ทำความรู้จัก “ระเบิดฝน” ปรากฏการณ์ใหม่ยุคโลกเดือด
ในยุคโลกเดือดเราจะเห็นว่าหลายประเทศทั่วโลกเผชิญกับฝนตกหนักมาก ๆ ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ และนำมาซึ่งภัยพิบัติทางธรรมชาติเช่นน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นลักษณะของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติใหม่ที่เรียกว่า Rain bomb หรือระเบิดฝน
ศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลว่า คำว่า “ระเบิดฝน” หรือ “Rain bomb” เป็นคำใหม่ ยังไม่ถูกใช้อย่างเป็นทางการ แต่ความหมายทั่วไปคือฝนตกกระหน่ำอย่างไม่ลืมหูลืมตา มีปริมาณน้ำฝนในช่วงเวลาสั้น ๆ ทะลุขีดจำกัด ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน หากตกลงในพื้นที่เขาหรือป่า อาจเกิดน้ำป่าไหลหลากฉับพลันได้ ซึ่งด้าน กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ยังไม่มีการนิยามคำว่า rain bomb หรือระเบิดฝนอย่างเป็นทางการ แต่ในภาษาอุตุนิยมวิทยาเรียกลักษณะอากาศที่แปรปรวนแบบฉับพลันว่า “ฝนเอ็กซ์สตรีม” คือ ฝนที่ตกหนักมากตกลงมาในจุดเดียว
ตัวอย่างมีให้เห็นทั่วไป ยกตัวอย่างเช่นเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หลายพื้นที่ทางภาคเหนือเกิดฝนตกหนัก จากอิทธิพลของร่องมรสุมที่ปกติแล้วพาดผ่านอยู่ทางภาคเหนือเป็นประจำทุกปี แต่ปีนี้ปริมาณฝนที่ตกลงมานั้นมากผิดปกติ จนทำให้หลายพื้นที่เกิดน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีพายุเข้าด้วยซ้ำ รวมถึงหลายพื้นที่ในจ.เชียงใหม่และจ.เชียงราย ที่เจออิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จนฝนตกทั้งวันทั้งคืนไม่หยุด
ซึ่งนี่เป็นผลพวงที่เห็นได้ชัดจากภาวะโลกร้อน เนื่องจากมหาสมุทรนั้นมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้น้ำระเหยได้มากขึ้น เมื่อระเหยมากขึ้น ไอน้ำที่ระเหยขึ้นไปในอากาศจะก่อตัวเป็นเมฆ ทำให้เมฆมีน้ำอยู่มากมาย พร้อมที่จะทะลักทลายจากบนฟ้าได้ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เพราะทุก ๆ 1 องศาเซลเซียสที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้น ชั้นบรรยากาศจะสามารถเก็บกักความชื้นเพิ่มขึ้นประมาณ 7% ทำให้เกิดฝนตกหนักมากขึ้นนั่นเอง
และสิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ ปรากฏการณ์ระเบิดฝน ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ในระยะยาว ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนนั่นเอง
ข่าวแนะนำ