TNN ผลสำรวจชี้คนไทยสนใจโลกร้อน ยอมจ่ายเงินเพิ่ม 12% ซื้อสินค้ารักษ์โลก แม้ใจหวั่นเศรษฐกิจไม่ดี

TNN

Earth

ผลสำรวจชี้คนไทยสนใจโลกร้อน ยอมจ่ายเงินเพิ่ม 12% ซื้อสินค้ารักษ์โลก แม้ใจหวั่นเศรษฐกิจไม่ดี

ผลสำรวจชี้คนไทยสนใจโลกร้อน  ยอมจ่ายเงินเพิ่ม 12% ซื้อสินค้ารักษ์โลก แม้ใจหวั่นเศรษฐกิจไม่ดี

ผลสำรวจชี้คนไทยสนใจโลกร้อน เลือกใช้จ่ายเฉพาะสินค้าจำเป็น โดยยอมจ่ายเงินเพิ่ม 12% ซื้อสินค้ารักษ์โลก

จากรายงานผลสำรวจเสียงของผู้บริโภค ประจำปี 2567 ภาพรวมของเอเชียแปซิฟิก ฉบับประเทศไทย ของ PwC  ซึ่งทำการสำรวจผู้บริโภคจำนวน 20,662 รายใน 31 ประเทศและอาณาเขต รวมถึงผู้บริโภคจำนวน 7,279 รายจาก 11 อาณาเขตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 504 รายที่มาจากประเทศไทย  ( 41% เจเนอเรชั่น เอ็กซ์, 32% เจเนอเรชั่น วาย หรือมิลเลนเนียล,18% เจเนอเรชั่น ซี, 8% เบบี้บูมเมอร์ และ 1% เดอะเกรเตสท์ เจเนอร์ชั่น(ยุคสงครามโลกครั้งที่  2 ) ทั้งนี้เป็นชาย 50% และหญิง 50% 


โดยการสำรวจครอบคลุมหัวข้อที่หลากหลายเกี่ยวกับแนวโน้มของผู้บริโภค รวมถึงพฤติกรรมการจับจ่ายสินค้า เทคโนโลยีเกิดใหม่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โซเชียลมีเดีย และอื่น ซึ่งพบว่า 


ความกังวลหลักของผู้บริโภคชาวไทยมี 3  เรื่องหลัก โดย  54%  ของผู้บริโภคชาวไทยกล่าวว่า ความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาคจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยมากที่สุดในอีก 12 เดือนข้างหน้า ตามมาด้วยราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น หรือปัจจัยเงินเฟ้อ ( 53% ) และความเสี่ยงทางไซเบอร์ ( 41% )


เมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พบว่า ความกังวลเหล่านี้มีความโดดเด่นเช่นกัน โดยผู้บริโภคในภูมิภาค 61%  กังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ ขณะที่ 46% กังวลเกี่ยวกับความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาคและ 29% มุ่งเน้นไปที่ความเสี่ยงทางไซเบอร์


ผลสำรวจฯยังพบว่า ผู้บริโภคชาวไทยมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับสินค้าที่จำเป็น (necessities) มากกว่าสินเค้าฟุ่มเฟือย  (luxury items) ในอีกหกเดือนข้างหน้า  นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี รวมถึงการปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยี 


โดย 69% คาดว่าจะใช้จ่ายกับสินค้าอุปโภคบริโภคมากขึ้น (เทียบกับเอเชียแปซิฟิกที่ 65%) รองลงมา คือผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม  และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์  ขณะเดียวกัน (51% ) ยังรู้สึกพึงพอใจกับการใช้จ่ายด้านท่องเที่ยว  รวมถึงการปรับปรุงที่อยู่อาศัย  และเสื้อผ้าและรองเท้า 


นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่าสี่ในสิบของผู้บริโภคชาวไทย จะพิจารณาเปลี่ยนจากการซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่ตนชื่นชอบไปใช้ตัวเลือกอื่นที่ราคาถูกกว่า หากได้รับความคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปมากกว่า (เทียบกับเอเชียแปซิฟิกที่ 39%)


PwC ระบุว่าผลสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นว่า “ผู้บริโภคชาวไทยมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย” โดยรักษาสมดุลระหว่างการใช้จ่ายที่จำเป็น และการปรับไลฟ์สไตลของตนให้ดีขึ้น


ยิ่งไปกว่านั้น ผู้บริโภคชาวไทยยังหันมาให้ความสำคัญกับการบริโภคสินค้าเพื่อความยั่งยืน (sustainable products) มากขึ้น โดยรายงานระบุว่า 95% ของผู้ตอบแบบสำรวจกล่าวว่าได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในชีวิตประจำวัน  


จึงเป็นเหตุให้ผู้บริโภคชาวไทยมากกว่าครึ่ง (58%) เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น  และยังเต็มใจที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นถึง 11.7%  ของราคาสินค้าโดยเฉลี่ย ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกและเอเชียแปซิฟิกที่ 9.7% และเกือบ 11% ตามลำดับ


โดยรายงานของ PwC พบว่า การลดของเสียและการรีไซเคิลจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคมากที่สุด (45%) รองลงมา คือ บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (37% เทียบกับเอเชียแปซิฟิกที่ 41%) และผลกระทบเชิงบวกต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและน้ำ (35% เทียบกับเอเชียแปซิฟิกที่ 35%) และการใช้พลังงานหมุนเวียน (32% เทียบกับเอเชียแปซิฟิกที่ 31%)


นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวไทยส่วนใหญ่  (79%) ยังแสดงความสนใจอย่างมากในการเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้า (electric vehicle) หรือรถยนต์ไฮบริด (hybrid vehicle) เพื่อการเดินทางที่ยั่งยืน  เทียบกับเอเชียแปซิฟิกที่ 77%


จากผลสำรวจฯ ดังกล่าวจะเห็นว่า ในปัจจุบันผู้บริโภคชาวไทยตระหนักดีถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในวงกว้างมากขึ้น และยอมที่จะจ่ายแพงกว่าเดิมสำหรับสินค้ารักษ์ ดังนั้นภาคธุรกิจต้องยอมรับแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนอย่างแท้จริง ปัจจุบันผู้บริโภคชาวไทยตระหนักรู้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น และคาดหวังว่าธุรกิจต่าง ๆ จะแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ธุรกิจต้องมั่นใจว่าได้สื่อสารแนวปฏิบัติเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพไปยังผู้บริโภคและบูรณาการตลอดการดำเนินธุรกิจ


ภาพ: ENVATO


ข่าวแนะนำ