TNN "Walmart" ขายหุ้นทั้งหมดใน JD.com l การตลาดเงินล้าน

TNN

เศรษฐกิจ

"Walmart" ขายหุ้นทั้งหมดใน JD.com l การตลาดเงินล้าน

Walmart ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกจากสหรัฐฯ กำลังปรับกลยุทธ์การทำตลาดในจีน โดยขายหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมดใน JD.com อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีน เป็นการจบความสัมพันธ์ 8 ปี

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า วอลมาร์ต ขายหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมดใน เจดี ดอท คอม จำนวน 144.5 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 24.95 ดอลลาร์ โดยขายให้กับ เจดี ดอท คอม คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,740 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นการยุติการลงทุน ระยะเวลา 8 ปี ในอีคอมเมิร์ซรายดังกล่าว ที่ให้ผลตอบแทนลดลง ท่ามกลางภูมิทัศน์ที่ท้าทายสำหรับยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีน

โดย วอลมาร์ต จะหันไปมุ่งเน้นที่ธุรกิจหลักของตนเองในจีน ซึ่งในแถลงการณ์ ชี้แจงว่า การตัดสินใจในครั้งนี้ จะช่วยทำให้บริษัทหันไปเน้นธุรกิจที่แข็งแกร่งของตนเองในจีน และจะใช้เงินที่ได้รับ ไปลงทุนในส่วนอื่นที่มีความสำคัญ 

อย่างไรก็ดี วอลมาร์ต บอกด้วยว่า จะสานสัมพันธ์ทางการค้าต่อเนื่องกับบริษัทจีน โดยจะทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับห่วงโซ่อุปทาน และขยายขอบเขตของผลิตภัณฑ์นำเข้าสำหรับผู้บริโภคชาวจีน

วอลมาร์ต เข้าลงทุนใน เจดี ดอท คอม ตั้งแต่ปี 2016 ด้วยการขายร้านค้าออนไลน์ ที่ขายสินค้าในชีวิตประจำวัน ของกลุ่ม วอลมาร์ต เอง ที่ชื่อ อี้ห่าวเตี้ยน (Yihaodian) ให้กับ เจดี ดอท คอม เพื่อแลกกับการเข้าถือหุ้นสัดส่วนร้อยละ 5 และในปีเดียวกัน วอลมาร์ต ก็เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นอีก เป็นมากกว่าร้อยละ 10 

ข้อตกลงในครั้งนั้น ถือเป็นหนึ่งในการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในจีน ของบริษัทค้าปลีกสหรัฐฯ และยังเปิดร้าน แซมส คลับ ไชน่า (Sam's Club China) บน เจดี ดอทคอม ตลอดจนการเข้าถึงเครือข่ายการจัดจำหน่ายของ เจดี คอทคอม สำหรับการจัดส่งในวันเดียวกัน และวันถัดไป

แต่แล้วการเติบโตด้านยอดขายของ เจดี ดอท คอม ก็เริ่มซบเซาหลังการระบาดของโควิด 19 เนื่องจาก ผู้ซื้อแห่ไปซื้อสินค้ากับแพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซต้นทุนต่ำ ที่เป็นคู่แข่ง อย่าง พินตัวตัว (Pinduoduo) มากขึ้น

ขณะที่ ในช่วงโควิด ผู้บริโภคชาวจีน มุ่งไปที่ แซมส คลับ (Sam's Club) เชนร้านค้าปลีก-ส่งของ วอลมาร์ต เพื่อกักตุนสินค้าในช่วงที่อาจมีการล็อกดาวน์เกิดขึ้น และผู้บริหารของ วอลมาร์ต เองบอกว่า แนวโน้มดังกล่าวยังคงมีต่อไป แม้สถานการณ์โควิดจะคลี่คลายลงแล้วก็ตาม 

เห็นได้จาก ผลประกอบการของ วอลมาร์ต ในจีน ที่ยังไปได้ดี ซึ่งจากรายงานไตรมาสล่าสุด รายรับจากธุรกิจในจีน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 4,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากการเติบโตที่แข็งแกร่งของ แซมส คลับ และการขายผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล เฉพาะรายได้จากสมาชิกในประเทศจีนจาก แซมส คลับ นั้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 26 ซึ่งจำนวนสมาชิกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากสาขาที่มีทั้งหมด 48 แห่งในจีน 

ด้าน บลูมเบิร์ก รายงาน โดยอ้างแหล่งข่าว บอกว่า วอลมาร์ต กำลังปรับปรุงกลยุทธ์ในจีน ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก หลังจาก แซมส คลับ และธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ต ได้สร้างระบบอีคอมเมิรซ และการจัดส่งที่เติบโตเต็มที่แล้วในจีน จากนี้ก็กำลังมุ่งเน้นไปที่การนำเสนอในส่วนของตนเอง ส่วนการขายหุ้นดังกล่าว เกิดขึ้นเนื่องจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ ความผันผวนของตลาด และโอกาสในการหางานทำลดลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริโภคของคนจีน

ขณะที่ ข้อมูลจาก ไช่น่า เชน สโตร์ แอนด์ แฟรนไชส์ แอสโซซิเอชัน (China Chain Store & Franchise Association) ของจีน รายงานว่า แซมส คลับ ของ วอลมาร์ต เป็นเครือข่ายไฮเปอร์มาร์เก็ตเพียงรายเดียวในท่ามกลางผู้เล่น 5 อันดับแรก ที่มียอดขายเติบโต โดย แซมส คลับ นำเสนอสินค้าพรีเมียมด้วยรูปแบบสมัครสมาชิก ที่ถูกคู่แข่งลอกเลียนแบบอยู่ในปัจจุบัน

ด้าน รอยเตอร์ส รายงานว่า การขายหุ้น เจดี ดอท คอม ถือเป็นความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ ครั้งแรกของ แคธรีน แมคเลย์ (Kathryn McLay) ที่เข้ามารับตำแหน่ง ซีอีโอ ในแผนกต่างประเทศของ วอลมาร์ต และเกิดขึ้นเนื่องจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ประกอบกับความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ทำให้จีน กลายเป็นประเทศคู่ค้าที่มีความท้าทายมากขึ้น

ปัจจุบัน ธุรกิจจากตะวันตกหลายแห่ง รวมถึง วอลมาร์ต ก็กำลังเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนจากจีน ไปยังประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ มากขึ้น ซึ่งรวมถึง อินเดีย ปากีสถาน และบังคลาเทศ เพื่อปรับปรุงความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน 

สำหรับสถานการณ์ในจีนเอง ก็ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยมีรายงานข่าวว่า ผู้ค้าปลีกออนไลน์ รายใหญ่ของจีน ต่างกำลังพยายามพลิกสถานการณ์ความตกต่ำที่เกิดขึ้น อันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและพฤติกรรมการซื้อของของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ส่งผลกระทบต่อยอดขายและรายได้ของธุรกิจ

เช่น อาลีบาบา ที่ถือเป็นตัวชี้วัดของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซในจีน รายงานผลประกอบการ ที่ทำให้นักลงทุนประหลาดใจ โดยเปิดเผย ผลประกอบการรายไตรมาส ต่ำกว่าคาดการณ์ของตลาด

ซึ่งในเรื่องนี้ รอยเตอร์ส รายงานว่า ยอดขายอีคอมเมิร์ซภายในประเทศจีน ของบริษัทดังกล่าว ตกอยู่ภายใต้แรงกดดัน จากการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังของผู้บริโภคชาวจีนเอง ในภาวะเศรษฐกิจกำลังตกต่ำ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหยุดชะงัก ประกอบกับตลาดอสังหาริมทรัพย์อ่อนแอลงต่อเนื่อง ความไม่มั่นคงในการทำงาน ปัจจัยเหล่านี้ ล้วนบั่นทอนความเชื่อมั่น และอำนาจการใช้จ่ายของผู้บริโภค

ขณะเดียวกัน อาลีบาบา ก็กำลังต่อสู้กับการแข่งขันที่รุนแรงจากคู่แข่ง ซึ่งรวมถึง เจดี ดอท คอม และแพลตฟอร์มการค้าปลีกที่เน้นการให้ส่วนลดจำนวนมาก เช่น พินตัวตัว ของ พีดีดี โฮลดิ้ง (เจ้าของทีมู) และ โตว่อิน ของ ไบต์แดนซ์

โดย อาลีบาบา เผยรายได้จำนวน 243,240 ล้านหยวน สำหรับไตรมาส สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ เฉลี่ยที่ 249,050 ล้านหยวน รายได้ในกลุ่มอีคอมเมิร์ซในประเทศ ลดลงร้อยละ 1 แม้ว่าจำนวนผู้ซื้อและความถี่ในการซื้อจะเพิ่มเป็นตัวเลข 2 หลักก็ตาม 

รอยเตอร์ส รายงานอีกว่า ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซของจีน ต้องหันไปให้ส่วนลดจำนวนมาก และโปรโมชัน เพื่อดึงดูดผู้ซื้อ ซึ่งกดดันต่ออัตรากำไรทั่วทั้งภาคค้าปลีก โดยนักวิเคราะห์จาก เอ็ม ไซแอนซ์ (M Science) กล่าวว่า การใช้จ่ายที่ตกต่ำในจีนนั้นเป็นเรื่องจริง เพราะผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลง และลดระดับการซื้อลง ขณะเดียวกันก็คิดอย่างรอบคอบมากขึ้น และนั่นจะทำให้ช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ทั้ง อาลีบาบา และ เจดี ดอท คอม ยังมีแนวโน้ม ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายดังกล่าวนี้ต่อไป 

ส่วนผลประกอบการรายไตรมาส สิ้นสุดเดือนมิถุนายน ของ JD.com แม้จะเหนือความคาดหมาย แต่รายรับก็เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.2 เป็นการเติบโตด้วยตัวเลขหลักเดียวมาตั้งแต่ปี 2022 สร้างความกังวลต่อนักลงทุนในตลาดหุ้น และส่งผลให้มูลค่าตลาดของบริษัทลดลงกว่าครึ่งตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง