TNN "ดร.สนธิ" ชี้ "ตัดไม้ทำลายป่า" สาเหตุสำคัญน้ำท่วมภาคเหนือ

TNN

Earth

"ดร.สนธิ" ชี้ "ตัดไม้ทำลายป่า" สาเหตุสำคัญน้ำท่วมภาคเหนือ

ดร.สนธิ ชี้ ตัดไม้ทำลายป่า สาเหตุสำคัญน้ำท่วมภาคเหนือ

การตัดไม้ทำลายป่า” สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุทกภัยและดินถล่มในภาคเหนือ เพราะไม่มีพื้นที่ซับน้ำ พร้อมชูข้อกฎหมายการทำเกษตรกรรมบนภูเขา หน่วยงานภาครัฐที่ดูแลพื้นที่ยินยอมได้อย่างไร?

ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสเกี่ยวกับสาเหตุน้ำท่วมใหญ่ในภาคเหนือปีนี้ โดยระบุว่า “การตัดไม้ทำลายป่า” เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุทกภัยและดินถล่ม 


ระบุว่า ภาคเหนือ มีพื้นที่ป่าไม้ในปี2566 ประมาณ 37,976,519.37 ไร่ หรือ 63.24% ของพื้นที่ภูมิภาค ลดลงจากปี 2565 ถึง 171,143.04 ไร่ โดยการตัดไม้ทำลายป่าเปลี่ยนภูเขามาเป็นพื้นที่เกษตรกรรมปีละเกือบสองแสนไร่ สาเหตุสำคัญของอุทกภัยและดินถล่มครั้งใหญ่ของ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน และพะเยา ในปี 2567 สาเหตุฝนตกหนักกว่าเดิมแต่พื้นที่ซับน้ำไม่มี ฝีมือมนุษย์ทั้งนั้น

นอกจากนี้ยังระบุเกี่ยวกับการปลูกพืช ทำเกษตรกรรมบนภูเขาทำได้อย่างไร? กฎหมายชัดเจนแต่ปล่อยปะละเลย สาเหตุหลักของการทำให้เกิดน้ำท่วมภาคเหนือรุนแรงในปีนี้

คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2528 เห็นชอบด้วยกับนโยบายป่าไม้แห่งชาติตามมติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กำหนดให้พื้นที่ที่มีความลาดชันโดยเฉลี่ย 35% ขึ้นไปเป็นพื้นที่ป่าไม้โดยไม่อนุญาตให้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามประมวลกฎหมายที่ดินในพื้นที่ดังกล่าว ทั้งนี้เนื่องจากเห็นว่าพื้นที่ที่มีความลาดชันโดยเฉลี่ย 35 % ขึ้นไป เป็นพื้นที่ที่มีการชะล้างหน้าดินสูงไม่เหมาะสมแก่การทำเกษตรกรรม สมควรเป็นพื้นที่ป่าไม้และไม่อนุญาตให้มีการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน แต่ไม่รวมถึงที่ดินซึ่งผู้ครอบครองมีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายที่ดินคือครอบครองมาก่อนอย่างถูกกฎหมายก่อนวันที่ 1 ธ.ค. 2497 หรือมีหลักฐานครอบครอง เช่น นส 3 ก หรือ สค.1

นอกจากนี้กฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ข้อ14 (2) กำหนดให้พื้นที่เขา ที่ภูเขาและปริมณฑลรอบที่เขาหรือภูเขาระยะ 40 เมตร เป็นพื้นที่ต้องห้ามไม่ให้ออกโฉนดที่ดิน แต่ไม่รวมถึงที่ดินที่ผู้ครอบครองมีสิทธิครอบครองโดยชอบตามประมวลกฎหมายที่ดิน( ได้มาก่อน 1 ธ.ค. 2497)

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2538 กำหนดนิยามของ “เขา”หมายถึง ส่วนของพื้นที่ที่สูงจากบริเวณรอบ ๆ (Surrounding) น้อยกว่า 600 เมตร ปรากฎในแผนที่ว่าเป็นเขา พื้นลาดชันร้อยละ 20- 35 และที่ภูเขา หมายถึงส่วนของพื้นที่ที่สูงจากบริเวณรอบๆ (Surrounding) ตั้งแต่ 600 เมตร ขึ้นไปพื้นที่ลาดชันมากกว่าร้อยละ 35

ผู้บุกรุกป่าที่ถูกจับในกรณีแผ่วถ้างหรือเผาป่า เพื่อที่จะได้ครอบครองที่ดินนั้นในเขตอุทยานแห่งชาติ หรืออุทยานต่าง ๆ ของประเทศไทยจะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 20 ปี หรือปรับสูงถึง 2 ล้านบาท นอกจากนี้ห้ามยึดถือ ครอบครอง ทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัย ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ เก็บหาของป่า หรือทำให้ป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมสภาพ โดยมีบทลงโทษ คือ จำคุก 1 – 10 ปี และปรับ 20,000 – 200,000 บาท

จากกฎหมายดังกล่าว ประชาชนได้บุกรุกภูเขาไปปลูกพืช ทำเกษตรกรรมได้อย่างไร? หน่วยงานภาครัฐที่ดูแลพื้นที่ยินยอมได้อย่างไร? สุดท้าย ฝนตกหนัก น้ำป่าจากภูเขาไหลเชี่ยวกราก พัดพาดินโคลนจากภูเขามาถล่มเมืองในพื้นที่ราบ ทั้งเชียงราย เชียงใหม่ แพร่ น่าน ลำปาง เป็นต้น ในปี 2567 เพราะทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โค่นป่า ปลูกพืชล้มลุกบนภูเขาทำผิดกฎหมายแต่เจ้าหน้าที่ปล่อยปะละเลย

ที่มา: Sonthi Kotchawat

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง