อียู หั่นภาษี "เทสลา" ในจีนเหลือแค่ 9% l การตลาดเงินล้าน
สหภาพยุโรป ประกาศอัตราภาษีรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้าจากจีน ดูเหมือน Tesla จะได้ประโยชน์มากกว่าคู่แข่ง และอาจส่งผลให้แข่งขันได้ดีขึ้นในตลาดยุโรป
สื่อต่างประเทศรายงานว่า คณะกรรมาธิการยุโรป เปิดเผยแผนการเรียกเก็บภาษีครั้งล่าสุด สำหรับรถยนต์ อีวี ที่ผลิตและนำเข้าจากจีน โดยเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวนจากมาตรการตอบโต้การอุดหนุนที่ไม่เป็นธรรม
ซึ่งการกำหนดอัตราภาษีใหม่ ในภาพรวมปรับลดลงจากเดิมเล็กน้อย โดยลดลงเหลือ ร้อยละ 9 ถึง ร้อยละ 36.3 จากเดิม ในเดือนมิถุนายน กำหนดไว้ที่ร้อยละ 17.4 ถึงร้อยละ 38.1
การเคาะอัตราภาษีครั้งใหม่นี้ เทสลา (ซึ่งมีโรงงาน กิกะแฟคตอรี ในจีน) จะเสียภาษีนำเข้าเพิ่มเติม ที่อัตราร้อยละ 9 ลดลงจากเดิมกำหนดไว้ที่ร้อยละ 20.8 ถือเป็นอัตราเรียกเก็บต่ำสุด เมื่อเทียบกับคู่แข่งอีกหลายราย
ส่วน อัตราภาษีใหม่สำหรับ BYD ลดลงจากร้อยละ 17.4 เป็นร้อยละ 17, ส่วนกลุ่ม Geely ก็ลดลงจากร้อยละ 19.9 เป็นร้อยละ 19.3
และ SAIC ถูกกำหนดอัตราภาษีนำเข้าสูงสุด แต่ก็ลดลงจากร้อยละ 37.6 เป็นร้อยละ 36.3
สำหรับบริษัทรายอื่น ๆ ที่ร่วมมือกับ อียู ในการสอบสวนเรื่องการอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าของจีน จะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้า ในอัตราร้อยละ 21.3 ซึ่งสูงกว่าเดิม กำหนดไว้ที่ร้อยละ 20 ส่วนผู้ที่ไม่ให้ความร่วมมือ อัตราภาษีใหม่อยู่ที่ร้อยละ 36.3 ลดลงจากเดิม ร้อยละ 37.6
อย่างไรก็ดี อัตราภาษีดังกล่าว จะเป็นส่วนเพิ่มเติมจากภาษีนำเข้ารถยนต์ที่เรียกเก็บปกติ ซึ่งกำหนดไว้ที่ร้อยละ 10
ทั้งนี้ เมื่อเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรป ประกาศจะปรับขึ้นภาษีนำเข้ารถ อีวี จากจีนสูงขึ้น เนื่องจากเห็นว่ารถอีวี ที่ผลิตในจีน ได้รับประโยชน์การอุดหนุนที่ไม่เป็นธรรม และเป็นภัยต่อผู้ผลิตรถอีวีของยุโรป โดยกำหนดเป็นมาตรการตอบโต้การอุดหนุนชั่วคราว สำหรับรถ BEV ที่นำเข้าจากจีน
จากนั้น บริษัท เทสลา ของ Elon Musk ก็ได้ร้องขอให้มีการคำนวณอัตราภาษีใหม่ โดยอิงจากเงินอุดหนุนเฉพาะที่บริษัทฯ ได้รับในจีน
ซึ่งจากการประกาศอัตราใหม่ คณะกรรมาธิการยุโรป ระบุว่า ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า เทสลา ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลจีน น้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ผลิตอีวีในประเทศจีนเอง ทั้งยังบอกด้วยว่า อัตราภาษีใหม่ ยังเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวนที่กำลังดำเนินการอยู่ และอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้อีก และเมื่อมีการตัดสินใจขั้นสุดท้าย จะทำการตีพิมพ์ลงในวารสารของสหภาพยุโรป ต่อไป
ด้านสำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า อัตราภาษีรอบใหม่ สำหรับ เทสลา ซึ่งกำหนดไว้ต่ำกว่าคู่แข่งเป็นอย่างมาก อาจช่วยเพิ่มยอดขายให้กับรถ เทสลา ในภูมิภาคยุโรปได้ในอนาคต
โดย ซีเอ็นเอ็น ระบุว่า หลังจาก อัตราภาษีศุลกากรมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนกรกฎาคม เทสลา ได้ปรับขึ้นราคาของรถรุ่น โมเดล 3 ในยุโรป ไปประมาณร้อยละ 4 หรือเพิ่มขึ้นอีก 1,500 ยูโร เป็น 42,490 ยูโร ซึ่งนักวิเคราะห์ยานยนต์ จากบริษัท โร โมชัน (Rho Motion) กล่าวว่า ในยุโรป เทสลา โมเดล 3 ยังคงมีราคาถูกกว่า บีวายดี ซีล (BYD Seal) และด้วยการกำหนดอัตราภาษีสำหรับรถเทสลา ซึ่งต่ำกว่าคู่แข่งมาก จะช่วยให้ รถ โมเดล 3 ยังคงสามารถแข่งขันได้ดี กับ รถอีวี แบรนด์จีนรายอื่น ๆ
ส่วน บีวายดี ช่วงที่ผ่านมา ยังไม่มีการปรับขึ้นราคาในยุโรป แม้จะมีการเก็บภาษีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนักวิเคราะห์จาก โรเดียม กรุ๊ป (Rhodium Group) ให้ความเห็นว่า บีวายดี มีความสามารถที่ดีกว่ามากในการรองรับอัตราภาษีที่เพิ่มเติมขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่ามาก เมื่อเทียบกับราคาในยุโรป โดยคาดว่า บีวายดี จะสามารถรับภาระภาษีของสหภาพยุโรปที่เพิ่มเติมได้สูงสุดถึงร้อยละ 45
นักวิเคราะห์รายดังกล่าว ยังระบุด้วยว่า การเพิ่มภาษีศุลกากร กำหนดใช้กับรถรถยนต์ไฟฟ้า ประเภทแบตเตอรี หรือ BEV เท่านั้น นั่นทำให้ บีวายดี สามารถที่จะเพิ่มการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าแบบ ปลั๊กอินไฮบริด ได้ ซึ่ง เทสลา ไม่มีรถประเภทนี้ รวมถึงในอนาคต บีวายดี ยังสามารถหลีกเลี่ยงภาษีได้ในตลาดยุโรปได้ทั้งหมด จากการผลิตรถยนต์ที่โรงงานในประเทศตุรกี เพราะการนำเข้าจากตุรกี ไปยุโรป ไม่ต้องเสียภาษี
ทั้งนี้ หลังจากการประกาศแผนเรียกเก็บภาษีนำเข้า รอบล่าสุด ของ อียู ก็มีหน่วยงานต่าง ๆ ของจีน ได้ออกมาตอบโต้ผลการสอบสวน และยังทำให้ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและยุโรปเพิ่มขึ้นด้วย
โดย บลูมเบิร์ก รายงานว่า หอการค้าจีนประจำสหภาพยุโรป ได้โพสต์ข้อความทาง เอ็กซ์ (X) แสดงความไม่พอใจอย่างมาก และคัดค้านอย่างแข็งขัน ทั้งระบุว่า อียู ไม่มีหลักฐานเพียงพอว่ารถยนต์ไฟฟ้าจีน ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมีนัยสำคัญต่อตลาด
ส่วน กระทรวงพาณิชย์จีน มีแถลงการณ์ออกมา ซึ่ง รอยเตอร์ส รายงานว่า กระทรวงพาณิชย์จีน แสดงการคัดค้านอย่างเด็ดขาดและมีความกังวลเป็นอย่างมาก ต่อผลการสอบสวนในครั้งนี้ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่กำหนดโดยสหภาพยุโรปเพียงฝ่ายเดียว และไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ตกลงร่วมกัน
ทั้งยังให้คำมั่นว่า กระทรวงฯ จะใช้มาตรการที่จำเป็นทั้งหมด เพื่อปกป้องบริษัทจีนอย่างเข้มแข็งต่อไป โดยหวังว่า อียู จะเร่งพิจารณาหาแนวทางแก้ไขอย่างเหมาะสม มีเหตุมีผล และสามารถปฏิบัติได้จริง
เช่นเดียวกับ สมาคมผู้ผลิตรถยนต์แห่งชาติจีน ที่ได้ออกมา คัดค้านต่ออัตราภาษีศุลกากรรอบใหม่ โดยระบุว่า เป็นความเสี่ยงและความไม่แน่นอนอย่างมหาศาล ต่อการดำเนินงานและการลงทุนในสหภาพยุโรปของจีน
และเพียง 1 วันหลังจาก อียู ประกาศ รอยเตอร์ส รายงานด้วยว่า ทางการจีนประกาศ จะเปิดการสอบสวนการอุดหนุนสินค้า นม ที่นำเข้าจากสหภาพยุโรป โดยจะมุ่งเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์สำหรับมนุษย์ เช่น ชีส นม และครีม ประเภทต่างๆ และจะตรวจสอบโครงการอุดหนุน 20 โครงการทั่วสหภาพยุโรป โดยเฉพาะโครงการจากประเทศ ออสเตรีย, เบลเยียม, โครเอเชีย, สาธารณรัฐเช็ก, ฟินแลนด์, อิตาลี, ไอร์แลนด์ และ โรมาเนีย
ซึ่งจากข้อมูล เมื่อปีที่แล้ว (2023) ยุโรป ถือเป็นแหล่งผลิตนมรายใหญ่ เป็นอันดับ 2 ของจีน โดยส่งออกผลิตภัณฑ์นมไปจีน คิดเป็นมูลค่าถึง 1,840 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และประเทศ ไอร์แลนด์ เป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์นมรายใหญ่ที่สุดของกลุ่ม อียู ไปยังจีน เมื่อปีที่แล้วมีมูลค่าส่งออกราว 461 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ก่อนหน้านี้เอง (เมื่อเดือนมิถุนายน) ทางการจีน ได้เปิดการสอบสวนการทุ่มตลาด ในการนำเข้าเนื้อหมูจากสหภาพยุโรป เพื่อตอบโต้การขึ้นภาษีรถอีวีนำเข้าจากจีน เช่นกัน โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ สเปน เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์ก
ข่าวแนะนำ