ญี่ปุ่นวอน ปชช. อย่าตุนสินค้าหวั่นแผ่นดินไหวใหญ่
ความกังวลเกี่ยวกับคำเตือน "แผ่นดินไหวครั้งใหญ่" ทำให้ชาวญี่ปุ่นแห่กักตุนสินค้า จนทางการต้องออกมาเรียกร้องประชาชนหลีกเลี่ยงการกักตุนสินค้าจำนวนมาก
ความกังวลเกี่ยวกับคำเตือน "แผ่นดินไหวครั้งใหญ่" ทำให้ชาวญี่ปุ่นแห่กักตุนสินค้า จนทางการต้องออกมาเรียกร้องประชาชนหลีกเลี่ยงการกักตุนสินค้าจำนวนมาก
ทางการญี่ปุ่นเรียกร้องประชาชนหลีกเลี่ยงการกักตุนสิ่งของจำเป็นต่าง ๆ หลังผู้คนส่วนใหญ่ เกิดความกังวลถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิด “แผ่นดินไหวครั้งใหญ่” (megaquake) จนทำให้ความต้องการอุปกรณ์บรรเทาภัยพิบัติและสิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวันเพิ่มสูงขึ้น
ก่อนหน้านี้ สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ได้ออกคำเตือนดังกล่าวเป็นครั้งแรก โดยระบุว่า มีแนวโน้มว่าจะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ หลังเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.1 แมกนิจูด ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีผู้บาดเจ็บเกือบ 20 ราย รวมทั้งเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.3 ซ้ำอีก
บรรยากาศในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียว ถึงกับต้องติดป้ายขอโทษลูกค้า เนื่องจากสินค้าบางรายการขาดแคลน โดยเฉพาะน้ำดื่ม โดยเชื่อว่า มีสาเหตุมาจากการรายงานของสื่อเกี่ยวกับการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่
ขณะที่ เว็บไซต์ของ “ราคูเตน” อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของญี่ปุ่น ระบุว่า โถส้วมขนาดพกพา, เสบียงอาหาร และน้ำขวด ติดอันดับต้น ๆ ของรายการสินค้าที่ขายดีที่สุด
ส่วนผู้ค้าปลีกบางรายตามแนวชายฝั่งแปซิฟิก ระบุว่า ความต้องการสิ่งของช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน
คำแนะนำเกี่ยวเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ของญี่ปุ่น ในครั้งนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับ “เขตมุดตัวของเปลือกโลก” ของร่องน้ำลึกนันไก (Nankai Trough) ระหว่างแผ่นเปลือกโลก 2 แผ่นในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเคยเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงมาแล้วในอดีต
โดยสถานที่แห่งนี้ เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงระดับ 8 หรือ 9 แมกนิจูดในทุก ๆ 100 หรือ 200 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้ รัฐบาลกลางญี่ปุ่น เคยประเมินว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า อาจเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขึ้น โดยมีความเป็นไปได้ถึงร้อยละ 70
อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้เชี่ยวชาญย้ำว่า ถึงแม้ว่าจะมีความเสี่ยงสูง แต่ก็ยังอยู่ในระดับต่ำ ด้านกระทรวงเกษตรและประมง เรียกร้องประชาชน หลีกเลี่ยงการกักตุนสินค้ามากเกินไป
ทั้งนี้ ญี่ปุ่น มีประชากร 125 ล้านคน ตั้งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกหลัก 4 แผ่น เผชิญกับแผ่นดินไหวประมาณ 1,500 ครั้งทุกปี แต่ส่วนใหญ่เป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็ก
ข่าวแนะนำ