เปิดภาพ "นกชนหิน" สัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ของไทย
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดภาพ "นกชน หิน" สัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ของไทย
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยเรื่องราวของ “นกชนหิน” (Helmeted hornbill ; มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า : 𝘙𝘩𝘪𝘯𝘰𝘱𝘭𝘢𝘹 𝘷𝘪𝘨𝘪𝘭) เป็นนกขนาดใหญ่ ในวงศ์นกเงือกที่มีสายพันธุกรรมเก่าแก่ มีลักษณะเด่นตรงที่สันบนปากมีขนาดใหญ่และหนา เนื้อในสีขาวตันคล้ายงาช้าง และมีจะงอยปากยาว
“นกชนหิน” เป็นนกเงือกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดจาก 13 ชนิด โดยมีขนาดลำตัวตั้งแต่หัวถึงปลายหางประมาณ 110-127 เซนติเมตร ตัวผู้มีน้ำหนัก 3,060 กรัม และตัวเมียมีน้ำหนักประมาณ 2,610 ถึง 2,840 กรัม นกชนหินจะมีลักษณะพิเศษตรงขนหางคู่กลางจะยาวและเรียวกว่าคู่อื่นๆ ซึ่งยาวประมาณ 30-45 เซนติเมตร
ภาพ: “นกชนหิน” เป็นนกเงือกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดจาก 13 ชนิด
เสียงร้องของนกชนหินตัวผู้ สามารถดังไปไกลถึง 2 กิโลเมตร เสียงดังกังวาน โดยเริ่มจากเสียง ‘อู๊ก’ ติดต่อกัน จากนั้นค่อยๆ เร่งจังหวะขึ้นเรื่อยๆ ก่อนถึงจุดพีคสุดตอนท้าย คล้ายกับเสียงหัวเราะ และในบางครั้งจะมีเสียงตัวเมียร่วมร้องด้วย โดยระดับเสียงตัวเมียจะสูงกว่าตัวผู้เล็กน้อย พบได้บ่อยในช่วงฤดูผสมพันธุ์
ที่มาของชื่อนกชนหิน เกิดจากการต่อสู้เพื่อแย่งอาณาเขต โดยใช้ส่วนหัวที่หนาชนกัน จึงได้ชื่อว่า “นกชนหิน” บางครั้งอาจบินชนกันในอากาศ และจากความโดดเด่นของนกชนหิน ยังทำให้ถูกล่าอย่างหนัก ด้วยความเชื่อในการนำสันบนจะงอยปากบนไปแกะสลักทำเป็นเครื่องราง ของประดับ
คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า จึงกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 เพื่อยกระดับความคุ้มครองนกชนหินและถิ่นอาศัยให้สอดคล้องกับมาตรการนานาชาติ
สถานภาพของนกชนหินในปัจจุบัน จึงจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 และอยู่ในบัญชีที่ 1 ของอนุสัญญาไซเตส (CITES) ขณะที่สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN จัดให้นกชนิดนี้อยู่ในสถานภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง
ขอบคุณภาพนกชนหิน จากอุทยานแห่งชาติศรีพังงา จ.พังงา โดยการค้นพบนกชนหินและนกเงือกชนิดอื่น ๆ ของอุทยานแห่งชาติศรีพังงา รวมถึงสัตว์ป่าหายากหลากหลายสายพันธุ์ ส่วนหนึ่งเป็นผลสำเร็จมาจากการนำระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART Patrol) ที่นำมาใช้ในการปฏิบัติงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ป้องกันและปราบปรามการลักลอบล่าสัตว์ป่าและลดการบุกรุกทำลายถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าที่ได้ผลดี ทำให้จำนวนของสัตว์ป่ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้ผืนป่าศรีพังงา อุทยานแห่งชาติศรีพังงา ยังคงเป็นบ้านที่ปลอดภัยของบรรดานกเงือกและสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ ต่อไป
อ้างอิง: มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก
ที่มา/ภาพ : ส่วนอุทยานแห่งชาติ สํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 นครศรีธรรมราช
อุทยานแห่งชาติศรีพังงา-Si Phang Nga National Park
ข่าวแนะนำ