เมืองในเอเชียเสี่ยงจมน้ำในปี 2030 กทม.เสี่ยงสูงอันดับ 1
ภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง หลายเมืองในเอเชียมีความเสี่ยงที่จะจมน้ำรวมถึงกรุงเทพฯ
1จากข้อมูลของ กรีนพีซ พบว่ามี 7 เมืองในเอเชีย ที่อาจได้รับผลกระทบ จากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล หรือมีความเสี่ยงจมน้ำ ภายในปี 2030 สำหรับ 3 อันดับแรก เสี่ยงสุด คือ กรุงเทพมหานคร คือ ร้อยละ 96 อาจถูกน้ำท่วมจากอุทกภัยใน 10 ปี มีการคาดการณ์ถึงพื้นที่ ที่จะได้รับผลกระทบ 1,512.94 ตารางกิโลเมตร ซึ่งอาจมีประชากรที่จะได้รับผลกระทบ 10.45 ล้านคน รองลงมาเป็นกรุงจาการ์ตา จะได้รับผลกระทบ 109.38 ตารางกิโลเมตร ประชาชนอาจได้รับผลกระทบ 1.80 ล้านคน ถัดมา เป็น กรุงโตเกียว ที่อาจะได้รับผลกระทบ 79.28 ตารางกิโลเมตร กระทบประชากร 0.83 ล้านคน ถัดมาเป็น ไทเป มะนิลา ฮ่องกง และโซล ตามลำดับ สำหรับประเทศไทย พบว่า ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นประมาณ 5.8 มิลลิเมตรต่อปี ซึ่งนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ชายฝั่งถูกกัดเซาะเร็วขึ้น โดยเฉพาะบริเวณอ่าว ก ไก่ หรือ อ่าวไทยตอนบน ที่มีความเปราะบางเรื่องการกัดเซาะค่อนข้างมากเพราะเป็นหาดโคลน โดยจุดที่มีการกัดเซาะมากที่สุด คือ ตำบล แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ระยะทางกัดเซาะประมาณ 1,200 เมตร หรือมากกว่า 1 กิโลเมตร และยังมีแนวโน้มการกัดเซาะต่อเนื่องถัดมาจุดที่ 2 เป็นบริเวณเขตท่าข้าม แขวงบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ระยะทางกัดเซาะประมาณ 900 เมตร สำหรับจุดที่ 3 อยู่ที่ต.บางกระเจ้า อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร ระยะทางกัดเซาะประมาณ 800 เมตร ปัญหาระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น และชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะก็เป็นความเสี่ยงที่สำคัญอีกอย่างที่ต้องรับมือในอนาคต เพราะ เมื่อเวลานั้นมาถึงย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ชุมชนและสังคมตามมา กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนหลายล้านคนอย่างแน่นอน