ไทยเพิ่ม "เสือโคร่ง" สำเร็จ ถูกยกเป็นแชมป์ในอาเซียน
ประเทศไทยเพิ่มประชากร “เสือโคร่ง” สำเร็จ โดยทั่วประเทศมีอยู่ 179-223 ตัว กระจายในพื้นที่อนุรักษ์ 19 แห่ง 5 กลุ่มป่า
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า จัดงานวันเสือโคร่งโลก ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิดหลัก “Go Goal Tigers : ก้าวต่อไป...Tigers”
ซึ่ง นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า ประเทศไทยได้รับการยกย่องให้เป็น Champion ด้านการอนุรักษ์เสือโคร่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการเพิ่มประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติ และเพิ่มศักยภาพถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือได้เป็นอย่างดี และยังสามารถนำมาเป็นโมเดลตัวอย่าง สำหรับการดำเนินงานของประเทศถิ่นอาศัยเสือโคร่งประเทศอื่นๆได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตามในช่วงปี 2566-2567 จากการประเมินข้อมูลภาพถ่ายจากกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ และเทคนิคการประเมินประชากรที่ได้ดำเนินการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพกว่า 1,200 จุด มีรายงานการสำรวจพบถ่ายภาพเสือโคร่งได้ในพื้นที่อนุรักษ์ 19 แห่ง 5 กลุ่มป่า ประกอบด้วย กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าแก่งกระจาน-กุยบุรี กลุ่มป่าฮาลาบาลา-บางลาง และกลุ่มป่าชุมพร โดยเมื่อนำข้อมูลการถ่ายภาพประกอบกับการประเมินความหนาแน่นประชากรของเสือโคร่ง พบว่า ปี 2567 ประเทศไทยมีประชากรเสือโคร่งตัวเต็มวัยอยู่ประมาณ 179-223 ตัว ซึ่งการเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งจะเห็นได้ชัดในกลุ่มป่าตะวันตก ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ มีการเดินทางออกไปกระจายพันธุ์ในพื้นที่อนุรักษ์อื่นโดยรอบ
และประเทศไทยได้บรรลุเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนเสือโคร่งจาก 41 ตัว ในปี พ.ศ.2557 เป็น 100 ตัว ในปี พ.ศ.2565 ในพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของระบบการบริหารจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในรูปแบบภูมิทัศน์เชิงนิเวศ และการทำงานเพื่อเอาชนะความท้าทายในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบการจัดการตามหลักวิทยาศาสตร์
สำหรับการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์เสือโคร่งในปี 2567 อยู่ในช่วงของแผนยุทธศาสตร์ภายใต้แผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2565-2577) โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มประชากรเสือโคร่งในพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก, กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่, กลุ่มป่าแก่งกระจาน, กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาวและกลุ่มป่าคลองแสง-เขาสก ภายใต้การบูรณาการการทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อนำประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำในการอนุรักษ์เสือโคร่งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในปี พ.ศ.2577
ที่มา: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช