนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 


ก่อนหน้านี้ “เจพี มอร์แกน” ระบุว่า เศรษฐกิจมาเลเซียมีความคืบหน้ามากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และขยับขึ้นมาอยู่ในระดับ “คงน้ำหนักการลงทุน” (neutral) จากเดิมที่ “ลดน้ำหนักการลงทุน” (underweight) พร้อมกับเพิ่มเป้าหมายดัชนีกัวลาลัมเปอร์ คอมโพสิต เช่นเดียวกับบรรดานักวิเคราะห์ที่ยกให้ตลาดหุ้นมาเลเซียเป็นความหวังในภูมิภาคอาเซียน โดยมีผลตอบแทนอยู่ที่ร้อยละ 9 นับตั้งแต่ต้นปีนี้ มากสุดในภูมิภาคเดียวกัน


ปัจจุบัน ศูนย์ข้อมูลกำลังเป็นที่สนใจอย่างกว้างขวาง เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับการสตรีมมิงวิดีโอ การจัดเก็บข้อมูล และกิจกรรมที่ทำผ่านอินเทอร์เน็ตหรือโทรศัพท์มือถือ ส่งผลให้มีความต้องการศูนย์ข้อมูลเพิ่มขึ้น และมาเลเซียกลายเป็นโอกาสในการลงทุนที่น่าดึงดูด เนื่องจากได้พิสูจน์ตัวเองในฐานะศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีที่หลากหลาย ทำให้บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของโลก ทั้งกูเกิล อินวิเดีย (Nvidia) และไมโครซอฟท์ มีแผนลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในมาเลเซีย เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับคลาวด์และ AI 


ข้อมูลจากดัชนีศูนย์ข้อมูลโลกปี 2567 ของ “ดีซี ไบต์” (DC Byte) มาเลเซียก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านศูนย์ข้อมูลในภูมิภาค เมื่อปี 2566 มีขนาดความจุรวมทั้งหมดกว่า 3 กิกะวัตต์ มากกว่าเพื่อนบ้านในอาเซียนทั้งอินโดนีเซีย สิงคโปร์ ที่อยู่แถว 1.5 กิกะวัตต์ // ตามด้วยฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ทั้งนี้ ความจุของศูนย์ข้อมูลมักจะวัดจากปริมาณไฟฟ้าที่ใช้


โดยเฉพาะเมืองยะโฮร์ บาห์รู ได้รับการจัดอันดับให้เป็นตลาดศูนย์ข้อมูลที่เติบโตเร็วที่สุดในอาเซียน ซึ่งเมืองยะโฮร์บาห์รูมีศูนย์ข้อมูลทั้งหมด 1.6 กิกะวัตต์ ครอบคลุมทั้งโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง มีแผนจะสร้างหรืออยู่ในขั้นเริ่มต้นวางแผน หากศูนย์ข้อมูลเปิดใช้ตามความจุดังกล่าว มาเลเซียจะเป็นตลาดศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่อันดับ 3 ในเอเชีย ตามหลังประเทศขนาดใหญ่อย่างญี่ปุ่นและอินเดียเท่านั้น 


แม้ว่าก่อนหน้านี้ศูนย์ข้อมูลหลายแห่งจะสร้างขึ้นในตลาดที่มีความพร้อมอย่างญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ แต่ตลาดเกิดใหม่มีจุดแข็งที่ดึงดูดการลงทุนจากปัจจัยที่เอื้ออำนวย เพราะศูนย์ข้อมูลต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่ รวมถึงใช้พลังงานและน้ำจำนวนมากเพื่อระบายความร้อน ดังนั้น ตลาดเกิดใหม่ อาทิ มาเลเซีย ซึ่งพลังงานและที่ดินยังมีราคาไม่สูงมาก จึงมีข้อได้เปรียบมากกว่าฮ่องกงและสิงคโปร์ ซึ่งมีทรัพยากรจำกัด // แต่การพัฒนาด้านศูนย์ข้อมูลอย่างรวดเร็วในมาเลเซียก็มีความเสี่ยงกระทบต่อการใช้ไฟฟ้าเช่นกัน “เคนันกา อินเวสต์เมนต์ แบงก์ รีเสิร์ช” ประเมินว่า ความต้องการไฟฟ้าจากศูนย์ข้อมูลในมาเลเซียมีแนวโน้มสูงถึง 5 กิกะวัตต์ ภายในปี 2578 


มาเลเซียปรับยุทธศาสตร์มาเน้นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจมุ่งเน้นนวัตกรรมและความยั่งยืน โดยนับจากได้รับเอกราชเมื่อปี พ.ศ.2500 มาเลเซียพึ่งพาภาคการเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์เป็นหลัก โดยเฉพาะยางพาราและดีบุกที่เป็นสินค้าส่งออกหลัก แต่การพึ่งพาสินค้าโภคภัณฑ์ก็ทำให้เศรษฐกิจมาเลเซียมีความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาโลก รัฐบาลจึงปรับโฟกัสไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้นโยบายเศรษฐกิจใหม่ที่ประกาศใช้ในปี 2514 รวมถึงลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งถนน ท่าเรือ และเขตอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนภาคการผลิต จนกลายเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าระดับโลก


หลังจากนั้นมาเลเซียก็คงความสามารถในการผลิต ในช่วงทศวรรษ 1990 ภาคการผลิตคิดเป็นเกือบร้อยละ 30 ของ GDP ทั้งประเทศ ซึ่งระบบนิเวศที่เข้มแข็งดังกล่าวทำให้มาเลเซียสามารถปรับตัวรับความต้องการสำหรับการผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึง AI ชิปเซมิคอนดักเตอร์ และการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างแบตเตอรี่ ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็เพิ่มความหลากหลายไปยังภาคบริการ อาทิ ภาคการเงิน การท่องเที่ยว การศึกษา เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เป็นจุดเริ่มสู่เศรษฐกิจดิจิทัล


ปัจจุบัน มาเลเซียมุ่งเน้นเศรษฐกิจที่ตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม (green economy) เศรษฐกิจสูงวัย (silver economy) และการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง 


อย่างไรก็ตาม ความท้าทายหลัก ๆ ของมาเลเซียอยู่ที่ปัญหาสมองไหล เพราะแรงงานทักษะสูงซึ่งเป็นมันสมองของประเทศอพยพไปทำงานหรือตั้งรกรากในประเทศอื่นที่มีผลตอบแทนสูงกว่า ผลการศึกษาของทางการมาเลเซียในปี 2565 พบว่า ชาวมาเลเซีย 3 ใน 4 ที่ไปทำงานในสิงคโปร์ เป็นแรงงานที่มีทักษะสูงหรือแรงงานกึ่งฝีมือ ซึ่งสะท้อนภาวะสมองไหลที่เกิดขึ้น 


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง