TNN ปารีสเตรียมรื้อโครงสร้างโอลิมปิก นำไปใช้งานต่อให้ได้มากที่สุด

TNN

Earth

ปารีสเตรียมรื้อโครงสร้างโอลิมปิก นำไปใช้งานต่อให้ได้มากที่สุด

ปารีสเตรียมรื้อโครงสร้างโอลิมปิก นำไปใช้งานต่อให้ได้มากที่สุด

การแข่งขันโอลิมปิกมักใช้งบประมาณสูงมาก เพื่อสร้างสนามกีฬา หมู่บ้านนักกีฬา และโครงสร้างต่าง ๆ พอจบงานก็ปล่อยทิ้งไว้ แต่ที่ปารีส 2024 กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะฝรั่งเศสเตรียมให้ชีวิตที่ 2 แก่ทรัพยากรทั้งหมด

'จอร์จีนา เกรนอน' ผู้อำนวยการด้านความยั่งยืนของการแข่งขัน ปารีส 2024 บอกกับ AFP ในการสัมภาษณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า “ก่อนที่เราจะสั่งอะไร เราก็คิดก่อนว่าสิ่งนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป” ทางการฝรั่งเศสบอกตั้งแต่แรกแล้วว่าจะทำสิ่งที่แตกต่างออกไป โดยใช้สถานที่ชั่วคราวเพื่อลดงานก่อสร้าง แต่ก็บังคับให้ซัพพลายเออร์คิดถึง 'ชีวิตที่สอง' ให้กับอุปกรณ์ที่พวกเขาจัดหาให้ ไม่ว่าจะเป็นลูกเทนนิสหรือทรายละเอียดสำหรับเล่นวอลเลย์บอลชายหาด


“เกรนอน” ยังจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนมาเป็นที่ปรึกษาสำหรับการจัดงานโอลิมปิกครั้งนี้โดยเฉพาะ ซึ่งขั้นตอนแรกต้องวางแผนก่อนว่าต้องใช้สิ่งจำเป็นใด ๆ บ้าง โดยคิดเหมือนกับการจัดงานแต่งงาน ถ้าเชิญแขก 100 คน ต้องมีโต๊ะ 10 ตัว และเก้าอี้ 100 ตัว แต่สำหรับโอลิมปิกมันใหญ่กว่านั้นมาก ทางทีมงานต้องลิสต์รายการที่ต้องใช้ และพบว่าต้องมีสิ่งของ 6 ล้านชิ้น และวัตถุอีก 6 ล้านชิ้นด้วย


นอกจากนี้ สิ่งอำนวยความสะดวกจำนวนมากที่ใช้ในโอลิมปิก จะถูกนำไปใช้ในพาราลิมปิกด้วย ถือเป็นการใช้ซ้ำ ก่อนจะนำไปสู่ชีวิตที่ 2 หรือการรีไซเคิลต่อไป


การคิดถึงความยั่งยืนของทีมงานนั้นละเอียดมาก ๆ คิดไปจนถึงว่าทรายละเอียดที่ใช้ในสนามวอลเลย์บอลชายหาด หน้าหอไอเฟล เมื่อถูกใช้จนจบแล้ว มันจะถูกนำไปที่ใดต่อ ซึ่งได้รับการยืนยันแล้วว่าจะมอบให้กับสโมสรแห่งหนึ่งในเขตปารีส


ส่วนสัญลักษณ์โอลิมปิกบนโพเดียมต่าง ๆ จะถูกขัดออก เพื่อนำโพเดียมไปใช้ที่อื่นต่อไป


ขณะที่อุปกรณ์สำนักงานจำนวน 600,000 ชิ้นที่เช่ามาจากบริษัท Lyreco ของฝรั่งเศสจะถูกนำกลับไปให้บริษัทนำไปใช้เปิดธุรกิจเฟอร์นิเจอร์มือสองแห่งใหม่ ที่นอนกว่า 14,000 หลังที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลที่ใช้ในหมู่บ้านโอลิมปิกจะมอบให้กองทัพฝรั่งเศส ในขณะที่ฐานกระดาษแข็งของที่นอนเหล่านี้จะได้รับการรีไซเคิล


ลูกเทนนิสที่ใช้ในรายการ Roland-Garros รวมถึงลูกที่ ‘โนวัค ยอโควิช’ แชมป์เหรียญทอง จะถูกบริจาคให้กับสโมสรกีฬาของฝรั่งเศส เช่นเดียวกับอุปกรณ์กีฬาอื่นๆ อีกมากมาย


เกรนอนกล่าวว่าคณะกรรมการจัดงานได้ยืนยันแผนการทำ Second Life สำหรับสิ่งของ 90 % จากทั้งหมด 6 ล้านชิ้นแล้ว และข้อตกลงขั้นสุดท้ายสำหรับสิ่งของที่เหลือกำลังดำเนินการอยู่ 


แต่ถึงแม้จะเน้นในเรื่องความยั่งยืน แต่การแข่งขันก็เผชิญกับคำวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการฟอกเขียวจากผู้สนับสนุนองค์กรใหญ่ ๆ เช่น บริษัทผลิตเหล็กกล้าอาร์เซเลอร์ หรือผู้ผลิตยานยนต์โตโยต้า


นอกจากนี้ การแข่งขันโอลิมปิกยังใช้ขวดพลาสติกหลายล้านขวด ซึ่งสนับสนุนโดยโคคา-โคล่า แม้ว่าทางผู้จัดงานจะให้คำมั่นว่าจะลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งลง 50% เมื่อเทียบกับโอลิมปิก ลอนดอน 2012 รวมถึงการผลิตสินค้าที่ระลึกจำนวนมหาศาล และของแจกเพื่อการตลาด ที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เนื่องจากมีคนจำนวนมากมักไม่สนใจ และมักทิ้งลงถังขยะ 


ด้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหลายกลุ่มเชื่อว่า การจัดการแข่งขันโอลิมปิกไม่มีความยั่งยืนอย่างแท้จริง เนื่องจากมีการก่อสร้างจำนวนมาก และมีเที่ยวบินหลายล้านเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศ


แต่สุดท้ายแล้วผู้อำนวยการด้านความยั่งยืนของการแข่งขันโอลิมปิกเชื่อว่า ปารีส 2024 ถูกวางแผนมาอย่างดีแล้ว


ที่มา: Reuters



ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง