TNN เปิดภาพ “ดวงจันทร์บังดาวเสาร์” ใครพลาดรอชมอีกที 15 ต.ค.นี้

TNN

Earth

เปิดภาพ “ดวงจันทร์บังดาวเสาร์” ใครพลาดรอชมอีกที 15 ต.ค.นี้

เปิดภาพ “ดวงจันทร์บังดาวเสาร์”  ใครพลาดรอชมอีกที 15 ต.ค.นี้

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเผยภาพ “ดวงจันทร์บังดาวเสาร์” ครั้งแรกของปี เมื่อช่วงเช้าในวันที่ 25 ก.ค. โดยบันทึกได้ที่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

NARIT เผยภาพ “ดวงจันทร์บังดาวเสาร์” ครั้งแรกของปี บันทึกผ่านกล้องโทรทรรศน์ ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ เมื่อช่วงเช้ามืด 25 กรกฎาคม 2567 ในช่วงเริ่มต้นปรากฏการณ์ ขณะดาวเสาร์เริ่มสัมผัสขอบดวงจันทร์ฝั่งเสี้ยวสว่าง ก่อนค่อย ๆ ลับหายไปด้านหลังของดวงจันทร์


ปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวเสาร์ ครั้งแรกของปี 2567 เกิดขึ้นในช่วงเช้ามืดวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 เวลาประมาณ 03:09 - 04:27 น. (ตามเวลากรุงเทพมหานคร หากสังเกตการณ์ในพื้นที่อื่น ช่วงเวลาของการบังจะเริ่มและสิ้นสุดไม่พร้อมกัน) ช่วงดังกล่าวตรงกับดวงจันทร์แรม 4 ค่ำ มีดาวเสาร์ปรากฏเป็นจุดดาวเล็ก ๆ ใกล้กับดวงจันทร์ 


ขณะเริ่มต้นปรากฏการณ์ ดวงจันทร์ฝั่งเสี้ยวสว่างค่อย ๆ เคลื่อนที่ไปบังดาวเสาร์ จนดาวเสาร์หายลับไป กินเวลานานประมาณ 1 ชั่วโมง 18 นาที จนกระทั่งโผล่พ้นออกมาทั้งดวงอีกครั้งในฝั่งพื้นผิวส่วนมืด ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ครั้งนี้สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าในหลายพื้นที่ของไทย สดร. จัดถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ผ่านทางเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติมีประชาชนติดตามชมกันเป็นจำนวนมาก 


“ดวงจันทร์บังดาวเสาร์” เป็นปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่หาชมยาก เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เกิดจากดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านหน้าดาวเสาร์ในช่วงเวลาหนึ่ง เป็นมุมมองจากโลกในแนวสายตา เมื่อมองจากโลกออกไปจึงเห็นว่าดวงจันทร์บังดาวเสาร์ 


สำหรับปีนี้เกิดขึ้น 2 ครั้ง ครั้งต่อไปตรงกับวันที่ 15 ตุลาคม 2567 ในช่วงเช้ามืด เวลาประมาณ 02:19 - 03:00 น. สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า ในพื้นที่ภาคเหนือ บางส่วนของภาคกลาง บางส่วนของภาคตะวันตก และบางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ข้อมูลดังกล่าวคำนวณจากพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ หากสังเกตการณ์ในพื้นที่อื่น ช่วงเวลาของการบังอาจจะเริ่มและสิ้นสุดไม่พร้อมกัน)


ที่มา/ภาพ: สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ



ข่าวแนะนำ