วิกฤตหอยเม่นในญี่ปุ่น ทำสาหร่ายทะเลลดลง 80% ใน 30 ปี
ปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเลเกิดขึ้นจากหลากปัจจัย ทั้งมาจากขยะพลาสติกที่มนุษย์ทิ้ง ภาวะโลกร้อน อุณหภูมิน้ำที่สูงขึ้น หรือแม้แต่การแย่งชิงอาหารของสัตว์ทะเล ก็ทำให้เกิดปัญหาความไม่สมดุลของระบบนิเวศตามมาได้
มีเรื่องราวที่น่าสนใจที่ญี่ปุ่น บริเวณพื้นที่ชายฝั่งอ่าวซากามิ ในจังหวัดคานางาวะของญี่ปุ่น
โดย “หอยเม่น” สัตว์ทะเลที่เป็นหนึ่งในวัตถุดิบทำซูชิยอดนิยม สร้างปัญหาใหญ่ให้กับระบบนิเวศกระทบความสมดุลของท้องทะเล เพราะว่าพวกมันขยายพันธุ์จนมีจำนวนมากเกินไป และส่งผลกระทบต่อจำนวนสาหร่ายทะเล ตามรายงานพบว่า ระยะหลังมานี้ สาหร่ายทะเลในพื้นที่ลดลงเกือบ 80% ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากถูกหอยเม่นกินจนหมด และส่งผลกระทบต่อปลาจำนวนมากในทะเลที่ถูกหอยเม่นแย่งอาหารด้วย
โดยนักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีการประมงจังหวัดคานางาวะ พยายามที่จะแก้ปัญหานี้ โดยพยายามหาอาหารที่หอยเม่นชอบ และในที่สุดก็พบว่าพวกมันชอบกิน “กะหล่ำปลี” และ “ผักโขมมัสตาร์ดญี่ปุ่น” เป็นอย่างมาก จากงานวิจัยพบว่ากะหล่ำปลีช่วยให้หอยเม่นมีเนื้อที่กินได้เพิ่มขึ้นและพบว่าหอยเม่นที่กินกะหล่ำปลีนั้นให้รสชาติความหวานอร่อยได้มากกว่าหอยเม่นธรรมชาติอีกด้วย
งานวิจัยครั้งนี้ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อชาวประมงในพื้นที่เป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยให้หอยเม่นเลิกกินสาหร่ายทะเลแล้ว ยังทำให้หอยเม่นมีมูลค่าเพิ่มขึ้น เพิ่มแรงจูงใจให้แก่ชาวประมงในการจับมันอีกด้วย
เรื่องราวนี้ก็นับว่าเป็นความโชคดีที่สามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างลงตัว ช่วยลดปัญหาสาหร่ายทะเลที่ลดลง และยังช่วยให้หอยเม่นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นด้วย และแก้ปัญหาระบบนิเวศทางทะเลให้กลับมาสมดุลขึ้น
ข่าวแนะนำ