มลพิษทางอากาศเสี่ยงทำให้เกิดฝนกรด
ฝนกรด เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมมากมาย และเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเราด้วย
ฝนกรด (Acid Rain) คือ ปรากฏการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงค่า pH หรือค่าความเป็น กรด-ด่าง ของน้ำฝนตามธรรมชาติ โดยปกติแล้ว น้ำฝนมีสถานะเป็นกรดอ่อนๆ โดยมีค่า pH อยู่ที่ประมาณ 5.6-5.7 ดังนั้นถ้าน้ำฝนมีค่า pH ต่ำกว่า 5.6 จะถือว่าเป็นฝนกรด
สาเหตุที่ทำให้เกิด “ฝนกรด” คือ การที่มีแหล่งโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมากมาย บนท้องถนนเกิดการเผาไหม้เชื้อเพลิงเครื่องยนต์และโรงงานต่าง ๆ มีการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์ เข้าสู่ชั้นบรรยากาศจำนวนมากกลายเป็นกรดซัลฟิวริก และกรดไนตริก เมื่อฝนตกลงมาสารพิษเหล่านี้จะรวมตัวกันกลายเป็นฝนกรดที่มีค่าพีเอชต่ำกว่า 4 และ ตกลงมายังผิวโลกกลายเป็นฝนกรด
ฝนกรดส่งผลต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อมมากมาย เช่น บางคนผิวหนังบอบบางเมื่อโดนฝนกรดเล็กน้อยก็จะเกิดอาการแพ้หรือเกิดผื่นคัน และถ้ามีความเป็นกรดสูงจะมีผลทำให้แสบตาและคันตามผิวหนังได้
ผลกระทบที่มีต่อดิน ก็คือ ฝนกรดจะไปทำการชะล้างละลายปุ๋ยและสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชออกไป ทำให้มีการเจริญเติบโตช้าและแห้งกรอบล้มตายในเวลาต่อมา
นอกจากนี้ยังไปละลายสารพิษที่อยู่ในดิน เช่น อะลูมิเนียมและปรอทไหลลงสู่แหล่งน้ำก่อให้เกิดอันตรายต่อสัตว์น้ำที่อยู่อาศัยในน้ำได้
ส่วนผลกระทบต่อต้นไม้ ที่นอกจากสารอาหารในดินจะถูกชะล้างไปแล้วฝนกรดยังเป็นอันตรายต่อใบ ของพืช โดยจะถูกกัดกร่อนใบ ทำให้เป็นรูโหว่ จนขาดความสามารถในการผลิตอาหารจากการสังเคราะห์ด้วยแสง
สำหรับฝนกรด แม้จะเกิดขึ้นไม่บ่อยแต่ถ้าหากเกิดขึ้นแล้ว ก็อันตรายทีเดียว ดังนั้นเราต้องช่วยกันร่วมมือกันคนละนิด ลดการปล่อยมลพิษ ก็จะช่วยป้องกันและลดการเกิดฝนกรดลงได้
ข่าวแนะนำ