TNN คาดการณ์อุณหภูมิโลก สูงขึ้นอีก 3 องศาฯ เกิดการอพยพ - ขาดแคลนอาหาร

TNN

Earth

คาดการณ์อุณหภูมิโลก สูงขึ้นอีก 3 องศาฯ เกิดการอพยพ - ขาดแคลนอาหาร

คาดการณ์อุณหภูมิโลก สูงขึ้นอีก 3 องศาฯ เกิดการอพยพ - ขาดแคลนอาหาร

ทีดีอาร์ไอเผยข้อมูลอุณหภูมิโลก คาดการณ์ว่า ภายใน 76 ปี อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้น 2.7 - 3.1 องศาฯ ส่งผลกระทบให้เกิดการอพยพ - ขาดแคลนน้ำอาหาร

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในเวทีสัมนาวิชาการใน หัวข้อ “ปรับประเทศไทย...ให้ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ” ว่า ทุกคนบนโลกนี้จะต้องเตรียมตัวสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในโลกที่จะมีอุณหภูมิสูงขึ้น โดยคาดว่าอุณหภูมิอาจเพิ่มขึ้นระหว่าง 2.7 - 3.1 องศาเซลเซียส ในปี พ.ศ.2643 หรือ อีก 76 ปี หากประเทศต่างๆ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามความตกลงปารีสที่ได้ประกาศไว้ แต่หากไม่มีการดำเนินการที่เหมาะสม อุณหภูมิของโลกอาจสูงถึง 4 - 5 องศาเซลเซียส ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภัยพิบัติที่รุนแรงและบ่อยครั้งมากขึ้นในระดับ “โลกเดือด”  


ทั้งนี้มีการเสนอแนวทางโดย ระบุว่า ภาวะโลกรวนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอันดับต้นๆของโลก โดยผลกระทบหลัก คือ การสูญเสียผลผลิตภาคการเกษตร สูญเสียผลิตภาพแรงงาน และสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยว ดังนั้นเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังกล่าว ประเทศไทยจะต้องเตรียมการ 4 เรื่องที่สำคัญ คือ


 1.การสร้างงานใหม่ทดแทนงานกลางแจ้ง ซึ่งจะไม่สามารถทำได้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นงานเกษตรกรรม การก่อสร้าง การขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง 


2.การปรับปรุงสภาพของเมือง เพื่อลดความร้อนและความเสี่ยงที่จะเกิดอุทกภัย ตลอดจนการรับมือกับน้ำทะเลสูงขึ้นในเมืองริมชายฝั่ง 


3.การพัฒนาระบบจัดการภัยธรรมชาติที่มีประสิทธิผลซึ่งสามารถป้องกันและลดความเสียหาย และ 


4. การเตรียมเงินทุนเพื่อการปรับตัว โดยทั้งหมดนี้จะต้องคำนึงถึงคนกลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษด้วย 



ด้าน นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้ไทยสูญเสียผลผลิตภาคการเกษตรมากเป็นอันดับ 3 จาก 48 ประเทศ ดังนั้นภาคเกษตรจะต้องปรับตัว โดยยึดแนวคิด “เกษตรเท่าทันภูมิอากาศ” ซึ่งจะเป็นการปรับตัวเพื่อสร้างความยืดหยุ่น ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีช่วยเพิ่มผลผลิต รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งตัวอย่างของการปรับตัวตามแนวคิดนี้ในระดับเกษตรกร คือ การกระจายการผลิตโดยปลูกพืชหลากหลายชนิดแบบเกษตรสวนผสม การปรับปฏิทินเพาะปลูกให้สอดคล้องกับภูมิอากาศ และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในการเพาะปลูกด้วยเทคโนโลยีแบบต่าง ๆ เช่น การใช้น้ำหยด 


ขณะที่ในระดับนโยบาย ต้องสนับสนุนการทำวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์พืชให้ทนแล้ง-ทนน้ำท่วมได้ มีผลผลิตสูงขึ้น และสามารถตอบโจทย์ด้านสุขภาพที่จะทำให้สินค้าเกษตรไทยแข่งขันได้ ซึ่งประโยชน์ของเกษตรเท่าทันภูมิอากาศ นอกจากจะช่วยลดความเสียหายจากภาวะโลกร้อนได้แล้ว ยังมีโอกาสเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศ ทำให้เกิดความหลากหลายด้านชีวภาพ


ภาพจาก: AFP 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง