เร่งแก้เกม "ไปรษณีย์ไทย" ยอดส่งลดฮวบ 20-50% l การตลาดเงินล้าน
ไปรษณีย์ไทย ยอมรับ การมาของ TEMU ทำให้ยอดขนส่งลดลงราวร้อยละ 20-50 ต่อวัน
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า อีคอมเมิร์ซจีนขยายตัวเข้ามาในประเทศไทยต่อเนื่อง แม้จะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อสินค้ามากขึ้น แต่ก็ทำให้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปด้วย โดย ไปรษณีย์ไทย ในฐานะผู้ให้บริการขนส่งก็ต้องปรับตัว เพราะว่าอีคอมเมิร์ซจีนหลายราย ต่างมีโลจิสติกส์ของตัวเองมาด้วย
การปรับตัว จะต้องเป็นทั้งคู่แข่ง และคู่ค้า ด้วยการเข้าไปอยู่ในระบบนิเวศของอีคอมเมิร์ซนั้น ๆ ให้ได้มากขึ้น หรือ การเข้าไปเป็นผู้ขนส่งให้กับแพลตฟอร์มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น TikTok, Shopee และ Lazada ขณะเดียวกัน ก็ต้องสร้างเครือข่ายโลจิสติกส์ของตัวเองให้แข็งแกร่ง ครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศไทย
ส่วนอีคอมเมิร์ซจีน รายล่าสุดที่เข้ามา คือ TEMU เป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงกับผู้ผลิตในจีนโดยตรง และมีความได้เปรียบในเรื่องการประหยัดของขนาด แม้ว่าช่วงแรกจะมีเสียงบ่นจากลูกค้าของ TEMU ว่า ราคาสินค้าสูงกว่า Shopee และ Lazada แต่เมื่อระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของ TEMU ทำงานเต็มที่ มีการแชร์ข้อมูลให้กับโรงงานผู้ผลิตโดยตรง โรงงานจะสามารถผลิตสินค้าออกมาตรงกับความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น เชื่อว่าจะทำให้ราคาสินค้าจะลดลงอย่างมาก
โดย TEMU ใช้ระบบขนส่งของ เจ แอนด์ ที (J&T) เพียงรายเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขนส่งสัญชาติจีน สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ คือจำนวนพัสดุบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ผ่านระบบขนส่งไปรษณีย์ไทย ช่วงเดือนมิถุนายน ถึงกรกฎาคม ที่ผ่านมา ลดลงไปราวร้อยละ 20-50 ต่อวัน อย่างไรก็ดี ไปรษณีย์ไทย ได้เจรจาเพื่อเป็นพันธมิตรในการทำหน้าที่ขนส่งสินค้ากับแพลตฟอร์มดังกล่าว แต่ต้องรอดูผลตอบรับออกมาก่อน
อย่างไรก็ตาม ดร.ดนันท์ กล่าวว่า ไม่ใช่แค่ไปรษณีย์ไทยเท่านั้นที่ประสบกับความท้าทายนี้ ธุรกิจเอสเอ็มอีไทย ก็ต้องปรับตัวเช่นกัน แต่การจะไปแข่งขันกับสินค้าที่มีการประหยัดของต้นทุนมาก ๆ เป็นเรื่องยาก
แต่การที่ TEMU เข้ามา แม้จะมีผลกระทบเชิงลบ แต่ก็มองเป็น โอกาส ที่จะนำสินค้า ซึ่งมีความแตกต่างของไทยเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์ม เพื่อโอกาสในการขยายไปสู่ตลาดโลก
โดย ไปรษณีย์ไทย จะเป็นตัวกลางในการเจรจา เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการคนไทยให้มีช่องทางที่หลากหลาย และมีโอกาสในการเปิดตลาดไปยังต่างประเทศได้มากขึ้น เช่น หนึ่งในโครงการที่จะเปิดตัวปลายปีนี้ คือ แอมะซอน เอฟบีเอ (Amazon FBA) โครงการที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถนำสินค้าเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ผ่านแพลตฟอร์ม แอมะซอน