TNN ปัญหาหลุมรายได้-ภูเขาหนี้ ดัน NPL เพิ่ม | ย่อโลกเศรษฐกิจ

TNN

เศรษฐกิจ

ปัญหาหลุมรายได้-ภูเขาหนี้ ดัน NPL เพิ่ม | ย่อโลกเศรษฐกิจ

ธปท. เผยปัญหา "หลุมรายได้ - ภูเขาหนี้" ทำให้หนี้เสีย หรือ NPL ในระบบแบงก์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่ออุปโภคบริโภคพุ่งต่อเนื่อง พร้อมจับตา NPL สินเชื่อบ้านมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ หรือ NPL ไตรมาส 2 ปี 2567 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 540,800 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ร้อยละ 2.84  โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากสินเชื่ออุปโภคบริโภคเป็นสำคัญ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่ได้รับความช่วยเหลือแล้วเมื่อสิ้นสุดมาตรการไม่สามารถชำระหนี้ได้  อีกส่วนคือกลุ่มลูกหนี้ที่รายได้กลับมาช้า เพราะเศรษฐกิจฟื้นตัวไม่ทั่วถึง 


โดย NPL สินเชื่อที่อยู่อาศัย ขยับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.71  จากร้อยละ 3.48  ในไตรมาส 1 ปี 2567  ขณะที่ NPL บัตรเครดิตอยู่ที่ร้อยละ 3.53  เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.17  ส่วน NPL สินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ร้อยละ 2.74 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.65  และ NPL สินเชื่อเช่าซื้ออยู่ที่ร้อยละ 2.33 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.18


ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน  ธปท.ระบุว่า แม้ภาพรวมรายได้ของคนจะกลับมาแต่ NPL ก็ยังขยับขึ้น เพราะนอกจากครัวเรือนจะตกหลุมรายได้ในช่วงวิกฤตโควิด19 แล้ว ยังมีภูเขาหนี้ระดับสูงด้วย  ดังนั้นแม้หลุมรายได้ที่เคยเป็นปัญหาจะดีขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอต่อการจ่ายหนี้  ทำให้ภูเขาหนี้ยังคงอยู่  ซึ่งการจะแก้หนี้ให้ตรงจุดต้องทำให้รายได้ของคนเพิ่มขึ้นเพียงพอจ่ายหนี้ได้ด้วย


สำหรับแนวโน้ม NPL ในระยะต่อไป ธปท.ประเมินว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพราะยังมีปัญหารายได้ฟื้นตัวไม่เท่ากับภาระหนี้ที่ต้องจ่าย โดยเฉพาะสินเชื่อบ้าน  เนื่องจากในช่วงปีที่ 1 ถึงปีที่ 2  ภาระดอกเบี้ยจ่ายจะต่ำ แต่พอขึ้นปีที่ 3 และ 4  ดอกเบี้ยจะขยับเพิ่มขึ้น  ทำให้ธปท. กังวลว่า NPL สินเชื่อบ้านจะปรับเพิ่มขึ้น  


 นางสาวสุวรรณี กล่าวอีกว่า ธปท.กำลังจับตาดูกลุ่มสินเชื่อที่อยู่อาศัยอย่างใกล้ชิด เพราะเริ่มเห็นสัญญาณว่ากลุ่มที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาทต่อเดือนขึ้นไปเริ่มได้รับผลกระทบกลายเป็น NPL บ้างแล้ว จากเดิมจะเป็นกลุ่มรายได้น้อยกว่า 30,000 บาทต่อเดือนที่มีความเสี่ยงเป็น NPL มากกว่า 


สำหรับข้อเสนอจากกระทรวงการคลังให้ออกมาตรการลดหนี้ (Hair Cut)  นั้น นางสาวสุวรรณีระบุว่า ต้องหารือในรายละเอียดกับกระทรวงการคลังอีกที แต่ตามหลักการแก้หนี้มี 3 ประเด็นหลักที่ต้องให้ความสำคัญ คือ  ต้องไม่ให้เกิด  Moral Hazard หรือทำให้คนที่มีหนี้ดีอยู่แล้วกลายเป็นหนี้เสีย // เน้นแก้ปัญหาให้ตรงจุด (Targeted) และต้องไม่ลดโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อของลูกหนี้ในอนาคต


ที่มา TNN


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง