"เอกวาดอร์" เข้าขั้นวิกฤต สั่งตัดไฟทั่วประเทศวันละ 12 ชม. หลัง "แล้ง" หนักสุดในรอบ 61 ปี
สถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงสุดในรอบ 61 ปี ทำให้ "เอกวาดอร์" เผชิญวิกฤตพลังงานอย่างหนัก จนต้องขยายเวลาตัดไฟทั่วประเทศ วันละ 12 ชั่วโมง
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รัฐบาลเอกวาดอร์ ประกาศขยายเวลาตัดกระแสไฟฟ้าทั่วประเทศนานขึ้น เป็นวันละ 12 ชั่วโมง จากแผนเดิมที่ตัดไฟวันละ 8 ชั่วโมง เนื่องจากประเทศกำลังเผชิญวิกฤตพลังงานอย่างหนัก ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์ภัยแล้งครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของ เอกวาดอร์ ซึ่งเป็นประเทศ ในแถบเทือกเขาแอนดิส
นายอันโตนิโอ กอนเคลฟส์ รัฐมนตรีพลังงานของเอกวาดอร์ กล่าวว่า สัปดาห์ที่แล้ว เจ้าหน้าที่ได้ตัดไฟทั่วประเทศวันละ 8 ชั่วโมง แต่สภาพอากาศแล้งรุนแรง ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ตั้งเขื่อนหลายแห่งของประเทศ โดยฤดูแล้งมาเร็วกว่าปกติ ถึง 2 เดือน ขณะที่ประเทศเอกวาดอร์ ต้องพึ่งพาทางอุทกวิทยาเป็นอย่างมาก ทำให้ไม่สามารถคาดเดาสถานการณ์ได้
ด้านประธานาธิบดีแดเนียล โนบัว ของเอกวาดอร์ ขึ้นกล่าวในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ที่นิวยอร์กก่อนหน้านี้ว่า เอกวาดอร์กำลังเผชิญกับภัยแล้งครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 61 ปีของประเทศ ขณะที่ผู้ให้บริการจ่ายไฟฟ้ารายงานว่า ตารางเวลาการตัดไฟตามแผนการนี้ที่จะดำเนินไปจนถึงวันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน นี้ จากเดิมที่กำหนดไว้ถึงวันที่ 26 กันยายน
แถลงการณ์ของผู้นำเอกวาดอร์ ยังระบุด้วยว่า อาจมีการบังคับใช้มาตรการเพิ่มเติมที่จำเป็น หลังจากประเมินสถานการณ์น้ำในภูมิภาค ประเทศ และแต่ละจังหวัดแล้ว โดยระดับน้ำที่ลดลงส่งผลให้อ่างเก็บน้ำของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งครอบคลุมความต้องการไฟฟ้าในประเทศร้อยละ 70 ลดลงถึงระดับวิกฤต
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการปฏิบัติการฉุกเฉินแห่งชาติ (ซีโออี) ขยายการเตือนภัยสีแดงใน 15 จังหวัด รวมไปถึงกรุงกีโต เมืองหลวงของประเทศ ด้านหอการค้าในเมืองกวายากิล เมืองการค้า ที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ประเมินว่า เอกวาดอร์จะสูญเสียเงินราว 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 394 ล้านบาท ในทุก ๆ ชั่วโมงที่เกิดไฟฟ้าดับ
โดยเมื่อต้นปี เอกวาดอร์สูญเสียเงินขณะที่ไฟฟ้าดับไปกว่า 1,440 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 47,361 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
ที่มา: สำนักข่าวรอยเตอร์
ข่าวแนะนำ