นักวิทยาศาสตร์เตือน มีแนวโน้มที่จะเกิด "น้ำท่วม" จากพายุหมุนเขตร้อนมากขึ้น เช่นเดียวกับสถานการณ์ที่หลายประเทศเจอจากไต้ฝุ่น “ยางิ” เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
“นาเดีย บลูเมนดาล” นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศ นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเสรีอัมสเตอร์ดัม (Vrije Universiteit Amsterdam) กล่าวว่า "มีฉันทามติทางวิทยาศาสตร์โดยทั่วไปว่า พายุหมุนเขตร้อนกำลังมีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้มีฝนตกหนักขึ้น และเกิดคลื่นสูงซัดฝั่ง หรือสตอร์ม เซิร์จเพิ่มมากขึ้น"
อย่างไรก็ตาม
ยังไม่มีฉันทามติทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศต่อจำนวนพายุในแต่ละฤดูกาล แม้ว่าช่วงเวลาของพายุที่รุนแรงกำลังเปลี่ยนไป เนื่องจากสภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้น ทำให้เกิดสภาวะที่เอื้อต่อการเกิดพายุได้มากขึ้นในแต่ละปี โดยอุณหภูมิผิวน้ำทะเลในภูมิภาคนี้ยังคงสูงอยู่ ซึ่งอาจเป็นชนวนให้เกิดพายุจำนวนมากขึ้นหรือรุนแรงขึ้น หากไม่มีมหาสมุทร โลกอาจร้อนขึ้นมากจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา มหาสมุทรได้ดูดซับความร้อนที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่กักเก็บความร้อนได้ประมาณร้อยละ 90
ความร้อนจากมหาสมุทรส่วนใหญ่อยู่ใกล้ผิวน้ำ ความร้อนที่เพิ่มขึ้นนี้สามารถกระตุ้นให้พายุรุนแรงขึ้นและทำให้เกิดลมแรงขึ้นได้ อย่างเช่นพายุยางิ ที่เพิ่งพัดถล่มเวียดนามเป็นต้น
บลูเมนดาล กล่าวว่า "ปริมาณน้ำฝนที่เห็นจากพายุไต้ฝุ่นยางิ ซึ่งเกิน 400 มิลลิเมตร มีโอกาสสูงที่เราจะเห็นปริมาณน้ำฝนดังกล่าวบ่อยขึ้นในอนาคต"
ไต้ฝุ่นยางิ เป็นพายุที่มีกำลังแรงมากที่สุดที่พัดถล่มในเอเชียปีนี้ ภูมิภาคนี้ยังได้รับผลกระทบจากพายุอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น พายุไต้ฝุ่นแกมีและพายุไต้ฝุ่นชานชานด้วย
ทั้งนี้ โลกมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นแล้ว 1.3 องศาเซลเซียส จากค่าเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรม โดยการเผาไหม้ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
.
ส่วนสถานการณ์ในเวียดนาม หลังไต้ฝุ่นยางิพัดถล่ม ล่าสุดจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 197 ราย และยังสูญหาย 128 ราย ขณะที่ ผู้ได้รับบาดเจ็บอยู่ที่ประมาณ 800 ราย
ภาพ: ENVATO